คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: คนโสดและคนที่มีชีวิตคู่ส่งผลอย่างไรกับโรคมะเร็ง?

ในการประชุมใหญ่ประจำปีของสมาคมใหญ่สมาคมหนึ่งด้านโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกาที่เรียกว่า ASCO (American Association of Clinical Oncology) ในปี 2013 มีการนำเสนอรายงานการศึกษาที่น่าสนใจมากการศึกษาหนึ่งในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่ศึกษาถึงปัญหาสังคมที่มีผลกระทบสำคัญต่อโรคมะเร็ง ทั้งในด้านระยะโรค การรักษา และอัตรารอดชีวิตจากโรคมะเร็ง

การศึกษานี้ ดำเนินการศึกษาโดยกลุ่มแพทย์จากสถาบัน/โรงพยาบาลต่างๆด้านโรคมะเร็งในสหรัฐอเมริกา ที่นำโดย นพ. Aizer, A. แพทย์ด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โดยเป็นการศึกษาในผู้ป่วยโรคมะเร็งช่วงปี ค.ศ. 2004-2008 ทั้งหมด 734,889 คน ในโรคมะเร็งที่พบบ่อยในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด เช่น มะเร็งปอด ลำไส้ใหญ่ เต้านม ตับอ่อน ต่อมลูกหมาก ตับ ต่อมน้ำเหลือง อวัยวะในระบบศีรษะและลำคอ รังไข่ และหลอดอาหาร ในกลุ่มนี้ เป็นคนโสด 275,728 ราย มีชีวิตคู่ 459,161 ราย ซึ่งทั้ง 2 กลุ่ม การศึกษาได้ครอบคลุมถึง อายุ เพศ เชื้อชาติ การศึกษา รายได้ คนในเมือง คนต่างจังหวัด ชนิดโรคมะเร็ง และระยะโรค

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่ใช้ชีวิตคู่ พบโรคมะเร็งในระยะแพร่กระจาย(ระยะ 4) น้อยกว่าในคนโสด, สามารถรับการรักษาโรคมะเร็งได้ครบถ้วนตามแพทย์กำหนดได้สูงกว่าในคนโสด, และ มีอัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งน้อยกว่าในคนโสด ทั้งนี้ในทุกประเด็น และทั้ง 2 กลุ่ม มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และโดยเฉพาะในผู้ป่วยเพศชาย ทั้งนี้ ผลแตกต่างนี้ยังคงอยู่เช่นกันทั้งการศึกษาที่รวมทุกโรคมะเร็ง และเมื่อแยกเป็นการศึกษาในแต่ละชนิดของโรคมะเร็ง

ซึ่งผลจากการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่า การมีชีวิตคู่ จะทำให้มีคนเอาใจใส่ คอยดูแล ให้กำลังใจ ช่วยกันแก้ไขปัญหา ร่วมทุกข์ร่วมสุข ส่งผลถึง การเข้าถึงแพทย์ได้รวดเร็วขึ้น (ทำให้พบโรคได้เร็วขึ้น ตั้งแต่ยังเป็นระยะที่ไม่รุนแรง) , การมีคนดูแล เป็นกำลังใจ ช่วยให้สามารถรักษาโรคได้ครบถ้วนตามแผนการรักษาของแพทย์ ซึ่งทั้ง 2 กรณีเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ อัตราเสียชีวิตจากโรคมะเร็งลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

จากผลการศึกษา จึงเห็นได้ว่า ครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญมากปัจจัยหนึ่งในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งทุกคน รวมถึง โรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรไม่แสวงผลกำไรต่างๆ จำเป็นต้องตระหนักถึงเรื่องนี้ และควรมีการเกื้อกูล ดูแล ช่วยเหลือ ผู้ป่วยมะเร็งโดยเฉพาะคนโสดอย่างจริงจัง ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มคุณภาพการรักษาและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งให้ดีขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ

บรรณานุกรม

  1. Aizer,A. et al. (2013). J Clin Oncol. http://jco.ascopubs.org/content/early/2013/09/18/JCO.2013.49.6489.abstract [2014,Jan13].