จะกินอย่างไรเมื่อผ่าตัดกระเพราะอาหารลดความอ้วน (Bariatric Surgery) ตอนที่ 6

จะกินอย่างไรเมื่อผ่าตัดกระเพราะอาหารลดความอ้วน

การเลือกรับประทานอาหารในระยะสัปดาห์ที่ 3 – 4 หลังการผ่าตัด ซึ่งก่อนจะออกจากโรงพยาบาลผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำถึงลักษณะของอาหารที่เหมาะสม ตลอดจนปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ผู้ป่วยควรได้รับจากนักโภชนาการ ซึ่งจะกล่าวในตอนต่อไป

ระยะสัปดาห์ที่ 3 – 4 หลังการผ่าตัด ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีความสามารถทนต่ออาหารแบบอ่อนได้ จึงเริ่มปรับมาเป็นอาหารธรรมดา ที่มีเนื้อหยาบขึ้นตามลำดับ

อาหารธรรมดาที่ผู้ป่วยทดลองรับประทาน ยังควรเป็นอาหารที่มีไขมันต่ำ ไม่เติมน้ำตาล งดการทอดอาหาร ลักษณะเนื้อสัมผัสนุ่ม แต่ไม่ต้องบดละเอียด รสชาติอาหารไม่จัดจ้านเกินไป ผักที่นำมาปรุงให้สุกนุ่ม ผลไม้สุกนิ่ม(กล้วย มะละกอ มะม่วงสุก) อาหารที่ปรุงไม่ควรทอดน้ำมัน อาทิ ปลา/เนื้อไก่อบซอสให้นุ่ม ปลาย่าง/อบ ปลาต้มเค็ม-หวาน หรือต้มยำ ไข่คน ก๋วยเตี๋ยวไก่/หมูตุ๋น สลัดผักต้ม

ระยะที่ 4 1 เดือนหลังการผ่าตัด ในระยะนี้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่ยังคงต้องรับประทานอาหารที่มีโปรตีนสูง ซึ่งจะใช้ในการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ช่วยการหายของแผล และรักษาเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อ อาหารสำหรับผู้ป่วยในระยะนี้ถือว่าเป็นอาหารที่ผู้ป่วยจะต้องรับประทานไปตลอดเพื่อรักษาสภาพของการควบคุมน้ำหนักในระยะยาว โดยใช้หลักของอาหารสุขภาพ คือ อาหารที่มีไขมันต่ำ น้ำตาลน้อยไม่เกิน 4 – 6 ช้อนชาต่อวัน รับประทานผักและผลไม้ตามปกติ แต่จะต้องเคี้ยวอย่างละเอียด และควรรับประทานวิตามินและแร่ธาตุ ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด.

อ้างอิง

ธัญเดช นิมมานวุฒิพงษ์. Nutrition Planning and Determination. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.

ประณิธิ หงสประภาส.การประเมินภาวะโภชนาการ.[อินเทอร์เน็ต ].[เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 ] เข้าถึงได้จาก http://med.md.kku.ac.th/site_data/mykku_med/701000016/resume/Nutritional_assessment.doc