เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล)ตอน: Healthy meeting ประชุมได้ผล...คนได้สุขภาพ

เข้าครัวกับโภชนากร

ประชุมเครียด กินเกิน ระวัง! โรคร้ายจะถามหาเอานะค่ะ เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคร้ายหลายโรคที่คุกคามคนไทยในปัจจุบันทั้ง โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งสุขภาพช่องปาก สาเหตุหลักๆส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการ “ กินบ่อยและกินเกิน ” เพื่อสร้างสุขภาพที่ดี หลายคนใช้ความพยายามอย่างมากมาย แต่กลับมองข้ามสาเหตุที่อยู่ใกล้ตัวที่สุดนั้นคือ การรับประทานอาหารว่าง ระหว่างประชุม หรือฝึกอบรม ที่มักอุดมไปด้วยขนมหวาน เบเกอรี่ ที่มีส่วนผสมของแป้ง น้ำตาล ไขมัน โดยเฉพาะท่านที่ต้องประชุมบ่อยๆ ครั้งละหลายๆวัน (อันนี้ยังไม่นับอาหารหลัก 3หรือ4 มื้อน่ะค่ะ) คงพอจินตนาการไปได้ว่าในแต่ละวันคุณกินเกินไปเท่าไรแล้ว! และท่านกำลังทำร้ายสุขภาพตัวเองเพียงใด

แล้วจะให้ทำอย่างไร? ไปประชุมกี่ครั้ง เขาก็จัดแบบนี้ให้กิน จะว่าไปแล้ว ตามหลักโภชนาการคนเราต้องการอาหารที่ให้พลังงานในการดำรงชีวิต เพียง 3-4 ครั้งต่อวันเท่านั้น แต่ละครั้งไม่เกิน 500 แคลอรีฉะนั้น ถ้าให้บอกตามตรง วัฒนธรรมการเลี้ยงอาหารว่าง เป็นสิ่งที่เกินความจำเป็น เพียงเพราะในระหว่างการประชุม ต้องนั่งอยู่กับที่นานๆ มีเรื่องต้องคิดพิจารณาสารพัด จนเกิดความเครียด ง่วง ขาดสมาธิ เช่นนี้แล้ว ท่านคงไม่สามารถจดจำในสิ่งที่วิทยากรบรรยายได้ ได้หยุดพักสักนิด....จะทำให้ผ่อนคลาย

อาหารว่างที่ควรเลือกรับประทานเพื่อสุขภาพ น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานสร้างเป็นวัฒนธรรม ให้เกิดขึ้น

อาหารว่างเพื่อสุขภาพ คืออะไร? อาหารว่างเป็นอาหารระหว่างมื้ออาหาร เป็นอาหารเบาๆ มีปริมาณ ,พลังงานอาหารน้อยกว่าอาหารมื้อหลัก เป็นอาหารที่มีขนาดชิ้นเล็กๆ พอคำหยิบรับประทานง่ายๆ และรับประทานกับเครื่องดื่ม หลักง่ายๆในการเลือกหรือจัดอาหารว่างมีดังนี้

  • ควรคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการ เมื่อจะรับประทานก็ควรจะต้องมีประโยชน์แก่ร่างกายเช่นเดียวกับอาหารมื้อหลัก
  • มีพลังงานน้อย ไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่ควรรับประทานต่อวัน (ประมาณ 100 – 150 แคลอรี)
  • อาหารว่างควรมีปริมาณน้ำตาล , ไขมันและเกลือน้อยที่สุด
  • อาหารว่างที่ดีที่สุดควรเป็น ผลไม้สด หลีกเลี่ยงผลไม้กระป๋องนอกจากราคาแพง แล้วยังไม่มีสารอาหารใดๆเหลืออยู่นอกจากน้ำตาลในน้ำเชื่อม
  • หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกเบเกอรี่ เช่น เค้ก พาย พัฟ นอกจากมีไขมันสูงแล้ว มาการีนที่นำมาใช้เป็นไขมันทรานส์ เป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นอันดับหนึ่ง
  • ขนมหวานของไทย เป็นตัวเลือกที่เหมาะในการใช้เป็นอาหารว่าง มากกว่าเนื่องจากมักนำธัญพืชต่างๆ มาเป็นส่วนผสม เช่น ข้าวโพดคลุก ถั่วแปบ ขนมตาล ตะโก้ ลืมกลืน ฯลฯ
  • การจัดอาหารว่างถ้าอาหารว่างบางชนิดให้พลังงานสูง อาจเสริฟกับเครื่องดื่มสมุนไพรที่ไม่เติมน้ำตาล หรือถ้าเครื่องดื่มมีน้ำตาล เสริฟคู่กับขนมที่ไม่หวานจัดแทนหรือลดขนาดขนมลง

ผู้รับประทานต้องท่องไว้เสมอว่า “อาหารว่างน่ะ....ไม่ใช้อาหารหลักไม่ต้องกินจนอิ่ม”