เข้าครัวกับโภชนากร (โรงพยาบาล) :ตอน เมื่อน้องกระเจี้ยบ...ไม่กระจอก

มีรายงานวิจัยล่าสุดจากการสำรวจสภาวะสุขภาพ อนามัยของประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 3 ของสํานักงาน การสํารวจสภาวะสุขภาพอนามัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่า คนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้น ถ้าย้อนไปปี พ.ศ.2532 การสำรวจประชากรไทยทั้งหมดพบว่า คนไทยไม่ค่อยเป็นโรคความดันโลหิตสูงเท่าไรนัก นับได้แค่ 5% เท่านั้น แต่มาปี พ.ศ.2546 – 2547 คนไทยเป็นโรคความดันสูงถึง 22.1% หมายถึงคนไทย 100 คนมีผู้ที่ความดันโลหิตสูง 22 คน

เกี่ยวอะไรกับกระเจี๊ยบแดง ทางเข้าบ้านของผู้เขียนมีสวนต้นกระเจี๊ยบแดงปลูกเป็นทิวแถว เดินผ่านไปมาทุกวันมองเห็นความสวยงาม แต่ไม่ชอบรับประทานเพราะมีรสชาติเปรี้ยวเลยลองไปหาข้อมูลประโยชน์ดูว่าน่าจะทำอะไรได้อีกบ้างนอกจากเอามาต้มทำน้ำกระเจี๊ยบ

พบว่ามีงานวิจัยสมุนไพรกับการลดความดันโลหิตสูง ซึ่งทางมูลนิธิสุขภาพไทยนำเสนอผลงานวิจัยที่มีการรองรับอย่างน่าสนใจ คือ ต้นกระเจี๊ยบแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hibiscus sabdariffa L. ทดลองในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงจำนวน 31 คน ซึ่งมีค่าความดันที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าค่าบนสูง 160-180 มม.ปรอท และมีค่าความดันค่าล่างสูงระหว่าง 100-114 มม.ปรอท แล้วแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกกินชาชงกระเจี๊ยบแดง 2 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 1 แก้ว (250 ซีซี) ผ่านการต้มนาน 30 นาที อาสาสมัครอีกกลุ่มหนึ่งกินแต่น้ำธรรมดา แล้ววัดความดันในวันที่ 4 ,8, 12, 15 ของการทดลอง ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ดื่มชาชงกระเจี๊ยบแดง มีระดับความดันโลหิตลดลง ดังนี้ ค่าตัวบนลงลด 11.2 % ค่าตัวล่างลดลง 10.7 % ในวันที่ 12 ของการกินชาชงกระเจี๊ยบ

กระเจี๊ยบแดงนั้นหาง่ายมากในบ้านเรา จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่มีความดันโลหิตสูง นอกจากมาต้มชงดื่มแล้วนำมาหุงข้าวคงจะดีไม่น้อยเลยค่ะ อย่างไรก็ตาม ถ้ากินยาลดความดันโลหิตอยู่ ต้องแจ้งแพทย์ว่า ดื่มน้ำกระเจี๊ยบแดง เพราะ อาจมีการเสริมปฏิกิริยากันได้