ระวังโรค บริโภคเห็ดพิษ (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

แต่ดั้งเดิม บทบาทของฝ่ายบำบัดทางเดินหายใจ (Respiratory therapy) ได้รับการแบ่งแยกระหว่างหน่วยงานหลัก 2 ประเภท กล่าวคือ ประเภทดูแลทั่วไป (General care) และประเภทดูแลวิกฤต (Critical care) ในประเภทแรกเป็นการให้บริการทั่วไปแก่อายุรกรรมและศัลยกรรมในโรงพยาบาล อาทิ การบำบัดด้วยออกซิเจน (Oxygen therapy) เครื่องมือการบำบัด (Modality) และการตรวจวิเคราะห์ (Diagnostics) เพื่อติดตามผล (Monitoring) โดยเฉพาะในการใช้ออกซิเจน

ส่วนประเภทหลัง เป็นการให้บริการในการรักษาขั้นก้าวหน้า (Advanced intervention) ในหน่วยดูแลวิกฤติ (Critical-care unit : CCU) อาทิ การติดตั้งและจัดการเครื่องกลช่วยหายใจ (Mechanical ventilator) เครื่องยังชีพหัวใจ (Cardiac life support) ขั้นก้าวหน้า เครื่องวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (Oximeter) และเครื่องมือตรวจวิเคราะห์เฉพาะ อาทิ กล้องส่องตรวจหลอดลม (Bronchoscope)

ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ในปัจจุบัน บทบาทของฝ่ายบำบัดทางเดินหายใจ จึงได้รับการแบ่งใหม่ตามประเภทของสายผลิตภัณฑ์/บริการ (Product/service line) ดังนี้ (1) เครื่องมือการบำบัด (2) การบำบัดด้วยออกซิเจน (3) การจัดการเครื่องช่วยหายใจ (4) การติดตามผลทางสรีรวิทยา และ (5) หัตถการ (Procedure) รวมทั้งการตรวจวิเคราะห์เฉพาะทาง

แต่ละสายผลิตภัณฑ์/บริการ ต้องอาศัยทักษะความชำนาญเฉพาะของนักบำบัดทางเดินหายใจ ซึ่งตามปรกติจะมี 2 บทบาท กล่าวคือบทบาทให้บริการตรวจวิเคราะห์และบทบาทบำบัดรักษาร่วมกับแพทย์ นักบำบัดทางเดินหายใจต้องรับผิดชอบต่อการพัฒนาทักษะความชำนาญให้ทันวิวัฒนาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพื่อให้ผลลัพธ์ (Outcome) ของผู้ป่วยออกมาตามต้องการ

ขอบเขตของการปฏิบัติงาน (Scope of practice) สำหรับนักบำบัดทางเดินหายใจนั้น ได้มีการกำหนดไว้เป็นมาตรฐานระดับชาติ เพื่อการออกใบอนุญาตรับรองคุณภาพ (Licensure) โดยสมาคมการดูแลทางเดินหายใจ ในสหรัฐอเมริกา (American Association for Respiratory Care : AARC)

ในสหรัฐอเมริกา บุคลากรและสถานพยาบาลที่ให้บริการบำบัดทางเดินหายใจ ต้องได้มาตรฐานของคณะกรรมการร่วมรับรองคุณภาพในองค์กรดูแลสุขภาพ (Joint Commission on the Accreditation of Healthcare Organization : JCAHO) โดยบุคลากรจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นนักปฏิบัติการบำบัดทางเดินหายใจ (Respiratory care practitioner : RCP)

RCP ต้องรับผิดชอบในการบันทึกผลลัพธ์ของผู้ป่วย ซึ่งสามารถใช้สนับสนุนการปฏิบัติงานของนานาหน่วยงานที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด (Intensive care) อาทิ เด็ก แผนก (Pediatric) แผนกทารกแรกเกิด (Neonatal) แผนกปลูกถ่ายอวัยวะ (Transplant) แผนกศัลยกรรม (Surgical) แผนกบาดเจ็บร้ายแรง (Trauma) และแผนกโรคปอด (Pulmonary)

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)