หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เท่าเทียมและเป็นธรรม

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Care) เป็นหลักการที่มีการรณรงค์ให้ใช้กันทั่วโลก โดยที่ในประเทศไทย เริ่มหลักการนี้เมื่อปี พ.ศ. 2544 ด้วย “โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค” เพื่อพัฒนา จัดการ และสนับสนุนระบบการเงินในการดูแลสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานความเท่าเทียมและเสมอภาค

ประเทศไทยได้กลายเป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่ประเทศที่ปฏิรูปการดูแลสุขภาพในระดับ “รากหญ้า” (Grass route) ด้วย “โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า” (Comprehensive insurance scheme) ซึ่งสอดคล้องกับการร่วมจ่าย (Co-payment) ในการรักษาพยาบาล ต่อมาโครงการนี้ได้รับทดแทนด้วยโครงการ “บัตรทอง” (Gold card)

โครงการใหม่นี้ทำให้ผู้ถือบัตรสามารถเข้าถึงบริการในสถานีอนามัยอำเภอ และส่งต่อ (Refer) ไปรักษาที่อื่นซึ่งมีแพทย์เฉพาะทาง แม้การปฏิรูปดังกล่าวจะได้รับเสียงวิพากษ์มาก [ว่า เป็นไปเพื่อสร้างฐานคะแนนเสียงทางการเมือง] แต่ก็เป็นที่นิยมมากในหมู่คนจน โดยเฉพาะผู้อาศัยอยู่ในชนบท จนกระทั่งรัฐบาลที่แล้ว [ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ] ได้ยกเลิกการจ่ายร่วมของสาธารณชน แล้วให้รักษาพยาบาลให้ฟรี ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบันเจ้าหน้าที่มีความเข้าใจในระบบการทำงานและเน้นการเข้าถึงผู้ป่วยเป็นสำคัญ เช่น ด้วยการเข้าตรวจเยี่ยมชุมชนต่างๆ เพื่อความเข้าใจสภาพความเป็นอยู่ของผู้ป่วย ผู้ดูแลผู้ป่วย ครอบครัวของผู้ป่วย และชุมชนที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ เพื่อจะได้รับการบริการทางการแพทย์ที่ถูกต้องและเหมาะสม

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิที่สร้างความมั่นคงปลอดภัยที่สำคัญ ซึ่งทำให้ประชากรส่วนใหญ่จากทั้งหมดกว่า 63 ล้านคน ที่มีรายได้เฉลี่ยไม่ถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาทต่อปี มีความอุ่นใจ ความหวัง และมั่นใจที่จะดำรงชีวิตโดยไม่ต้องคอยวิตกกังวลว่าหากเจ็บป่วยขึ้นมา จะหาเงินทองที่ไหนมาใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาล

โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในประเทศญี่ปุ่นนั้น ผู้ป่วยจ่ายเพียง 30% ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 70% เป็นความรับผิดชอบของรัฐและบริษัทประกันสุขภาพ โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป จะได้รับอนุญาตให้ร่วมจ่ายน้อยลง

หลังจากเกิดอุทกภัยใหญ่จากพายุ “สึนามิ” ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งสร้างความหายนะให้ประเทศญี่ปุ่นทางกายภาพและผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยาวนานเป็นปี โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศญี่ปุ่นก็ได้สร้างบรรทัดฐานความเท่าเทียมเพิ่มขึ้น โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมการร่วมจ่ายให้แก่ผู้ที่ประสบอุทกภัย

ประเทศไทยก็ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชน ในขณะที่มีเหตุน้ำท่วมใหญ่ปลายปี พ.ศ. 2554 โดยได้อนุญาตให้ผู้ป่วยที่มีสวัสดิการทุกประเภท สามารถรักษานอกพื้นที่ที่ระบุสิทธิได้ รวมถึงมีมาตรการช่วยเหลือลดหย่อนการชำระการจ่ายร่วม ของระบบประกันสังคมเป็นขั้นบันได ในรอบ 1 ปีหลังเกิดภัยธรรมชาติเช่นกัน

ประเทศแรกที่เริ่มใช้หลักประกันถ้วนหน้าในประวัติศาสตร์ ก็คือ เยอรมนี เมื่อ 129 ปีมาแล้ว และเมื่อปี พ.ศ.2454 อังกฤษเป็นประเทศที่ได้พัฒนา จนเป็น “ต้นแบบ” ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเวลาต่อมา โดยการคุ้มครองลูกจ้างทุกคน รวมถึงผู้ที่อยู่ในความรับผิดชอบด้านการเงินของลูกจ้างดังกล่าว

นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงผู้ที่ส่งเงินร่วมประกันสุขภาพเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี ไม่ว่าจะยังคงทำงานอยู่หรือไม่ก็ตาม กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้จนกระทั่งปี ปี พ.ศ.2491 จึงได้มีการออกกฎหมาย National Health Service (NHS) ที่ครอบคลุมการคุ้มครองให้กับประชากรทุกๆ คนที่เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษอย่างถูกกฎหมาย

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ก้าวสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็คือ การที่หลายประเทศได้มีการลงสัตยาบันร่วมกันที่จะทำให้การดูแลสุขภาพของสาธารณชน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แต่สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศหนึ่งที่มิได้ลงนามในสัตยาบรรณนี้

แหล่งข้อมูล:

  1. หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า http://stream.nhso.go.th/ [2012, March 6].
  2. Universal Health Care. http://en.wikipedia.org/wiki/Universal_health_care [2012, March 6].