เรื่องเฉพาะสตรี...วัยทอง ตอนที่ 8 (ตอนจบของวัยทอง)

ข้อเสนอแนะจากสถาบันสุขภาพสตรีแห่งสหรัฐอเมริกาในการให้ฮอร์โมนทดแทน

  1. ไม่ควรให้ฮอร์โมนทดแทนเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน
  2. ห้ามให้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ
  3. ไม่แนะนำให้ใช้เพื่อป้องกันโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดหัวใจ

ข้อเสนอแนะจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยในการให้ฮอร์โมนทดแทน

ข้อเสนอแนะต่อไปนี้ ได้พิจารณากำหนดขึ้นมาจากหลักฐานทางคลินิกที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ

  1. ควรอธิบายข้อมูลโดยละเอียดให้ผู้ป่วยทราบ และให้ผู้ป่วยเลือกตัดสินใจเอง
  2. ไม่ให้ฮอร์โมนทดแทนเพื่อการป้องกันโรคหัวใจ
  3. การให้ฮอร์โมนทดแทนในระยะสั้นเพื่อรักษาอาการสืบเนื่องจากวัยทอง ยังคงใช้ได้เหมือนเดิม เนื่องจากมีประโยชน์มากกว่าโทษ
  4. การให้ฮอร์โมนทดแทนในระยะยาวเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน หรือกระดูกหักจากวัยทอง ควรทบทวนประโยชน์และความเสี่ยงให้ผู้ป่วยเข้าใจและตัดสินใจในการใช้
  5. ให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างเดียว ในรายที่ได้รับการตัดมดลูกไปแล้ว

เมื่อคำนึงถึงจริยธรรมในการวิจัย แนวทางในการปฏิบัติสำหรับการศึกษาวิจัยในขณะนี้ ควรหลีกเลี่ยงการศึกษาวิจัยที่ซ้ำซ้อนกับงานวิจัยของสถาบันสุขภาพสตรีแห่งสหรัฐอเมริกา อันเกี่ยวเนื่องกับยา คอนจูเกต อีไควน์ เอสโตรเจน/Conjugated equine estrogen (0.625 มิลลิกรัม) ร่วมกับ เมดรอกซี่โปรเจสเตอโรน อาซีเตท/ Medoxyprogesterone acetate (2.5 มิลลิกรัม) จนกว่าจะมีข้อมูลเป็นอย่างอื่น

ควรไปรับการตรวจติดตามบ่อยเพียงใด?

สตรีที่ได้รับฮอร์โมนทดแทนควรได้รับการตรวจติดตามเป็นระยะๆ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการได้รับยา และเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากการรักษา รวมทั้งตรวจหาโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยตามอายุที่มากขึ้น

ถ้าผลตรวจปกติ ให้นัดตรวจซ้ำทุก 1-2 ปี ตามความจำเป็น

ถ้าผลตรวจผิดปกติ ก็ให้การรักษา หรือนัดตรวจซ้ำทุก 3-6 เดือน ตามความเหมาะสม

สรุปเรื่องเฉพาะสตรีวัยทอง

การใช้ฮอร์โมนทดแทนเป็นเพียงแนวทางหนึ่งในการดูแลรักษาสุขภาพสตรีในวัยทอง จึงควรพิจารณาแนวทางดูแลรักษาอื่นๆร่วมไปด้วย การพิจารณาใช้หรือไม่ใช้ฮอร์โมน ควรพิจารณาเป็นกรณีไป โดยร่วมปรึกษาหารือกับสตรีแต่ละราย เพื่อพิจารณาถึงประโยชน์ที่จะได้และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ยังไม่ได้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติโดยทั่วไปว่า สตรีที่เข้าสู่วัยทองทุกรายจะต้องได้รับฮอร์โมนทดแทน นอกจากนี้การให้ฮอร์โมนทดแทนในรายที่มีข้อบ่งชี้ ยังมีรายละเอียดของวิธีการให้ที่แตกต่างกันไป ซึ่งควรพิจารณาถึงการเลือกใช้ให้เหมาะสมตามแต่กรณี เพื่อประโยชน์สูงสุดจากการใช้ โดยให้มีความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงน้อยที่สุด ทั้งนี้จำเป็นต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาร่วมด้วย โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้สตรีวัยทองมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีภาวะทุพพลภาพ และไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ดังนั้นเพื่อความถูกต้องและปลอดภัยในการใช้ยาต่างๆทุกชนิดที่ได้กล่าวแล้วในบทก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในตอน 7/8 จึงควรต้องเป็นการแนะนำและสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น และสตรีวัยทองทุกคนที่จะใช้ยาเหล่านี้ ควรได้รับคำแนะนำถึงข้อดี และผลข้างเคียงของยาเหล่านี้จากแพทย์จนเป็นที่เข้าใจแล้ว จึงตัดสินใจใช้ หรือไม่ใช้ยาดังกล่าว

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.