ทำไมต้องฆ่าตัวตาย ? (ตอนที่ 4)

ความยากจนก็เป็นปัจจัยเสี่ยงของการฆ่าตัวตาย ตั้งแต่ปี 2540 มีชาวนาในอินเดียมากกว่า 200,000 คน ที่ฆ่าตัวตาย การฆ่าตัวตายในชนบทจีนเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า สืบเนื่องมาจากความยากจนแร้นแค้นในพื้นที่บริเวณนั้น อย่างไรก็ดี การมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ อาจช่วยลดความเสี่ยงของการฆ่าตัวตายได้

สื่อต่างๆ รวมถึงอินเตอร์เน็ตก็มีบทบาทสำคัญ การเสนอข่าวเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายล้วนมีผลกระทบทั้งสิ้น การเลียนแบบการฆ่าตัวตาย (Copycat suicide) อาจลดลงหากมีการเสนอข่าวที่เหมาะสม

ในสหรัฐอเมริการ้อยละ 57 ของการฆ่าตัวตายมาจากการใช้อาวุธปืน ซึ่งมักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ร้อยละ 40 มาจากการแขวนคอตายในผู้ชายและกินยาตายในผู้หญิง ในสวิสเซอร์แลนด์แม้ว่าทุกคนจะมีอาวุธปืน แต่การฆ่าตัวตายส่วนใหญ่เกิดจากการแขวนคอ

สำหรับการกระโดดตึกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมากถึงร้อยละ 50 ในฮ่องกง และร้อยละ 80 ในสิงคโปร์ การกินยาฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่พบมากในจีน ในขณะที่การฆ่าตัวตายโดยการคว้านท้องตามพิธีกรรมฮาราคีรี (Hara-kiri / Seppuku) ก็ยังคงมีให้เห็นในญี่ปุ่นแต่น้อยกว่าการแขวนคอ

การป้องกันการฆ่าตัวตาย (Suicide prevention) เป็นการพยายามในทุกด้านที่จะลดโอกาสในการฆ่าตัวตายลง ปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงของการฆ่าตัวตาย เช่น

  • การสร้างทัศนคติว่า ชีวิตเป็นของมีค่า
  • การมีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ
  • การมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในครอบครัว เพื่อน และสังคม
  • การมีศาสนาหรือวัฒนธรรมที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและไม่สนับสนุนการฆ่าตัวตาย
  • การมีสติจากการงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยา (Sobriety)
  • การมีส่วนร่วมในสังคม
  • การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง
  • การลดการเข้าถึงสื่อหรืออาวุธต่างๆ ที่อาจใช้ในการฆ่าตัวตาย เช่น อาวุธปืน สารพิษ การมีสิ่งป้องกันบนสะพานและชานชลาสถานีรถไฟใต้ดิน เป็นต้น

นอกจากนี้การบำบัดยาเสพติด การมีสายด่วน (Crisis hotlines) การพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อลดความยากจน การพยายามเพิ่มการติดต่อในสังคม (Social connection) โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ก็อาจช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายลงได้ สำหรับคนที่ปัญหาทางด้านสุขภาพจิตก็ต้องเข้ารับการรักษาทางจิตต่อไป

นพ.วชิระ กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญก็คือ ต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง พยายามอย่าเครียด แบ่งเวลาเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย ก็ช่วยได้ทางหนึ่ง หรืออาจหาทางระบายออกด้วยการเล่าสู่กันฟังกับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนที่สนิทไว้ใจได้ อย่าเก็บความทุกข์ไว้เพียงลำพัง

แหล่งข้อมูล:

  1. อึ้ง! ภาคเหนือฆ่าตัวตายสูง คาดต้นเหตุเหล้า โรคเรื้อรังhttp://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000093156&Keyword=%ca%d8%a2%c0%d2%be [2013, August 28].
  2. Suicide. http://en.wikipedia.org/wiki/Suicide [2013, August 28].
  3. Suicide Protection Factors. http://www.suicideoutreach.org/Pages/WarningSigns/ProtectiveFactors.aspx [2013, August 28].