กลิ่นตัว กลิ่นเต่า (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

กลิ่นตัวกลิ่นเต่า

ภาวะสุขภาพบางอย่างก็อาจเป็นสาเหตุให้เหงื่อมีกลิ่นแปลกแตกต่างกันไป เช่น กลิ่นเหมือนผลไม้ (Fruity smell) เป็นสัญญาณของโรคเบาหวาน กลิ่นเหมือนสารฟอกขาว (Bleach-like smell) อาจเป็นสัญญาณของโรคตับหรือโรคไต

การดูแลร่างกายให้ปราศจากกลิ่นตัว ทำได้ด้วยการรักษาร่างกายให้สะอาดปลอดจากแบคทีเรีย โดยเฉพาะบริเวณที่มีเหงื่อมากที่สุด เช่น รักแร้ อวัยวะเพศ และเท้า ควรดูแลให้สะอาดและแห้งเพื่อลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง

การใช้ยาลดการขับเหงื่อ (Antiperspirant) หรือยาระงับกลิ่นกาย (Deodorant) ทุกวัน จะช่วยป้องกันการเกิดกลิ่นได้ เพราะยาลดการขับเหงื่อ จะทำงานด้วยการลดปริมาณเหงื่อที่ร่างกายสร้างขึ้น ส่วนยาระงับกลิ่นกายจะใช้น้ำหอมในการปกปิดกลิ่นของเหงื่อ

(อย่างไรก็ดีงานวิจัยบางฉบับที่ระบุว่า ยาลดการขับเหงื่อ อาจมีส่วนก่อให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด)

อะลูมิเนียมคลอไรด์ (Aluminium chloride) เป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับยาลดการขับเหงื่อ เป็นยาที่มักใช้ทุกวันก่อนนอนและล้างออกในตอนเช้า เนื่องจากเหงื่อจะหยุดขณะนอนหลับ ดังนั้นสารนี้จะสามารถซึมเข้าไปยังต่อมเหงื่อเพื่อป้องกันการสร้างเหงื่อ

นอกจากนี้ยังมีวิธีจี้เส้นประสาทอัตโนมัติ (Endoscopic thoracic sympathectomy = ETS) ที่ใช้ทำลายเส้นประสาทที่ควบคุมการไหลของเหงื่อ อย่างไรก็ดี วิธีนี้มีความเสี่ยงที่หลอดเลือดและเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียงจะถูกทำลายไปด้วย จึงควรปรึกษาแพทย์ให้แน่ใจก่อน

การฉีดสารพิษโบทูลินัม (Botulinum toxin) หรือที่เรียกกันว่า “โบท็อกซ์” ในบริเวณต่างๆ เช่น รักแร้ มือ เท้า หรือหน้า สารนี้จะยับยั้งสัญญาณจากสมองไปยังต่อมเหงื่อให้ลดการสร้างเหงื่อ ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที และสามารถอยู่ได้นาน 2-8 เดือน หลังจากนั้นจึงทำการฉีดใหม่

ต่อไปนี้เป็นวิธีการดูแลกลิ่นกายด้วยตัวเองซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • อาบน้ำทุกวันเพื่อขจัดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง หากวันไหนร้อนมากก็อาจจะอาบน้ำมากกว่าปกติ
  • ใช้สบู่แอนตี้แบคทีเรีย (Antibacterial soap)
  • หลังการอาบน้ำ ควรเช็ดตัวให้แห้งสนิท โดยเฉพาะบริเวณที่มีเหงื่อมาก เพราะผิวที่แห้งจะทำให้แบคทีเรียกระจายตัวยาก
  • ใช้ยาระงับกลิ่นกายหรือยาลดเหงื่อหลังการอาบน้ำ
  • โกนขนรักแร้เพื่อให้เหงื่อสามารถระเหยได้เร็วขึ้น ทำให้เกิดการสะสมของแบคทีเรียน้อยลง เพราะขนดังกล่าวจะเป็นที่อาศัยของเหงื่อและกลิ่นทำให้แบคทีเรียเพิ่มขึ้น
  • สวมเสื้อใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย ที่เหงื่อสามารถระบายได้เร็ว
  • จำกัดการกินอาหารรสจัด เช่น แกง กระเทียม เนื้อสัตว์ ที่ทำให้เหงื่อมีกลิ่น

และหากการดูแลตัวเองไม่ได้ผล กลิ่นยังรุนแรงอยู่อาจใช้วิธีการผ่าตัดต่อมเหงื่อ หรือการดูดไขมัน (Liposuction)

แหล่งข้อมูล

1. Body odour. http://www.nhs.uk/conditions/body-odour/Pages/Introduction.aspx[2015, December 31].

2. 6 Tips for Reducing Body Odor. http://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/reduce-body-odor[2015, December 31].

3. Body Odor: Causes, Prevention, Treatments. http://www.medicalnewstoday.com/articles/173478.php[2015, December 31].