ช่วยด้วย! น้ำท่วมปอดคุณยาย (ตอนที่ 3)

สาเหตุหรือสภาวะที่ทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายอ่อนแรงและวายในที่สุด ได้แก่ :

  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary artery disease) – หลอดเลือดสามารถแคบลงได้จากการอุดตันของไขมัน หัวใจวายเกิดขึ้นได้เมื่อเลือดจับตัวเป็นลิ่ม (Blood clot) ในช่องหลอดเลือดแคบๆ นี้ ขวางทางเดินของกระแสเลือดและทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่ดีเท่าที่ควร
  • แม้ว่าหัวใจส่วนที่เหลือจะพยายามทำงานเพื่อชดเชยส่วนดังกล่าว แต่ก็ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือกลายเป็นแย่ลงเพราะทำงานหนักเกินไป เมื่อการสูบฉีดเลือดของหัวใจอ่อนแอลง ทำให้ของเหลวในเลือดซึมผ่านผนังหลอดเลือดฝอยกลับเข้าสู่ถุงลมปอด
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ (Cardiomyopathy) – เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายทำให้เกิดปัญหาการไหลเวียนของกระแสเลือด ทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายซึ่งเป็นตัวหลักในการสูบฉีดเลือดอ่อนแอลง หัวใจไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เช่น เกิดการขึ้นๆ ลงๆ ของความดันโลหิต หัวใจเต้นเร็ว หรือการได้รับเกลือมาก เป็นเหตุให้เกิดอาการบวมน้ำ หรือติดเชื้อ เมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายไม่สามารถทำงานได้ตามที่ควรจะเป็น ของเหลวจะไหลกลับสู่ปอด
  • ลิ้นหัวใจมีปัญหา – ลิ้นหัวใจเป็นตัวควบคุมการไหลของกระแสเลือดในด้านซ้าย หากมีอาการผิดปกติ กล่าวคือ เปิดไม่กว้างพอ /มีการตีบ (Stenosis) หรือมีการปิดไม่สนิท จะทำให้เลือดไหลกลับผ่านลิ้นหัวใจ เมื่อลิ้นหัวใจตีบแคบเลือดไม่สามารถจะไหลเวียนเข้าสู่หัวใจได้อย่างสะดวก ทำให้เกิดความดันในหัวใจห้องล่างซ้าย เป็นเหตุให้หัวใจห้องล่างซ้ายทำงานหนักขึ้นๆ
  • หัวใจห้องล่างซ้ายจะพยายามขยายตัวเพื่อให้เลือดผ่านได้มากขึ้น แต่เหตุนี้กลับทำให้หน้าที่สูบฉีดเลือดของหัวใจห้องล่างซ้ายด้อยประสิทธิภาพลง จากการที่หัวใจห้องล่างซ้ายต้องทำงานหนักนี้ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้น เกิดแรงกดลงบนเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ (Coronary arteries) เป็นเหตุให้กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายยิ่งอ่อนแอลง
  • แรงดันที่เพิ่มขึ้นในหัวใจห้องล่างซ้ายและในเส้นเลือดที่ไปสู่ปอดเป็นเหตุให้เกิดการสะสมของของเหลวในปอด หรืออีกอย่างหนึ่งเมื่อลิ้นหัวใจรั่ว เลือดบางส่วนก็จะไหลเข้าปอดทุกครั้งที่หัวใจทำการสูบฉีด ถ้าการรั่วเกิดขึ้นทันทีทันใด ก็อาจทำให้เกิดน้ำท่วมปอดที่ร้ายแรงทันทีทันใดเช่นกัน
  • ความดันโลหิตสูง (Hypertension) – ความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมไม่ได้ เป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาขึ้น ทำให้อาการเส้นเลือดหัวใจตีบตัน (Coronary artery disease) แย่ลง

สำหรับกรณีน้ำท่วมปอดที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับหัวใจ (Noncardiac pulmonary edema) นั้น ของเหลวอาจรั่วซึมจากหลอดเลือดฝอยในถุงลมปอด โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมปอดที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับหัวใจรวมถึง :

  • การติดเชื้อที่ปอด – เมื่อเกิดน้ำท่วมปอดที่มีสาเหตุจากปอดติดเชื้อ เช่น โรคปอดบวม น้ำจะคั่งบริเวณที่ปอดบวมเท่านั้น
  • การถูกสารพิษ – รวมถึงสารพิษที่สูดเข้าไป เช่น คลอรีน (Chlorine) หรือ แอมโมเนีย (Ammonia)
  • เป็นโรคไต – เมื่อไตไม่สามารถกำจัดของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็อาจก่อให้เกิดของเหลวส่วนเกินซึ่งเป็นสาเหตุของน้ำท่วมปอด
  • การสูบควัน – ควันไฟอาจมีสารเคมีที่สามารถทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ (Membrane) ระหว่างถุงลมและหลอดเลือดฝอยได้ ทำให้ของเหลวไหลเข้าสู่ปอด

แหล่งข้อมูล

  1. Causes. http://www.mayoclinic.com/health/pulmonary-edema/DS00412/DSECTION=causes [2013, February 16].