เรื่องเฉพาะสตรี...วัยทอง ตอนที่ 6

วิธีการให้ฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยหมดระดูเป็นอย่างไร?

ไม่ใช่ว่าสตรีวัยทอง (วัยหมดประจำเดือน) ทุกคนจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนทดแทน ควรได้รับหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ข้อบ่งชี้ ข้อห้าม ความรู้ความเข้าใจถึงข้อดี ข้อเสีย ของการได้รับฮอร์โมนทดแทน โดยมีแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น การตัดสินใจว่าจะใช้หรือไม่นั้น ควรเป็นการตัดสินใจของสตรีผู้นั้นเอง

ขั้นตอนในการปฏิบัติ

แพทย์จะเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำในการให้ฮอร์โมนทดแทน ซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจภายใน ตรวจหามะเร็งปากมดลูก และสืบค้น/ตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ ได้แก่

  1. การตรวจนับเม็ดเลือดซีบีซี และการตรวจปัสสาวะ
  2. การตรวจดูสารเคมีต่างๆ ในเลือด เช่น น้ำตาล ผลการทำงานของไต กรดยูริก และผลการทำงานของตับ
  3. การตรวจเอกซเรย์ปอด
  4. การตรวจคลื่นหัวใจ (กรณีอายุมากกว่า 50 ปี)
  5. การตรวจไขมันชนิดต่างๆในเลือด ได้แก่ คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ /Triglyceride ไลโปโปรตีน/Lipoprotein ชนิดความหนาแน่นสูง ไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นต่ำ
  6. ระดับฮอร์โมนเอฟเอสเอช/ FSH (ถ้าประจำเดือนครั้งสุดท้ายยังไม่นานกว่า 1 ปี หรือ ได้รับการผ่าตัดมดลูกเอามดลูกออกไปก่อนหน้านี้แล้ว)
  7. การตรวจเอกซเรย์เต้านม (การตรวจภาพรังสีเต้านม)
  8. การตรวจดูความหนาบางของกระดูก (ตรวจโรคกระดูกพรุน) แล้วแพทย์จะนัดฟังผลการตรวจทั้งหมด หลังจากนี้เป็นเวลาประมาณ 1-4 สัปดาห์ เมื่อทราบผลแล้วก็จะได้รับคำแนะนำในการดูแลรักษาจากแพทย์ต่อไป

บรรณานุกรม

  1. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  2. ตำรานรีเวชวิทยา ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. http://www.cancer.gov/ access date 1st October, 2004.