เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) ตอน: ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการให้อาหารทางสายให้อาหาร

เข้าครัวกับโภชนากร

การให้อาหารทางสายให้อาหารอาจทำให้เกิด โรคแทรกซ้อนขึ้นมาได้ ซึ่งโรคแทรกซ้อนที่พบ แบ่งเป็น 3 ชนิดคือ

1.Mechanical complications

เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากชนิดและตำแหน่งของสายให้อาหาร เช่น สายให้อาหารทางจมูก กรณีถ้าให้นานเกิน 6 อาทิตย์จะเกิดโรคแทรกซ้อนได้บ่อยดังนี้

  • เกิดการระคายเคืองบริเวณคอ จมูก ทำให้มีการอักเสบของโพรงอากาศรอบๆจมูกและหู ถ้าสายยางมีขนาดใหญ่และทำด้วยพลาสติกหรือยาง รักษาด้วยการอมน้ำแข็งก้อนเล็กๆ หรือพ่นยาเฉพาะที หรือใช้ยาช่วยลดการอักเสบ
  • สายอาหารอุดตันจากอาหารหรือยาที่เหลือตกค้าง โดยเฉพาะสายให้อาหารที่มีรูขนาดเล็ก การป้องกันที่สามารถทำได้ง่าย คือล้างสายทุกครั้งก่อนให้อาหารหรือยา ด้วยน้ำเปล่าประมาณ 20 มิลลิลิตร ถ้าไม่ดีขึ้นต้องเปลี่ยนสายใหม่
  • เกิดอักเสบบริเวณหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะถ้าสายให้อาหารมีขนาดใหญ่แข็ง ควรเปลี่ยนสายให้อาหารเป็นขนาดเล็กลงที่ทำด้วยซิลิโคน
  • ปลายสายอยู่ผิดตำแหน่ง เช่น ปลายสายควรอยู่ในลำไส้เล็กแต่เข้ามาอยู่ในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการสำลักได้ ควรให้อาหารผู้ป่วยในท่าที่นั่ง หรือนอนศีรษะยกสูงประมาณ 30 องศาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนนี้

2. Gastrointestinal complications

โรคแทรกซ้อนจากระบบทางเดินอาหารพบได้บ่อยที่สุด เช่น ท้องเสีย ท้องอืดและสำลักอาหาร เป็นต้น

ก.ท้องเสีย(diarrhea) พบบ่อยในการให้อาหารทางสาย หลายครั้งคิดว่าสาเหตุมาจากออสโมลาลิตี แต่พบว่าเกิดจากสาเหตุนี้มีน้อย ปัจจุบันเชื่อว่าสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเปลี่ยนแปลงชนิดของแบคทีเรียในลำไส้ลดจำนวนลง เนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะในคนไข้ที่ไม่ได้อาหารทางปากนานๆ

ดังนั้นหากให้อาหารทางสายเร็วเกินไปทำให้ท้องเสียได้ ซึ่งมีข้อปฏิบัติดังนี้

  • หยุดอาหารชั่วคราว หากท้องเสียเกี่ยวกับสูตรอาหารอาการท้องเสียจะหยุดภายใน 24 ชั่วโมง
  • ให้อาหารทางสายให้อาหารต่อหลังจากหยุดให้อาหาร 24-48 ชั่วโมงโดยเริ่มให้อาหารช้าๆ ประมาณ 20 มล./ชม. และเพิ่มปริมาณช้าๆเท่าที่ผู้ป่วยทนได้

ข. ภาวะท้องอืดและการสำลักอาหาร (gastric retention and aspiration): ท้องอืดและมีอาหารค้าง หมายถึง มีปริมาณอาหารที่ดูดออกมาได้มากกว่า 100 มล.หลังให้อาหารมื้อสุดท้ายนาน 2 ชั่วโมง สาเหตุท้องอืด(ileus) ที่พบบ่อยคือโปแตสเซียมในเลือดต่ำ ผลจากยาบางอย่าง การอุดตันของลำไส้ มีรายงานว่า ภาวะอัลบูมินต่ำ อาจเป็นสาเหตุให้ท้องอืดได้

3. Metabolic compilation

โรคแทรกซ้อนจากความผิดปกติของ เมตาบอลิซึมหรืออิเลคโทรลัยท์ พบได้เหมือนกับการให้อาหารทางหลอดเลือดดำ คือผู้ป่วยมีอาการขาดน้ำเนื่องจากสูตรอาหารที่เข้มข้นมาก เพราะสูตรอาหารที่เข้มข้นมากจะทำให้มีน้ำจากร่างกายเข้ามาในระบบทางเดินอาหารมากขึ้น พบบ่อยในผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ดื่มน้ำเองไม่ได้ อาการจะเกิดได้ใน 4 – 44 วันหลังให้อาหารทางสาย การรักษา คือการเพิ่มน้ำในสูตรอาหาร ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงได้ ถ้าสูตรอาหารมีคาร์โบไฮเดรตสูง

สรุป

อาหารทางสายให้อาหารมีหลายสูตร แต่ละสูตรใช้วัตถุดิบแตกต่างกันทำให้เกิดข้อดีและข้อเสียในการใช้ ดังนั้นควรพิจารณาข้อแตกต่างรวมทั้งข้อดีและข้อเสียของอาหารแต่ละสูตรด้วย

บรรณานุกรม

  1. รุจิรา สัมมะสุต.หลักการปฏิบัติด้านโภชนบำบัด ; บริษัทพรการพิมพ์จำกัด ,2541