คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็งตอน ต่อมน้าเหลืองรักแร้กับอัตรารอดชีวิตที่10ปีของมะเร็งเต้านม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

ปัจจุบัน แพทย์โรคมะเร็งเข้าใจธรรมชาติของโรคมะเร็งเต้านมดีขึ้นมาก ส่งผลให้มีการศึกษาค้นพบยารักษาที่มีประสิทธิภาพที่ส่งผลให้อัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสูงขึ้น ดังนั้นแพทย์จึงพยายามศึกษาหาปัจจัยต่างๆที่เป็นตัวช่วยแพทย์บ่งชี้ว่า ผู้ป่วยกลุ่มใดจะได้รับผลการรักษาที่ดีจากการรักษามาตรฐาน และกลุ่มใดที่มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี ที่ควรต้องมีการรักษาเพิ่มเติมจากการรักษามาตรฐานหรือต้องนำมาศึกษาหาวิธีการรักษาที่แตกต่างออกไป

แพทย์กลุ่มนี้ นำโดย พญ. Sarah. S. Mougalian จากมหาวิทยาลัย the University of Texas MD Anderson Cancer Center in Houston สหรัฐอเมริกา ที่ได้ศึกษาในกลุ่มมะเร็งเต้านมระยะที่ 2,3 ที่มีโรคลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด้านที่เกิดโรคว่า การรักษาที่ควบคุมโรคมะเร็งที่รักแร้ได้ มีผลต่ออัตรารอดของผู้ป่วย รวมถึงอัตราย้อนกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมหรือไม่ ซึ่งการศึกษานี้ตีพิมพ์ล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ตเมื่อ ธันวาคม 2015 ในวารสารการแพทย์ชื่อ JAMA Oncology

คณะแพทย์ได้ทำการศึกษา(เป็นการศึกษา ย้อนหลัง)ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพศหญิงอายุ 21-86 ปี ทั้งหมด 1,600รายในช่วงปี 1989-2007 และติดตามผลการรักษาอย่างน้อย 10ปี ทั้งนี้การรักษาหลัก คือ การใช้ยาเคมีบำบัด อาจร่วมกับยารักษาตรงเป้าในผู้ป่วยบางราย

ผลการศึกษาพบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยที่แพทย์รักษาจนครบตารางการรักษา แล้วแพทย์ตรวจไม่พบเซลล์มะเร็งในต่อมน้ำเหลืองรักแร้ด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยามีทั้งหมด 28.4%(454ราย) ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอัตราอยู่รอดที่ 10 ปี/10 year overall survival rate/OS ( 84%)สูงกว่าอัตรารอดที่10ปี(57%)ในผู้ป่วยกลุ่มที่รักษาครบแล้วแต่ยังตรวจพบเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่ที่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ อย่างมีความสำคัญทางสถิติ p< 0.001 นอกจากนั้น อัตรารอดจากมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำ(Relapse free survival/RFS) ก็ยังสูงกว่าอย่างมีความสำคัญทางสถิติด้วยเช่นกัน คือ 89% ต่อ 44% (p<0.001)

คณะแพทย์ผู้ศึกษา จึงสรุปผลว่า การรักษาควบคุมโรคที่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้มีความสำคัญและใช้เป็นปัจจัยในการพยากรณ์ผลการรักษามะเร็งเต้านมในระยะ 2,3 ได้

จากการศึกษาครั้งนี้ แพทย์จะใช้เป็นแนวทางในการศึกษาต่อไป เพื่อศึกษาหาวิธีรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะ 2,3ที่การรักษามาตรฐานครบแล้ว แต่ยังตรวจพบเซลล์มะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้

บรรณานุกรม

http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/26720728 [2016,Aug20].