ลดน้ำหนักลดอาหาร มักอยู่นานอายุยืน (ตอนที่ 1)

นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานเปิดโครงการ "ทำความดีเข้าพรรษา ลดน้ำหนักสร้างสุขภาพดี วิถีชีวิตไทย" ภายใต้แนวคิด "เข้าพรรษาลดอ้วนสร้างบุญ ได้บุญล้นใจ คนไทยลดอ้วน" โดยกรมอนามัยเชิญชวนเจ้าหน้าที่ ข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นหนึ่งร่วมกับคนไทยทั้งประเทศ เขียนคำปฏิญานตนทำความดีฉลอง 2,600 ปี พุทธชยันตี และเข้าร่วมโครงการ ลดอ้วนเข้าพรรษา 90 วัน

ในสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัย Tufts ณ เมืองบอสตัน ได้ทำการศึกษาผลกระทบระยะยาว ของการลดปริมาณการบริโภค ที่เรียกว่า CALERIE CALERIE (ซึ่งย่อมาจาก Comprehensive Assessment of Long-term Effects of Reducing Intake of Energy) ให้อาสาสมัครที่เข้าโครงการลดน้ำหนักแบบเดิมๆ คือกินน้อยลง เพื่อลดปริมาณแคลอรีลง

แต่เรื่องการลดน้ำหนักไม่ใช่เหตุผลหลัก นักวิจัยที่มีศูนย์การศึกษา CALERIE อยู่หลายศูนย์ ได้ทำการทดลองกับอาสาสมัคร เพื่อตัดสินว่าการจำกัดปริมาณอาหารจะทำให้ขบวนการเสื่อมชราช้าลงและเพิ่มอายุขัยมนุษย์ได้จริงหรือไม่? นับว่าเป็นเรื่องขัดแย้งกับสัญชาตญาณ ว่าคนเรากินเพื่ออยู่ [กล่าวคือ ให้มีอายุยืนยาวขึ้น (Longevity)]

แต่การทดลองในหนูพบว่า การจำกัดปริมาณแคลอรีครึ่งหนึ่ง เพิ่มอายุขัยพวกมันได้ การศึกษาของมหาวิทยาลัย Wisconsin ก็สนับสนุนนัยยะนี้ เมื่อทำการทดลองกับสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ คือลิง โดยพวกลิงที่หิว จะเป็นเบาหวาน (Diabetes) โรคหัวใจหรือสมอง รวมถึงมะเร็งน้อยกว่าพวกที่ได้รับอาหารดีๆ อย่างมาก

นอกจากนี้ เมื่อเราทำการลดอาหาร เราจะยังสามารถลดความดันโลหิต คอเล็สเตอรอล (Cholesterol) และเบาหวาน รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่นๆ และปัจจัยเหล่านั้นจะไปเพิ่มอายุขัย หากเราลดปริมาณอาหาร (กล่าวคือ Calories) ลง 25 – 30% แต่ยังคงโภชนาการสำคัญไว้ จะมีอะไรบางอย่างในร่างกาย (Biological mechanism) ทำงานเพื่อให้เรามีอายุยืนขึ้น

Dr. Luigi Fontana นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย Washington ณ เมืองเซนต์หลุยส์ ซึ่งเป็นผู้นำในการศึกษา CALERIE กล่าวว่า เราต้องการเห็นขบวนการเผาผลาญ (Metabolism) ที่เกิดในคนสามารถปรับตัวเหมือนในลิงได้หรือไม่? และตั้งคำถามว่าการจำกัดอาหาร จะเป็นไปได้สำหรับประเทศที่อุดมไปด้วยคนที่น้ำหนักเกิน (Overweight) อย่างสหรัฐอเมริกาได้หรือไม่? และคนจะสามารถยึดมั่นอยู่กับการบริโภคเช่นนี้ได้จริงหรือไม่?

นักวิทยาศาสตร์ได้คาดคะเน ว่าการจำกัดปริมาณอาหารจะช่วยยืดอายุขัยของสัตว์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 เมื่อนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Cornell ณ เมืองนิวยอร์ก สังเกตว่าการอดอาหารอย่างรุนแรง (Severe food restriction) ของหนูทดลองทำให้มันอายุยืนกว่าพวกที่ดูสุขภาพดีกว่า ถึง 2 เท่าตัว

ในเวลานั้น การตรวจสอบเริ่มสำรวจความลับที่มากกว่าแค่น้ำหนักที่น้อยลง หนูทดลองที่กินตามปกติ แต่ผอมเพราะออกกำลังกายหนัก ไม่ได้มีผลทำให้อายุยืนยาวขึ้น แต่พวกที่ไม่ได้รับปริมาณอาหาร (Calories) มาก กลับจะได้รับประโยชน์มากกว่า [กล่าวคือายุยืนกว่า]

ทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า ความหิวเป็นแรงกดดัน (Stressor) ปานกลางที่สม่ำเสมอทำให้อวัยวะแข็งแรงและทนทานต่อความเสื่อมตามอายุ (Aging resistance) ได้มากกว่า การบริโภคอาหารปริมาณน้อยกว่า ช่วยให้เผาผลาญช้าลง และมีข้อมูลระบุว่าผู้ที่เผาผลาญช้ากว่าจะมีอายุที่ยืนยาวกว่า

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ.รณรงค์ 3 อ. 2 ส. ชวนคนไทยลดอ้วนสร้างบุญ http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000096204&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2012, August 18].
  2. Eat Less, Live Longer? http://www.time.com/time/specials/packages/article/0,28804,1963392_1963366_1963381,00.html [2012, August 18].