คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน: อัตราการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งในคนที่จะไม่ได้ประโยชน์

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง

การตรวจคัดกรองมะเร็ง เป็นการตรวจที่มีประโยชน์ ที่สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ ปัจจุบันที่แนะนำ และแพทย์ทุกท่านรวมถึงทุกองค์กรด้านโรคมะเร็งมีความเห็นที่ตรงกัน คือ การตรวจคัดกรอง มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนในมะเร็งต่อมลูกหมากยังคงมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ แต่ก็นิยมทำกันในสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม การตรวจคัดกรองมะเร็ง มีค่าใช้จ่าย และต้องตรวจโดยแพทย์เฉพาะทาง ดังนั้นในภาพรวมค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดจึงสูงมาก ดังนั้น ด้านการแพทย์ จึงเน้นว่า การตรวจคัดกรองฯ ควรทำเฉพาะในผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการตรวจคัดกรองเท่านั้น(คือต้องลดอัตราการเสียชีวิตโดยรวมลงได้) ซึ่งที่ยอมรับกัน คือ ผู้เข้ารับการตรวจคัดกรองควรต้องมีสุขภาพที่แพทย์ประเมินแล้วสามารถมีอายุอยู่ได้นานกว่า 9 ปี (Life expectancy/ อายุคาด) คือ ตั้งแต่ 10 ปี นับจากวันที่ตรวจ ซึ่งถ้าต่ำกว่านี้ การตรวจคัดกรองจะไม่ให้ประโยชน์ เพราะไม่สามารถลดอัตราเสียชีวิตลงได้ รวมถึงเสียค่าใช้จ่ายโดยเปล่าประโยชน์ และที่สำคัญที่สุด คือ อาจได้รับผลข้างเคียงจากกาตรวจคัดกรองโดยไม่จำเป็นโดยเฉพาะจากการตัดชิ้นเนื้อในมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือจากการส่องกล้องในมะเร็งลำไส้ใหญ่ รวมไปถึง ปรากฏการณ์ที่ทางการแพทย์เรียกว่า Over diagnosis ที่จะทำให้ผู้ถูกคัดกรองได้รับการรักษาที่ไม่สมควร ได้รับผลข้างเคียงจากการรักษาโรคโดยไม่จำเป็น และผู้ที่มีโอกาสมีชีวิตอยู่ได้ต่ำกว่า 9 ปี ก็มักมีสุขภาพที่ไม่สามารถรับการรักษาโรคมะเร็งเพื่อหายขาดได้ โดยเฉพาะจากยาเคมีบำบัด

ดังนั้นในประเทศตะวันตกที่มีระบบสาธารณสุขที่พื้นฐานจะต้องขึ้นกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์/การศึกษาวิจัย จึงทำการศึกษาในเรื่องนี้ว่า มีอัตราการคัดกรองมะเร็งที่ ไม่น่าได้ประโยชน์ต่อบุคคลทั่วไป(ขอเรียกว่าผู้ป่วยคะ) จำนวนมากน้อยเพียงใด เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายการให้บริการคัดกรองมะเร็งของประเทศ

การศึกษานี้ เป็นการศึกษาจากประเทศ สหรัฐอเมริกา และได้เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ชื่อ JAMA Internal Medicine โดยเผยแพร่ล่วงหน้าทางอินเทอร์เน็ทเมื่อ 18 สิงหาคม 2014 คณะผู้ศึกษา นำโดย นพ. Royce, Trevor จากมหาวิทยาลัย North Calorina at Chapel Hill โดยศึกษาข้อมูลจากแฟ้มประวัติผู้เข้ารับการคัดกรองมะเร็งของประเทศ (the National Health Interview Survey) โดยเป็นข้อมูลในปี 2000 -2010 จาก ผู้ตรวจคัดกรองมะเร็ง 4 ชนิด คือ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่มีอายุอยู่ในช่วง ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงอายุที่จะมีปัญหาทางสุขภาพที่ส่งผลให้อาจมี Life expectancy/อายุคาด ต่ำกว่า 9 ปี ทั้งหมด 27, 404 คน โดยแบ่งผู้ป่วยเป็นกลุ่มที่โอกาส ต่ำ ปากกลาง และโอกาสสูง ที่จะมีอายุคาดไม่ถึง 9 ปีนับจากวันตรวจฯ

ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่อายุคาดเฉลี่ยต่ำกว่า 9 ปีที่ได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งทั้ง 4 ตัวรวมกัน มีสูงถึง 31-55% ของการตรวจคัดกรองฯทั้งหมด ในการนี้มักพบในการคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่ามะเร็งชนิดอื่น ส่วนในมะเร็งปากมดลูกก็พบว่า การตรวจคัดกรองทำในผู้ป่วยที่ตัดมดลูกออกไปแล้วจากโรคทั่วไป ก็ยังมีการตรวจคัดกรองด้วย แปบสเมียร์ สูงถึง 34-56% นอกจากนั้น ผู้มีอายุคาดน้อยกว่า 5 ปีจำนวนมากก็ยังได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่างๆอยู่

คณะผู้ศึกษา สรุปผลการศึกษาว่า ยังมีการตรวจคัดกรองมะเร็งทั้ง 4 ชนิดเป็นจำนวนมากโดยไม่ได้ยึดมั่นในข้อบ่งชี้ของการตรวจคัดกรองมะเร็งเหล่านี้ อันนำมาซึ่งการไม่ได้ประโยชน์ต่อผู้รับการตรวจ ทั้งในด้านการลดอัตราการเสียชีวิต ผลข้างเคียงจากการตรวจ การรักษา และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น

ประโยชน์จากการศึกษานี้คือ การเผยแพร่ข้อมูลถึง ประโยชน์ โทษ และข้อบ่งชี้การตรวจคัดกรองมะเร็งให้แก่ ทั้งแพทย์ บุคคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนให้เข้าใจ เพื่อลดการตรวจในกลุ่มประชากรที่ไม่จำเป็น เพื่อลดปัญหาจากคิวการตรวจ ผลข้างเคียงจากการตรวจ และค่าใช้จ่าย อนึ่งที่ต้องรณรงค์ให้ประชาชนทราบด้วยก็เพราะ ประชาชนหลายคน มักต้องการตรวจ เพราะถือว่าเป็นสิทธิ ซึ่งถ้าแพทย์ไม่ตรวจให้ ก็มักเกิดปัญหาทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับประชาชน ซึ่งด้วยสถานการณ์ในปัจจุบัน อาจลุกลามเป็นปัญหาทางกฏหมายได้

บรรณานุกรม

  1. http://archinte.jamanetwork.com/article.aspx?articleid=1897549 [2015,May 16]