คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: การรักษาโรคมะเร็งด้วยความร้อน (Hyperthermia)

ในการฆ่าเซลล์ที่รวมถึงเซลล์มะเร็ง การใช้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงถึงระดับหนึ่งก็สามารถทำให้การทำงานของเซลล์มะเร็งเปลี่ยนแปลงไป และเมื่ออุณหภูมิสูงเพิ่มขึ้นอีกจนถึงอีกระดับหนึ่งก็สามารถทำให้เซลล์และเนื้อเยื่อมะเร็งตายได้ ซึ่งการใช้ความร้อนในการรักษามะเร็งนี้ ทางการแพทย์เรียกว่า Hyperthermia(พจนานุกรมศัพท์แพทยศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2547 แปลว่า ภาวะตัวร้อนเกิน)

การทำให้เนื้อเยื่อมะเร็งมีอุณหภูมิสูงในช่วง 40-42 องศาเซลเซียส(C, Celsius) นี้ คือความหมายของการรักษามะเร็งที่เรียกว่า Hyperthermia ซึ่งจะทำให้เซลล์มะเร็งบางส่วนตายได้ แต่ไม่ใช่เนื้อเยื่อมะเร็งทั้งหมด แต่ความร้อนระดับนี้จะทำให้เนื้อเยื่อมะเร็งทั้งหมดเกิดการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติ ที่ทำให้เพิ่มการตอบสนองที่ดีต่อรังสีรักษาและ/หรือยาเคมีบำบัด เซลล์มะเร็งจึงตายมากขึ้นเมื่อให้ความร้อนระดับนี้ร่วมกับรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด ดังนั้นHyperthermia จึงมักใช้รักษาร่วมกันกับรังสีรักษาและ/หรือยาเคมีบำบัดเสมอ

ดังนั้น การตายของเซลล์/เนื้อเยื่อ/ก้อนมะเร็งจากHyperthermia จึงเป็นการตายจากรังสีรักษา และ/หรือจากยาเคมีบำบัด โดยการช่วยเหลือจาก Hyperthermia ที่ทำให้เซลล์มะเร็งตอบสนอง/ถูกฆ่าได้สูงขึ้นจากรังสีรักษาและ/หรือยาเคมีบำบัดเมื่อเซลล์มีความร้อนในตัวเซลล์สูงขึ้น

อนึ่ง เนื้อเยื่อปกติจะกำจัดความร้อนได้ดีกว่าเนื้อเยื่อมะเร็ง ดังนั้นเนื้อเยื่อปกติจึงมีอุณหภูมิใกล้เคียงปกติ จึงมักไม่ได้รับอันตรายจาก Hyperthermia

แต่ถ้าทำให้อุณหภูมิเนื้อเยื่อมะเร็งสูงกว่านี้มักเป็นในระดับสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้เกิดเนื้อเยื่อ/ก้อนมะเร็งเกิดการตายชนิดที่เรียกว่า การตายเฉพาะส่วน (Necrosis) ซึ่งเป็นการรักษามะเร็งด้วยความร้อนสูงที่ได้จากคลื่นวิทยุ ที่เรียกว่า Ridiofrequency ablation และจากความร้อนสูงที่ได้จากคลื่นเสียงความเข้มสูง ที่เรียกว่า ไฮฟู (HIFU) ดังได้เล่าให้ฟังแล้วในตอนก่อนหน้านี้ ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้ อาจใช้รักษามะเร็งเพียงวิธีการเดียว หรือ ร่วมกับ การผ่าตัด รังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัดก็ได้ หลังจากก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กจากการตายของเซลล์มะเร็ง ดังนั้น จึงไม่เรียกทั้ง 2 วิธีการว่า Hyperthermia

Hyperthermia ใช้รักษาร่วมกับรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัดในหลายโรคมะเร็งที่เป็นเซลล์ชนิดที่ดื้อต่อรังสีรักษา และ/หรือต่อยาเคมีบำบัด เช่น มะเร็งเต้านมระยะกลับเป็นซ้ำที่เต้านม มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูกที่ก้อนมะเร็งมีขนาดโตมาก มะเร็งในระบบศีรษะและลำคอ มะเร็งที่ลุกลามมาต่อมน้ำเหลืองและต่อมน้ำเหลืองมีขาดโตมาก มะเร็งตับอ่อน และมะเร็งต่อมไทรอยชนิดที่ดื้อต่อน้ำแร่รังสีไอโอดีน ฯลฯ

การรักษาด้วย Hyperthermia แบ่งเป็น 3 วิธีการคือ การให้ความร้อนเฉพาะก้อนมะเร็ง (Local hyperthermia), การให้ความร้อนเฉพาะส่วนของร่างกาย(Regional hyperthermia), และการให้ความร้อนทั่วทั้งตัว (Whole body hyperthermia)ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ผลิตความร้อน หรือให้การรักษาด้วยHyperthermia มีหลายรูปแบบ เช่น ความร้อนจากกระแสไฟฟ้า ความร้อนจากคลื่นวิทยุ หรือความร้อนจากคลื่นเสียง

การรักษามะเร็งด้วยความร้อนเฉพาะก้อนมะเร็ง มักเป็นการรักษาโรคมะเร็งที่เกิดในตำแหน่งตื้นๆ เช่น ผิวหนัง เต้านม

การรักษามะเร็งด้วยความร้อนเฉพาะส่วน มักใช้รักษามะเร็งที่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองแล้ว เช่น มะเร็งผิวหนังระยะลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง,มะเร็งรังไข่ที่ลุกลามในช่องท้อง

การรักษามะเร็งด้วยความร้อนทั้งตัว เช่น ในโรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาระยะแพร่กระจายทั้งตัว

ผลข้างเคียงจาก Hyperthermia มีเล็กน้อย ไม่รุนแรง เช่น อาการปวดตรงตำแหน่งที่รักษา หรือเป็นแผลคล้ายโดนไฟไหม้ที่ผิวหนังตำแหน่งที่สอดใส่เครื่องมือให้ความร้อน

อย่างไรก็ตาม Hyperthermia ไม่ค่อยได้รับความนิยมเพราะควบคุมอุณหภูมิในก้อนมะเร็ง หรือเฉพาะส่วน หรือทั้งตัวไม่ค่อยได้ ส่งผลให้การรักษาได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร

ในประเทศไทยเอง มีบางโรงพยาบาลนำเทคนิคนี้มาใช้เมื่อหลายปีมาแล้ว แต่มีปัญหาหลายประการ ปัจจุบันจึงยังไม่มีการรักษาวิธีนี้ในประเทศไทย

แหล่งข้อมูล

  1. http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Therapy/hyperthermia [2014,March18].
  2. http://www.cancer.org/treatment/treatmentsandsideeffects/treatmenttypes/hyperthermia [2014,March18].