จะกินอย่างไรเมื่อผ่าตัดกระเพราะอาหารลดความอ้วน (Bariatric Surgery) ตอนที่ 2

จะกินอย่างไรเมื่อผ่าตัดกระเพราะอาหารลดความอ้วน

การดูแลด้านโภชนาการหลังการผ่าตัดจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จำเป็นต้องให้การดูแลเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ โดยผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำ และการติดตามประเมินภาวะโภชนาการ อย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปีหลังการผ่าตัดกระเพาะอาหาร

ในหกสัปดาห์หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับอาหารน้ำใส(clear liquid) อาหารทุกอย่างต้องได้รับการบดจนละเอียด และให้ปริมาณโปรตีนสูง ซึ่งนักโภชนาการจะเป็นผู้ประเมินและกำหนดปริมาณพลังงานและสารอาหารต่างๆให้โดยจะกล่าวถึงในบทต่อไป

การประเมินภาวะโภชนาการผู้ป่วยหลังการผ่าตัดกระเพาะอาหาร การประเมินน้ำหนักตัวที่ลดลง ประเมินภาวะแทรกซ้อนด้านโภชนาการที่เกี่ยวข้องกับโรคร่วม

Reactive hypoglycemia ซึ่งเป็นภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดจะมีภาวะเช่นนี้บ่อยๆ โดยมากมักเกิดหลังจากรับประทานอาหาร 2 – 4 ชั่วโมงเนื่องจากลำไส้มีการดูดซึมน้ำตาลเร็วเกินไปซึ่งจะกระตุ้นตับอ่อนให้หลั่งอินซูลินมามากทำให้ระดับน้ำตาลให้ลดลงเร็ว ใจสั่น เหงื่อออก เวียนศีรษะ ตาพร่า หงุดหงิดและอาจหมดสติ

ดังนั้นผู้ป่วยควรจะต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติ โดยการเลือกรับประทานอาหารดังนี้

  • ต้องเพิ่มมื้ออาหารโดยแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ 5 – 6 มื้อหรือโดยประมาณทุกสามชั่วโมง
  • เลือกอาหารที่มีเส้นใยสูงและอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ อาทิ ข้าวซ้อมมือ ธัญพืช แอบเปิ้ล ฝรั่ง ส้มเขียวหวาน สามารถใช้เป็นอาหารในมื้อว่างได้ โดยในระยะผู้ป่วยหลังการผ่าตัดซึ่งจะต้องรับประทานอาหารที่บดละเอียด อาจใช้น้ำผลไม้นำมาบดกับข้าวโอ๊ต รำข้าว จมูกข้าว นมสด เป็นต้น
  • การรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ นมพร่องมันเนย เป็นอันดับแรก ของการรับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณ 50 – 100 กรัมจะช่วยลดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติได้
  • ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงอาหารประเภทน้ำตาลเข้มข้น เช่น น้ำหวานต่างๆ ขนมหวาน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขนมโดยเฉพาะที่มีแป้งทอด
  • หลีกเลี่ยงคาเฟอีน ที่มีในกาแฟ ชาเย็น เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ช๊อคโกแลต

อ้างอิง

ธัญเดช นิมมานวุฒิพงษ์. Nutrition Planning and Determination. โภชนศาสตร์ทางคลินิก;2553.สำนักพิมพ์กรุงเทพเวชสาร.กรุงเทพฯ.

ประณิธิ หงสประภาส.การประเมินภาวะโภชนาการ.[อินเทอร์เน็ต ].[เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 ] เข้าถึงได้จาก http://med.md.kku.ac.th/site_data/mykku_med/701000016/resume/Nutritional_assessment.doc

ศุภวรรณ บูรณพิร. Obesity in practice . Nutrition Update. สมาคมหลอดเลือดดำและทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ; 2556.โรงพิมพ์พราวเพรส(2002)จำกัด .กรุงเทพฯ.

สุริยะ พันธ์ชัย.การรักษาโรคอ้วนด้วยวิธีการผ่าตัด Bariatric Surgery.ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ; 2556