จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน – ภาคที่ 3 จิตวิทยาผู้ใหญ่ตอนที่ 94 : ตาและการมองเห็น

จิตวิทยาผู้ใหญ่

แต่ละอวัยวะของประสาทสัมผัสมีโครงสร้างและรูปทรงที่แตกต่างกัน มันสามารถสนองตอบต่อบางประเภทของสิ่งเร้า (Stimulus) หรือพลังงานทางกายภาพ (Physical energy) เท่านั้น ตัวอย่างเช่น เหตุผลที่เราไม่สามารถเห็นคลื่นวิทยุ (Radio wave) ก็คือ มันไม่มีช่วงที่เหมาะสม (Right length)

แม้ว่า คลื่นวิทยุ และคลื่นแสง (Light wave) ต่างมาจากดวงอาทิตย์ เป็นรูปแบบของพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า (Electro-magnetic energy) ที่แตกต่างกันในช่วงของคลื่น ตัวอย่างเช่น รังสีเอ็กซ์ (X ray) มีคลื่นสั้น ส่วน วิทยุ AM มีคลื่นยาว โดยที่มีเพียงช่วงคลื่น (Range of wave-lengths) เล็กและเฉพาะที่มาจากดวงอาทิตย์ เรียกว่า “คลื่นความถี่ที่มองเห็นได้” (Visible spectrum) ซึ่งสามารถกระตุ้น (Excite) เครื่องรับ (Receptor) ในดวงตาของคนเรา

ด้านหนึ่งของคลื่นความถี่พลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นคลื่นสั้น อันได้แก่ รังสีเอ็กซ์ รังสีแกมม่า (Gamma ray) และรังสีอุลตร้า-ไวโอเล็ต (Ultra-violet ray) คลื่นเหล่านี้ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เพราะความยาวของคลื่นสั้นเกินกว่าที่จะกระตุ้น (Stimulate) เครื่องรับในดวงตา อย่างไรก็ตาม นกตัวเล็กที่สุดในโลก (Humming bird) และแมลงบางประเภท สามารถเห็นรังสีอุลตร้า-ไวโอเล็ต ได้ เพราะช่วยในการค้นหาอาหารของมัน

ส่วนอีกด้านหนึ่งของพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นคลื่นยาว อันได้แก่ คลื่นวิทยุและคลื่นโทรทัศน์ ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเช่นกัน เพราะช่วงของคลื่นยาวเกินกว่าที่จะกระตุ้นเครื่องรับในดวงตาของคนเรา ลองจินตนาการภาพที่น่ากลัวของความวอกแวก (Awful distraction) ที่เกิดจากคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ตลอดวัน ว่าจะเป็นอย่างไร?

ประมาณกึ่งกลางของพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นคลื่นช่วงสั้นๆ ที่ประกอบขึ้นเป็น “คลื่นความถี่ที่มองเห็นได้” กล่าวคือเป็นเฉพาะส่วน (Particular segment) ของพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้า ที่เราสามารถมองเห็นได้ เพราะคลื่นเหล่านี้มีความยาวที่เหมาะสม ในการกระตุ้นเครื่องรับในดวงตา

เหตุผลที่เราเห็นยีราฟ (Giraffe) ก็คือ ร่างกายของมันสะท้อน (Reflect) คลื่นแสง จาก “คลื่นความถี่ที่มองเห็นได้” กลับไปยังดวงตาของเรา หน้าที่หนึ่งของสายตา คือการดูดซึม (Absorb) คลื่นแสง ที่สะท้อนกลับจากวัตถุ ทั้งหมดในสภาพแวดล้อม

สิ่งเร้าที่ได้ผลที่สุดสำหรับการมองเห็น คือ พลังงาน (คลื่นแสง) จาก “คลื่นความถี่ที่มองเห็นได้” แต่การมองเห็นอะไรก็ตาม คลื่นแสงที่สะท้อนกลับ จะต้องได้รับการรวบรวมแล้วแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้าก่อน และเราจะต้องมองเข้าไปในดวงตาจึงจะเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนรูปพลังงาน (Transduction) ดังกล่าว

แหล่งข้อมูล

  1. Plotnik, Rod. (2002). Introduction to Psychology (6th Ed). Pacific Grove, CA: Wadsworth -Thompson Learning.
  2. Human eye - https://en.wikipedia.org/wiki/Human_eye [2016, January 28].