คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน สถิติอัตรารอดจากมะเร็งกระเพาะอาหารของสหรัฐอเมริกา

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-292

      

      

      การศึกษาอัตรารอดของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ เป็นการศึกษาจาก Population base cancer registry ช่วง ค.ศ. 2001-2009 โดยเป็นข้อมูลจากโครงการศึกษาร่วมที่ชื่อ “The CONCORD-2 Study” การศึกษานี้รายงานในวารสารการแพทย์สหรัฐอเมริกา ชื่อ Cancer เมื่อ 15 ธันวาคม 2017 คณะผู้ศึกษานำโดย Melissa A. Jim นักวิทยาศาสตร์จาก National Center for Chronic Disease Prevention and Health Promotion, CDC Atlanta สหรัฐอเมริกา การศึกษานี้ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารช่วงอายุ15-99ปี

      ผลการศึกษาพบว่า ประมาณ1/3ของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารจะมาพบแพทย์ในโรคระยะที่โรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิตแล้ว ทั้งนี้อัตรารอดชีวิตที่5ปีของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาการรวมทุกระยะโรคในช่วงปี ค.ศ. 2001-2003 จะเป็น26.1% และเพิ่มเป็น29%ในช่วงปี 2004-2009 โดยอัตรารอดฯรวมทุกระยะโรคที่1-ปี, 3ปี, จะเป็น 53.1%, 33.8% ตามลำดับ ทั้งนี้อัตรารอดฯที่5ปี ในโรคฯระยะจำกัดเฉพาะที่จะเป็น 64%, โรคระยะลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองจะเป็น28.2%,และโรคระยะแพร่กระจายจะเป็น5.3%

      คณะผู้ศึกษาสรุปว่า มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นมะเร็งอีกชนิดที่มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี ทั้งนี้จากอาการโรคฯจะเช่นเดียวกับโรคกระเพาะอาหารสาเหตุอื่นๆทัวไป จึงส่งผลให้การวินิจฉัยโรคฯมักล่าช้า เมื่อตรวจพบ โรคฯจึงมักเป็นระยะลุกลามแล้ว ดังนั้นการจะเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้สูงขึ้น คือการตรวจพบโรคฯ ให้เร็วขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีปัจจัยเสี่ยง

      แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหาร ดังนั้นผู้มีปัจจัยเสี่ยงจึงควรปรึกษาแพทย์เป็นกรณีๆไป

      อนึ่ง มะเร็งกระเพาะอาหาร มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคที่ขึ้นกับตำแหน่งที่เกิดมะเร็ง โดยแบ่งเป็นมะเร็งที่กระเพาะอาหารส่วนต้น/ส่วนต่อจากหลอดอาหารที่เรียกว่าส่วน Cardia(ส่วนปากกระเพาะ) และมะเร็งในส่วนที่ต่ำกว่าCardia ลงไป ที่เรียกว่า Non-cardia ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารทั้ง2ส่วน คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, สูบบุหรี่, กินอาหารใยอาหารต่ำ, กินอาหารหมักดองหรือที่แปรรูปด้วยเกลือ,สูงอายุ,เพศชาย, มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร,ขาดการออกกำลังกาย, และเคยได้รับรังสีบริเวณกระเพาะอาหาร นอกจากนั้นปัจจัยเพิ่มเติมต่อการเกิดโรคฯที่ Cardia คือ อ้วน และเป็นโรคกรดไหลย้อน

แหล่งข้อมูล:

  1. Cancer2017;123:4994-5013