จิตวิทยาในชีวิตประจำวัน - ภาคที่ 4 จิตวิทยาผู้สูงวัย ตอนที่ 20: สังคมสี่เหลี่ยมผืนผ้า

จิตวิทยาผู้สูงวัย

แม้การพยากรณ์อนาคตของอายุคาด (Life expectancy) ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่ตัวเลขจากอดีตแสดงให้เห็นว่า ผู้มีอายุเกินกว่า 85 ปี ในสหราชอาณาจักร (United Kingdom) ได้เพิ่มขึ้นจาก 0.66 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2527 เป็น 1.4 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2552 และคาดว่า จะสูงขึ้นเป็น 3.5 ล้านคน หรือ 5% ของประชากรทั้งประเทศ ในปี พ.ศ. 2577

ดังนั้น จึงมีการพยากรณ์กันว่า อายุมัธยฐาน (Median age) ของประชากรทั้งประเทศ จะเพิ่มขึ้นจาก 35 ปี ใน พ.ศ. 2527 เป็น 42 ปี ใน พ.ศ. 2577 ส่วนจำนวนผู้สูงอายุ จะเพิ่มขึ้นสูงสุดประมาณ 17 ล้านคน หรือ 25% ของประชากรทั้งหมด ในปี พ.ศ. 2603 ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงทางประชากร (Demographics) จะเป็นสาเหตุให้ลดอัตราลง

นอกจากนี้ ยังคาดว่า 70% ของประชากรในโลกตะวันตก จะมีอายุเกิน 65 ปี และ 30 – 40% จะมีอายุเกิน 80 ปี และในปี พ.ศ. 2593 ประมาณเกือบ 50% ของประชากรในโลกตะวันตก จะมีอายุเกิน 85 ปี นั่นหมายความว่า เรากำลังเคลื่อนย้ายจากสังคมปิรามิด (Pyramid) ไปยังสังคมสี่เหลี่ยมผืนผ้า (Rectangular society)

เนื่องจากในโลกปัจจุบัน จำนวนผู้คนที่มีชีวิตอยู่ได้เพิ่มขึ้นเท่าๆ กันในแต่ละช่วงอายุ 10 ปี (กล่าวคือ ช่วง 0 – 9 ปี ช่วง 10 – 19 ปี ฯลฯ) เมื่อทำเป็นกร๊าฟแท่ง (Histogram) จะปรากฏเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เมื่อเปรียบเทียบกับกร๊าฟประชากรจากปี พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา จะดูเป็นรูปปิรามิด เพราะมีผู้คนอายุน้อยจำนวนมากอยู่ที่ฐาน แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละช่วงอายุ 10 ปี ตามอายุที่แก่ขึ้นเรื่อยๆ

แม้ว่าตัวเลขเหล่านี้ จะเป็นสถิติของประชากรในสหราชอาณาจักร แต่ข้อมูลจากประเทศอุตสาหกรรมหรือพัฒนาแล้ว ก็คล้ายคลึงกันมาก อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวมีความแปรปรวน (Variation) อยู่ไม่น้อย เมื่อพิจารณาในมิติของเพศ (Gender) อาชีพ (Occupation) และชนชั้นทางสังคม (Social class) ซึ่งรวมทั้งวัฒนธรรม (Culture) ด้วย

ความแตกต่างในอายุคาดเห็นได้ชัดระหว่างประเทศอุตสาหกรรมที่มีรายได้สูง กับประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำ ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2553 อายุคาด ณ แรกเกิดอยู่ที่ 69 ปี สำหรับทั่วโลก แต่ในประเทศอุตสาหกรรมที่มีรายได้สูง อายุคาด อยู่ที่ 77 ปี เปรียบเทียบกับ 67 ปี ในประเทศกำลังพัฒนา และ 55 ปี ในประเทศด้อยพัฒนา

ในทวีปอเมริกาเหนือ อายุคาดอยู่ที่ 78 ปี เปรียบเทียบกับ 74 ปี ในทวีปอเมริกาใต้ (ลาตินอเมริกา) 76 ปี ในทวีปยุโรป (โดยที่ประเทศในยุโรปตามลำพัง อยู่ที่ 79 ปี) 70 ปี ในทวีปเอเชีย และ 55 ปีในทวีปอัฟริกา สาเหตุของความแตกต่างอยู่ที่ (1) อัตราการตายของทารก (Infant mortality) และ (2) โรคติดเชื้อซึ่งมีอยู่ไปทั่ว (Prevalence of infectious diseases) ในกรณีหลังมีความสัมพันธ์โดยตรงกับระดับการฉีดวัคซีน (Vaccination) และสุขอนามัยสาธารณะ (Public hygiene)

แหล่งข้อมูล

  1. Stuart-Hamilton, Ian. (2012). The Psychology of Ageing (5th Ed). London, UK: Jessica Kingsley Publishers.
  2. Ageing - http://en.wikipedia.org/wiki/Ageing [2015, September 1].