รู้จักไหม ? ไวรัสนิปาห์ (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

นิปาน์ไวรัส-2

      

      

      ไวรัสนิปาห์ (Nipah henipavirus, Nipah virus, NiV) อยู่ในตระกูล Paramyxovirus Nipah virus (Genus Henipavirus) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์ (Zoonotic disease)

      ไวรัสนิปาห์ ถูกค้นพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2541 ที่หมู่บ้าน Kampung Sungai Nipah ในประเทศมาเลเซีย โดยมีสุกรเป็นพาหะ และมีรายงานการระบาดสู่มนุษย์ที่ประเทศบังกลาเทศในปี พ.ศ. 2547 จากการกินน้ำในผลอินทผาลัม (Raw date palm sap) ที่ติดเชื้อจากค้างคาว ล่าสุดพบว่าระบาดจากคนสู่คนในประเทศอินเดีย

      การแพร่เชื้อของไวรัสนิปาห์เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับค้างค้าว สุกร หรือคนที่ติดเชื้อ เช่น การกินผลไม้ที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่งของค้างคาวที่ติดเชื้อ คนในครอบครัว หรือผู้ดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อ

      อาการของไวรัสนิปาห์ จะเกี่ยวข้องกับโรคสมองอักเสบ (Encephalitis) โดยหลังการติดเชื้อจะมีระยะฟักตัว 5-14 วัน และมีอาการ

- เป็นไข้

- ปวดศีรษะ

- เซื่องซึม (Drowsiness)

- อาเจียน

- งุนงงสับสน (Disorientation)

- ระบบการหายใจมีปัญหา

- หมดสติ ภายใน 24-48 ชั่วโมง

      

      บางรายมีอาการป่วยของระบบทางเดินหายใจ และครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงเกี่ยวกับระบบประสาทหรืออาการเกี่ยวกับปอด โดยการแพร่ระบาดระหว่างปี พ.ศ.2541-2542 มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อ 265 ราย ซึ่งร้อยละ 40 ของผู้ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลมีอาการรุนแรงทางระบบประสาทและเสียชีวิต

      นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อยังมีการติดเชื้อแฝง (Latent infections) ที่อาจกำเริบอีก และมีผลสืบเนื่องทางระบบประสาทในระยะยาวด้วย เช่น ชักบ่อย และ บุคลิกภาพเปลี่ยนไป

      การวิเคราะห์โรคสามารถใช้การทดสอบหลายอย่างร่วมกัน โดยในระยะเริ่มแรกใช้สารคัดหลั่งจากคอ จมูก น้ำไขสันหลัง ปัสสาวะ และเลือด ไปทำการทดสอบด้วยวิธี Real time polymerase chain reaction (RT-PCR) และในระยะต่อมา ใช้การตรวจกรองชนิดแอนติบอดี้ (Antibody detection) ด้วยวิธี ELISA (IgG and IgM) และอาจยืนยันผลการชันสูตรด้วยการย้อมพิเศษทางอิมมูโนฮีสโตเคมี (Immunohistochemistry)

      ยังไม่มีวัคซีนสำหรับการรักษา มีเพียงการดูแลตามอาการ (Supportive care) และการให้ยา (Ribavirin) อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก (Clinical trials) ในระยะแรกกับการใช้ยากลุ่ม Monoclonal antibodies ยากลุ่ม Fusion inhibitors และยากลุ่ม Novel antivirals

      สำหรับการป้องกัน ทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสุกรและค้างคาวที่ป่วยในพื้นที่ที่เกิดการระบาดของโรค การไม่กินน้ำในผลอินทผลัม (Raw date palm sap) และการระวังการติดเชื้อในโรงพยาบาล (Nosocomial infection)

แหล่งข้อมูล:

  1. Nipah virus infection.https://www.healthline.com/health/germy-places#modal-close [2018, June 11].
  2. Nipah virus encephalitis. https://radiopaedia.org/articles/nipah-virus-encephalitis [2018, June 11].
  3. Nipah virus: epidemiology, outbreaks and guidance. https://www.gov.uk/guidance/nipah-virus-epidemiology-outbreaks-and-guidance [2018, June 11].