เชื้อปนเปื้อน คลอสทริเดียม โบทูลินัม (ตอนที่ 4)

บริษัทฟอนเทียราครองตลาดนมส่งออกถึง 1 ใน 3 ของโลกถูกระบุว่า เป็นต้นตอของการปนเปื้อนแบคทีเรีย คลอสติเดียม โบทูลินัม โดยเกิดจากความสกปรกของท่อที่โรงงานผลิตบนเกาะเหนือ

พล.อ.สกอตต์ แกลลาเชอร์ รักษาการผู้อำนวยการ กระทรวงอุตสาหกรรมหลักนิวซีแลนด์ เปิดเผยว่า จากการตรวจวิเคราะห์เวย์โปรตีนของฟอนเทียราพบว่า มีผลเป็นเนกาทีฟสำหรับเชื้อ คลอสติเดียม โบทูลินัม แต่พบเชื้อแบคทีเรีย คลอสติเดียม สปอโรจีเนส ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ โดยเชื้อนี้หากมีในปริมาณมากไปอาจจะทำให้ผลิตภัณฑ์เน่าเสียได้

ทั้งนี้ จากกระแสหวาดกลัวอาหารเป็นพิษทำให้หลายประเทศต้องสั่งเรียกคืนผลิตภัณฑ์ ฟอนเทียราที่มีส่วนผสมของเวย์โปรตีน ตั้งแต่จีน ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง รวมไปถึงประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่รัฐบาลศรีลังกาและรัสเซียถึงกับมีคำสั่งแบนผลิตภัณฑ์นมของฟอนเทียรา เลยทีเดียว

สำหรับอาการของโบทูลิซึมที่เกิดในสัตว์ ได้แก่ อาการน้ำลายไหลยืด กระสับกระส่าย ถ่ายปัสสาวะไม่ออก กลืนลำบาก (Dysphagia) และนั่งอยู่ในท่าพัก (Sternal recumbency) อาจสังเกตได้ถึงการหายใจที่ช่องท้องและหางตกไปข้างๆ เมื่อเป็นมากขึ้นอาจมีอาการอัมพาตที่ขาและเสียชีวิต

แม้ว่าพิษโบทูลิซึมจะถูกทำลายด้วยการหุงต้มในเวลาไม่นาน แต่ระดับความร้อนของการเดือดปกติไม่สามารถฆ่าสปอร์ของโบทูลิซึมได้ สปอร์ยังคงมีชีวิตอยู่และสามารถสร้างพิษขึ้นใหม่ได้อีกในสภาพที่เอื้ออำนวย

ดังนั้นทางที่จะป้องกันโบทูลิซึมในเด็กได้ก็คือ การหลีกเลี่ยงการให้น้ำผึ้งกับเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 เดือน สำหรับในเด็กโตหรือผู้ใหญ่แบคทีเรียในลำไส้สามารถหยุดการเจริญเติบโตของโบทูลิซึมได้

แม้ว่าการป้องกันโบทูลิซึมในอาหารกระป๋องจะทำโดยการผ่านความร้อนที่ 121 °C นานเป็นเวลา 3 นาทีก็ตาม แต่ก็มีบางครั้งที่โบทูลิซึมยังคงอยู่ เช่น กรณีที่มีการระบาดของปลาแซลมอนอลาสก้าในปี 2521

ประมาณร้อยละ 15 ของโบทูลิซึมในสหรัฐอเมริกาเกิดจากอาหาร ซึ่งมักจะพบในอาหารกระป๋อง (Home-canned foods) ที่มีส่วนประกอบของกรดน้อย เช่น น้ำแครอท หน่อไม้ฝรั่ง (Asparagus) ถั่วสีเขียว บีทรูท (Beetroot) และข้าวโพด อย่างอื่นๆ ที่ไม่ค่อยพบก็มีกระเทียมหรือสมุนไพรที่แช่ในน้ำมันโดยไม่ได้ทำให้เป็นกรด (Acidification) มันฝรั่งที่ห่อด้วยอะลูมิเนียมฟอยล์ (Aluminum foil) มะเขือเทศ หรือปลาหมัก (Fermented fish)

ดังนั้นหากมีการถนอมอาหารเองที่บ้านควรใส่ใจเรื่องความสะอาด แรงกดดัน อุณหภูมิด้วย การทำน้ำผลไม้ใส่ขวดเก็บไว้กินอาจทำเฉพาะผลไม้ที่เป็นกรด เช่น แอปเปิ้ล ลูกแพร์ และเบอร์รี่ ส่วนผลไม้เมืองร้อน (Tropical fruit) และมะเขือเทศควรเติมกรด (Acidity) ลงไปเล็กน้อยก่อนบรรจุในขวด

กระเทียมหรือสมุนไพรที่ใส่ในน้ำมันก็ควรทำให้เป็นกรดและแช่ในตู้เย็น มันฝรั่งที่อบด้วยกระดาษฟอยล์ควรเก็บให้ร้อนจนกว่าจะถึงเวลากินหรือนำเข้าตู้เย็น เพราะพิษโบทูลิซึมจะถูกทำลายที่อุณหภูมิสูง ดังนั้นควรอุ่นอาหารกระป๋อง (Home-canned foods) 10 นาทีก่อนกิน ส่วนอาหารกระป๋องที่มีสภาพโป่งนูนออกเพราะการเกิดแก๊สจากแบคทีเรียที่เจริญเติบโตภายในกระป๋องควรทิ้งไปเลย

แหล่งข้อมูล:

  1. Botulism - http://en.wikipedia.org/wiki/Botulism. http://en.wikipedia.org/wiki/Learning_disability [2013, September 15].
  2. รบ.กีวีเผยผลตรวจเวย์โปรตีนของ “ฟอนเทียรา” ไม่พบเชื้อที่ก่ออาหารเป็นพิษ http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9560000107729&Keyword=%ca%d8%a2%c0%d2%be [2013, September 15].