สาระน่ารู้จากหมอตา ตอน 16: การตรวจตาผู้ใช้ยา chloroquine

ยาคลอโรควีน(chloroquine) เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นยาใช้รักษาโรคมาลาเรีย/ไข้จับสั่นที่ได้ผลดีมานาน และโรคมาลาเรียไม่ต้องใช้ยาเป็นเวลานาน จึงไม่พบผลข้างเคียงแทรกซ้อนของยาดังกล่าว ปัจจุบันยาตัวนี้นำมาใช้ควบคุมโรคในกลุ่มเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน(connective tissue disease ) หลายโรคและจำเป็นต้องใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน จึงพบผลข้างเคียงจากยาตัวนี้ได้ โดยเกิดผลเสียทางตาในบริเวณจอตา โดยเฉพาะบริเวณ macula ซึ่งจะทำให้สายตาลดลง แม้มีอุบัติการณ์ไม่มากนัก มีรายงานตั้งแต่ร้อยละ 10 – 25 ในกรณีใช้ chloroquine และน้อยลงในผู้ใช้ hydroxychloroquineร้อยละ 0.08 – 4.3 แม้จะพบน้อยแต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว สายตามักจะไม่กลับคืนจึงเป็นเรื่องที่น่าจะให้ความสนใจป้องกันไว้ก่อน โดยวิธีตรวจคัดกรองผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มนี้ ดังนี้

I. การตรวจครั้งแรกเมื่อเริ่มใช้ยา ถือเป็นการตรวจเพื่อเป็นบันทัดฐานเริ่มต้น (baseline examination) ซึ่งควรตรวจภายในหนึ่งปีหลังเริ่มใช้ยา โดย

  1. การสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย เพื่อประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง ดังกล่าว โดยพบว่าผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่
    • ระยะเวลาที่ต้องใช้ยาต่อเนื่อง
    • ขนาดของยา ทั้งขนาดยาต่อวันหรือปริมาณสะสม เช่น ขนาดของ chloroquineที่มากกว่า 250 มก.ต่อวัน หรือมากกว่า 3.0 มก. ต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหรือปริมาณสะสมที่มากกว่า 460 กรัม หรือขนาดของ hydroxychloroquineที่มากกว่า 400 มก. ต่อวันหรือ 6.5 มก. ต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหรือปริมาณสะสมมากกว่า 1000 กรัม เป็นต้น
    • มีโรคตับและไต เพราะยาทั้งสองถูกขับออกจากร่างกายทางตับและไต
    • อายุยิ่งมากยิ่งเพิ่มความเสี่ยง
    • มีโรคของจอตาอยู่แล้ว
  2. การตรวจตา ควรวัดระดับสายตา ตรวจลูกตาส่วนหน้า ดูความผิดปกติที่กระจกตา และตรวจจอตาในภาวะขยายม่านตาด้วย
  3. การตรวจลานสายตาด้วยเครื่องตรวจอัตโนมัติ (Automated Threshold visual field)
  4. หากมีเครื่องมือตรวจพิเศษมากขึ้นจะช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติของจอตาได้เร็วขึ้น เช่น ตรวจด้วยเครื่องoptical coherence tomography (OCT) ชนิด spectral domain หรือตรวจด้วยเครื่อง multifocal ERG ตลอดจน fundus autofluorescenceเป็นต้น

II. การตรวจตาประจำปี ควรตรวจตาปีละครั้งหลังจากใช้ยานี้ไปนาน 5 ปี หากผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงสูงตามประวัติข้างต้น อาจตรวจมากกว่าปีละครั้ง หรือถี่ขึ้นตามดุลพินิจของหมอตา/จักษุแพทย์