9. ตลาดการแพทย์ทางไกล – ตอนที่ 7

ตลาดการแพทย์ทางไกล

การแพร่ระบาดไปทั่วโลก (Pandemic) ของไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตใหม่ (New normal) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (Inevitable) แต่ในวิกฤต (Crisis) ย่อมมีโอกาส (Opportunity) สำหรับประเทศจีนแล้ว การแพร่ระบาดครั้งนี้เปิดโอกาสให้เกิดการนำระบบทางไกล (Distant system) ไปใช้ในหลายๆ ภาคส่วน

การแพทย์ทางไกล หรือ โทรเวชกรรม (Tele-medicine) เป็นระบบการแพทย์ที่ช่วยให้แพทย์ สามารถวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยได้แม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกันกับแพทย์ ซึ่งภาคธุรกิจการแพทย์ทางไกลของจีน ได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต แม้สถานการณ์การระบาดในจีนจะคลี่คลายไปมากแล้วก็ตาม

ประเทศจีนเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศที่ประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์อย่างมาก โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Commission : NHC) ของจีน เปิดเผยว่า ณ สิ้นปี พ.ศ. 2562 จีนมีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากร 1,000 คนอยู่ที่ 2.77 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 3.4 คน

ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของจีน จึงส่งผลให้การนัดหมายแพทย์เป็นเรื่องยาก, ต้องรอคิวนาน, และมีปัญหาแพทย์เถื่อน (Quack) หรือไม่ได้มาตรฐาน (Standard)  ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ในช่วงทศวรรษ (Decade) ปีที่ผ่านมา ตลาดการแพทย์ทางไกลของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตามข้อมูลจากบริษัทวิจัยตลาดของจีนที่ชื่อ iiMedia Research

ข้อมูลดังกล่าว พบว่า ในปี พ.ศ. 2563 ตลาดการแพทย์ทางไกลของจีน ซึ่งมีมูลค่ากว่า 5.45 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 27.25 หมื่นหล้านบาท) ได้เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ในทศวรรษ จากปี พ.ศ. 2554 ที่มีมูลค่า 1.58 พันล้านหยวน (ประมาณ 7.9 พันล้านบาท) ไปแตะระดับกว่า 6 หมื่นล้านหยวน (ปราณ 30 หมื่นล้านบาท) ณ สิ้นปี พ.ศ. 2564 ในขณะเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2563 จำนวนผู้ใช้งานการแพทย์ทางไกลของจีนมีจำนวนกว่า 661 ล้านคน แต่ในปี พ.ศ. 2564 เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 687 ล้านคน

นอกจากนี้ จากการสำรวจ โดย Bain & Company [บริษัทที่ปรึกษาการจัดการระดับสากล] พบว่า ในปี พ.ศ. 2562 มีเพียง 24% ของกลุ่มตัวอย่างชาวจีนที่เคยใช้บริการการแพทย์ทางไกล แต่กว่า 64% คาดว่าจะใช้บริการนี้ภายใน 5 ปี ในขณะเดียวกัน 97% ของกลุ่มตัวอย่างชาวจีน มีความสนใจที่จะทดลองใช้บริการการแพทย์ทางไกล หากสามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการรับบริการ (Reimburse) จากบริษัทประกัน (Insurance) หรือจากที่ทำงานได้

ข้อมูล ณ พ.ศ. 2564 ของ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน พบว่า ในปัจจุบัน จีนมีโรงพยาบาลอินเทอร์เน็ต (Internet hospital) กว่า 1,100 แห่ง และมีเครือข่าย (Net-work) ความร่วมมือการแพทย์ทางไกลครอบคลุมระดับเมืองมากกว่า 24,000 แห่ง ทั่วประเทศ

ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก่อให้ความต้องการเข้าถึง (Accessibility) บริการด้านการแพทย์และสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว และมีมาตรฐานของประชาชนชาวจีน, การพัฒนาของเทคโนโลยี, และที่สำคัญคือนโยบายสนับสนุน (Support) จากภาครัฐ ทำให้ภาคธุรกิจการแพทย์ทางไกลของจีน กลายเป็นภาคที่มีอนาคตอันสดใส (Favorable) อันควรจับตามองอย่างใกล้ชิด 

แหล่งข้อมูล –

  1. https://www.bain.com/insights/how-the-coronavirus-will-transform-healthcare-in-china/ [2023 May 27].
  1. https://www.mckinsey.com/featured-insights/asia-pacific/using-ecosystems-to-reach-higher-an-interview-with-the-co-ceo-of-ping-an [2023, May 27].