มะเร็งผิวหนังจากแดดจ้า (ตอนที่ 3)

มะเร็งผิวหนังจากแดดจ้า

เซลล์มะเร็งผิวหนังจะเริ่มต้นที่ผิวหนังชั้นนอกสุดหรือหนังกำพร้า (Epidermis) ซึ่งประกอบด้วยเซลล์หลักๆ อยู่ 3 ชนิด ได้แก่

  • Squamous cells เป็นเซลล์ที่อยู่ใต้ผิวบนสุด มีหน้าที่ปกป้องผิวด้านใน
  • Basal cells เป็นเซลล์ที่สร้างเซลล์ผิวหนังใหม่ อยู่ใต้ Squamous cells
  • Melanocytes มีหน้าที่ผลิตเมลานิน (Melanin) ที่ทำให้เกิดสีผิว อยู่ใต้หนังกำพร้า

ส่วนใหญ่ดีเอ็นเอที่ถูกทำลายเป็นผลมาจากการถูกรังสีอุลตร้าไวโอเลตที่พบในแสงแดด นอกจากนี้เกิดจากการสัมผัสกับสารพิษหรือภาวะที่ทำให้ภูมิต้านทานอ่อนแอ โดยปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนัง ได้แก่

  • มีผิวสีอ่อนหรือผิวขาว (Fair skin)
  • มีประวัติผิวเกรียมจากการถูกแดดมากเกินไป (Sunburns)
  • ผิวสัมผัสแดดมากเกิน
  • มีไฝ (Mole) มาก หรือไฝที่ผิดปกติ
  • มีรอยโรคผิวหนังที่กลายเป็นมะเร็งได้ (Precancerous skin lesion) เช่น Actinic keratoses ซึ่งเป็นรอยโรคที่มีการหนาตัวขึ้นของ Squamous cells ลักษณะเป็นตุ่มหรือแผ่นแข็ง สีชมพู ผิวแห้งหยาบ ขรุขระ มีสะเก็ดหนาๆ คลุม ดูคล้ายหูด มักเกิดที่ใบหน้า ศีรษะ และมือ เพราะถูกแสงแดดมากๆ
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง
  • เคยเป็นมะเร็งผิวหนังมาก่อน
  • มีภูมิต้านทานอ่อนแอ เช่น คนที่ติดเชื้อเฮชไอวี เป็นเอดส์ หรือกินยากดภูมิกรณีปลูกถ่ายอวัยวะ
  • สัมผัสกับรังสี เช่น การใช้รังสีรักษาโรคเรื้อนกวาง (Eczema) และสิว
  • สัมผัสกับสารอื่น เช่น สารหนู (Arsenic)

การวิเคราะห์โรคสามารถทำได้โดยตรวจผิวหนังและตัดเอาเนื้อเยื่อไปทดสอบ (Skin biopsy) เพื่อดูชนิดและระยะที่เป็น หรืออาจมีการผ่าตัดสุ่มตรวจต่อมน้ำเหลืองรักแร้ (Sentinel lymph node biopsy) เพื่อดูการแพร่กระจาย

สำหรับการรักษาขึ้นกับขนาด ชนิด ความลึก และตำแหน่งที่เป็น หากเป็นแค่ผิวๆ ขนาดเล็ก ก็ใช้เพียงการตัดออก ส่วนการรักษาอื่นๆ ได้แก่

  • การผ่าตัดด้วยความเย็น (Cryosurgery) ด้วยการใช้ความเย็น (Freezing) ของไนโตรเจนเหลว
  • การตัดก้อนที่ผิวหนัง (Excisional surgery) บริเวณจุดที่เป็นและบริเวณโดยรอบ
  • การผ่าตัดด้วยวิธี Mohs (Mohs surgery) ซึ่งเป็นการตัดเฉพาะมะเร็งผิวหนังออกได้หมด โดยมีการเสียผิวหนังปกติที่อยู่ข้างเคียงน้อยที่สุด ด้วยวิธีการตัดมะเร็งออกทีละชั้นเป็นชั้นบางๆ และจี้ด้วยไฟฟ้าเพื่อห้ามเลือดก่อนปิดแผลด้วยผ้ากอซ แล้วนำชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อดูว่าตําแหน่งใดที่ยังมีมะเร็งเหลืออยู่ ผู้ป่วยจะนั่งรอผลการตรวจชิ้นนื้อประมาณ 2 ชั่วโมง ถ้ายังพบเซลล์มะเร็ง แพทย์จะกลับไปตัดซ้ำด้วยวิธีเดิมในตําแหน่งที่มีมะเร็งเหลืออยู่ จนกว่าจะไม่พบเซลล์มะเร็งผิวหนังเหลืออยู่ที่บริเวณรอยโรคนั้น บางครั้งอาจต้องทําผ่าตัดซ้ำด้วยวิธีเดิม 2 ครั้ง หรือมากกว่านั้น หลังจากนั้นจะทําการปิดแผลโดยการเย็บแผลหรือปล่อยให้แผลหายเองตามความเหมาะสมแต่ละราย

แหล่งข้อมูล

    1. Skin cancerhttp://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/skin-cancer/basics/definition/con-20031606 [2016, May 6].
    2. Skin cancerhttp://www.cdc.gov/cancer/skin/ [2016, May 6].