หลอดเลือดแดงโป่งพอง รุกฆาตโดยไม่รู้ตัว (ตอนที่ 4)

หลอดเลือดแดงโป่งพอง

การฉีกเซาะของผนังหลอดเลือดเอออร์ตา (Aortic dissection) มักเป็นภาวะแทรกซ้อนหลักของโรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองในช่องท้อง ที่อาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตกรณีที่มีการตกเลือดอยู่ข้างใน ยิ่งมีการโป่งพองเร็วเท่าไร ก็ยิ่งมีความเสี่ยงในการแตกมากขึ้นเท่านั้น

อาการโดยทั่วไปของโรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองในช่องท้องที่แตกอาจรวมถึง

  • ปวดช่องท้องหรือปวดหลังอย่างรุนแรงเฉียบพลันเหมือนถูกฉีกขาด
  • ปวดกระจายไปทางหลังหรือขา
  • เหงื่อออก (Sweatiness)
  • เย็นชื้น เหนียวเหนอะ (Clamminess)
  • เวียนศีรษะ (Dizziness)
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ชีพจรเต้นเร็ว (Fast pulse)
  • มีลิ่มเลือดอุดตัน (Blood clots)
  • หายใจลำบาก
  • หมดสติ

ประมาณร้อยละ 80 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองในช่องท้องที่แตก มักเสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล

ส่วนใหญ่การค้นพบว่ามีภาวะโรคหลอดเลือดแดงเอออร์ตาโป่งพองในช่องท้อง มักเป็นแบบบังเอิญระหว่างที่ทำการตรวจอย่างอื่น เช่น การตรวจประจำปี การเอ็กซเรย์ปอด หรือการอัลตราซาวด์หัวใจหรือช่องท้อง

แพทย์จะวินิจฉัยโรคด้วยการสอบถามถึงประวัติสุขภาพ ประวัติครอบครัว ทำการตรวจร่างกาย และหากสงสัยว่าเป็นโรคนี้ ก็จะให้ทำการตรวจเฉพาะด้วยการ

  • อัลตราซาวด์ช่องท้อง (Abdominal ultrasound) ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด
  • ซีทีสแกน (Computerized tomography scan = CT Scan) เพื่อดูขนาดและรูปร่างของหลอดเลือดที่โป่งพอง
  • เอ็มอาร์ไอ (Magnetic resonance imaging = MRI) เพื่อดูขนาดและตำแหน่งที่เป็น
  • วัตถุประสงค์ของการรักษาโรคนี้ เป็นไปเพื่อการป้องกันหลอดเลือดแตก ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดและความเร็วในการโป่งพองของหลอดเลือดแดงเอออร์ตา

แหล่งข้อมูล

1. Abdominal aortic aneurysm. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/abdominal-aortic-aneurysm/home/ovc-20197858 [2016, September 23].

2. Abdominal aortic aneurysm. http://www.nhs.uk/conditions/Repairofabdominalaneurysm/Pages/Introduction.aspx [2016, September 23].