“ต้อหิน” ตรวจก่อน เจอก่อน ตาไม่บอด (ตอนที่ 1)

สารบัญ

ด้วยเดือนมกราคมของทุกปีเป็นเดือนรณรงค์โรคต้อหิน (Glaucoma) ของสหรัฐอเมริกา สถาบันสายตาแห่งชาติ (National Eye Institute : NEI) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันสุขภาพของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (National Institutes of Health : NIH) ได้รณรงค์ให้ชาวอเมริกันที่มีความเสี่ยงในการเป็นต้อหิน ให้ทำการตรวจตาอย่างละเอียดและแนะนำให้ทำการตรวจทุก 1 - 2 ปี ด้วย

โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่ ชาวอเมริกันเชื้อสายอัฟริกันที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปี ขึ้นไป ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป และผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคนี้ ทั้งนี้โอกาสในการเป็นต้อหินในชาวอเมริกันเชื้อสายอัฟริกันมีมากกว่าชาวคอเคเชียน (คนผิวขาว) 6 - 8 เท่า

โรคต้อหินเป็นสาเหตุหลักของการตาบอดที่พบได้บ่อยในสหรัฐอเมริกา มีชาวอเมริกัน 2.7 ล้านคน ที่เป็นโรคนี้ และมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ประมาณว่าในปี พ.ศ.2573 จะมีชาวอเมริกัน 4.2 ล้านคน ที่เป็นโรคนี้ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 58 โดยผู้เชี่ยวชาญประมาณว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่เป็นโรคต้อหินจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็น

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้ระบุว่าต้อหินเป็นสาเหตุอันดับ 2 ที่ทำให้คนทั่วโลกตาบอด และมีการประมาณว่าทั่วโลกมีผู้ตาบอดจากเป็นโรคนี้จำนวน 4.5 ล้านคน สำหรับสหรัฐอเมริกามีผู้ตาบอดเพราะโรคนี้ประมาณ 120,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 9 - 12 ของคนที่ตาบอด

โรคต้อหิน เป็นโรคตาชนิดหนึ่งที่ค่อยๆ ทำให้ตามองไม่เห็นโดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า แม้ว่าส่วนใหญ่โรคนี้จะเกิดในวัยกลางคนและวัยสูงอายุ แต่คนทุกวัยก็เป็นโรคนี้ได้

การสูญเสียการมองเห็นเกิดจากการที่ประสาทตาถูกทำลาย ยังไม่มีวิธีรักษาต้อหินให้หายได้ อย่างไรก็ดียาหรือการผ่าตัดสามารถช่วยชะลออาการหรือป้องกันการสูญเสียการมองเห็นที่อาจเกิดมากขึ้น การรักษาที่ดีขึ้นกับชนิดของต้อหินที่เป็น การตรวจพบก่อนเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะหยุดยั้งพัฒนาการของโรค

ต้อหินมักกระทบต่อการมองด้านข้าง (Side vision) ก่อน ถ้าไม่ทำการรักษาจะทำให้สูญเสียการมองเห็นและในที่สุดตาจะบอด หากพบว่าเป็นต้อหินในระยะแรกๆ และรักษาอย่างถูกวิธี อาจกลับมามองเห็นได้อย่างปกติ

มีหลายกรณีที่เชื่อว่าประสาทตาถูกทำลายเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของความดันในลูกตา (Intraocular pressure : IOP) อันเกิดจากของเหลวในตา แต่บางกรณีก็ไม่ได้เกิดจากความดันในลูกตา

[ภายในลูกตามีของเหลวที่เรียกว่า Aqueous humor บรรจุอยู่เต็ม ของเหลวนี้จะทำหน้าที่นำออกซิเจน และสารอาหารที่จำเป็นไปหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง ซึ่งทั่วไปแล้วอัตราการสร้างของเหลวนี้จะสมดุลพอดีกับอัตราการไหลออก เราจึงมีระดับความดันภายในลูกตาที่ปกติ แต่ในสภาวะที่เป็นต้อหิน ของเหลวนี้จะไหลออกจากลูกตาด้วยอัตราที่น้อยลง จนทำให้ระดับความดันภายในลูกตาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างช้าๆ และต่อเนื่อง ซึ่งถ้าเพิ่มขึ้นเป็นเวลานาน จะส่งผลให้ขั้วประสาทถูกทำลาย จนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น]

แหล่งข้อมูล

  1. NIH urges dilated eye exams to detect glaucoma. http://www.nih.gov/news/health/jan2013/nei-14.htm [2013, February 2].
  2. January is Glaucoma Awareness Month.http://www.glaucoma.org/news/glaucoma-awareness-month.php [2013, February 2].
  3. Glaucoma - What Happens. http://www.webmd.com/eye-health/tc/glaucoma-what-happens [2013, February 2].
  4. Glaucoma - Cause http://www.webmd.com/eye-health/tc/glaucoma-cause [2013, February 2].