คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: ไวน์แดงป้องกันโรคมะเร็งได้จริงหรือ?

มีการพูดกันหลายปากว่า ไวน์แดงป้องกันมะเร็งได้ ในทางการแพทย์ ความจริง คือ อะไร

การศึกษาทางการแพทย์ พบว่าในผิวและเมล็ดขององุ่นทั้งเขียวและแดง มีสารต้านอนุมูลอิสสระ ที่จัดอยู่ในกลุ่ม สารพฤกษเคมี ที่สามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในการศึกษาในห้องทดลองได้ ซึ่งได้แก่ สาร Resveratrol โดยสารนี้จะมีมากกว่ามากมายในเปลือกองุ่นแดง และสารนี้จะออกฤทธิ์ได้ดีเมื่ออยู่ในรูปของการหมัก ซึ่งในภาพรวม ก็คือ ไวน์แดง ไม่ใช่ไวน์ขาว และไม่ใช่จากกินองุ่นสด

ทั้งนี้ Resveratrol นอกจากพบสูงในเปลือกองุ่นแดงแล้ว ยังพบได้สูงในถั่วลิสง ทั้งเมื่อเป็นถั่วดิบและถั่วต้มสุก และในเมล็ดโกโก้

การศึกษาเรื่องของไวน์แดงที่มีผลต้าน/ป้องกันโรคมะเร็งได้ ยังจำกัดมากในการศึกษาทางการแพทย์ โดยมักยังอยู่ในระยะที่ 1,2 ของการศึกษา และจำนวนผู้ป่วยที่นำมาศึกษาก็ยังน้อยมาก ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ อีกทั้งผลการศึกษาทางการแพทย์ต่างๆก็ยังให้ผลขัดแย้งกัน ไม่สอดคล้องกัน มีทั้งไม่พบว่า สามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งได้, ไม่มีผลกระทบใดๆต่ออัตราการเกิดมะเร็งชนิดพบบ่อย, และเพิ่มอัตราการเกิดมะเร็งชนิดพบบ่อยให้สูงขึ้น ดังนั้นการศึกษาทางการแพทย์ที่มีในปัจจุบัน จึงยังไม่มีข้อสรุป จึงยังไม่มีการแนะนำการ ดื่มไวน์แดงเพื่อช่วยลดโอกาสเกิดโรค/ป้องกันโรคมะเร็ง

แต่ทุกการศึกษาทางการแพทย์ให้ผลตรงกันว่า การดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งรวมถึงไวน์แดงในปริมาณสูงต่อเนื่องทุกวัน เป็นปัจจัยเสียงต่อโรคมะเร็งชนิดพบบ่อย เช่น มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม และมะเร็งของอวัยวะในระบบศีรษะและลำคอ

สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา แนะนำการดื่มไวน์ที่ไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่ออัตราการเกิดโรคมะเร็งชนิดพบบ่อย คือ วันละไม่เกิน 150 มิลลิลิตรในผู้ชาย ส่วนในผู้หญิงให้ลดปริมาณลงครึ่งหนึ่งเพราะกายวิภาคและสรีรวิทยาผู้หญิงมีขนาดเล็กกว่าในผู้ชาย นั่นคือไม่เกินวันละ 75 มล.

ในเมื่อยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่สนับการดื่มไวน์แดง และไวน์แดงก็ไม่ใช่อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ นอกจากนั้น โอกาสเกิดโทษยังชัดเจน เมื่อรวมถึงราคาด้วย ดังนั้น การบริโภคไวน์แดง (ถ้าต้องการ/ชอบจริงๆ) ในปริมาณที่สมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำ จึงเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดในขณะนี้

แหล่งข้อมูล:

  1. Kushi,L. et al. (2012). American Cancer Society Guidelines on Nutrition and Physical Activity for Cancer Prevention. CA Cancer J Clin. 62, 30-67.
  2. http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Risk/alcohol [2013,Dec18].
  3. Resveratrol http://en.wikipedia.org/wiki/Resveratrol [2013,Dec18].