9. ตลาดการแพทย์ทางไกล - ตอนที่ 5

ตลาดการแพทย์ทางไกล

ข้อเสียของการแพทย์ทางไกล (Tele-medicine) มีดังนี้

  • ความไม่พร้อมด้านระบบและอุปกรณ์สื่อสารออนไลน์ โดยเฉพาะในชนบท (Rural area) ที่ระบบสื่อสารออนไลน์ไปไม่ถึง ในผู้ป่วยที่ยังใช้ระบบสื่อสารออนไลน์ไม่เป็นหรือไม่คล่อง หรือไม่มีอุปกรณ์สื่อสารออนไลน์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการซื้อหาและจัดตั้งระบบและอุปกรณ์ดังกล่าว

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กำลังจัดตั้ง “ศูนย์ดิจิทัลชุมชน” (Digital community center) เพื่อจัดการให้การแพทย์ทางไกลให้เป็นส่วนหนึ่งในการจัดตั้งศูนย์นี้ด้วย

  • ความไม่พร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะการจัดหาแพทย์และพยาบาลที่จะมาอยู่เวร รอให้คำปรึกษาและช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ซึ่งเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นจากภาระงานเดิมที่หนักมากอยู่แล้ว

แพทย์และพยาบาลจำนวนมาก อาจไม่ชำนาญในทุกโรคและทุกระบบของร่างกาย พอที่จะให้คำแนะนำหรือให้ความช่วยเหลือได้ ทำให้ไม่สบายใจที่จะรับงานดังกล่าว

จึงควรจัดตั้ง “ศูนย์การแพทย์ทางไกล” คล้ายศูนย์ “191” หรือศูนย์ “1669” ที่สามารถส่งต่อคำขอความช่วยเหลือไปยังแพทย์ พยาบาล หรือโรงพยาบาลที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือในปัญหานั้นๆ โดยไม่ต้องให้ผู้ป่วยมะงุมมะงาหราหาเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อกับบุคคลหรือโรงพยาบาลที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือตน เป็นต้น

  • ความรู้สึกห่างเหินกัน (Distance) ระหว่างผู้ป่วยกับผู้ให้การรักษาพยาบาล โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยและผู้ให้การรักษาพยาบาลไม่เคยพบหน้า (Face-to-face) กันมาก่อน ความรู้สึกห่างเหินกัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การรักษาพยาบาลไม่ต่อเนื่องอีกด้วย (มีงานวิจัยสนับสนุนเรื่องนี้)

ผู้ป่วยกับแพทย์ที่ดูแลรักษากันมานาน เมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงไปและไปพบแพทย์ พอเจอหน้าแพทย์มักจะรู้สึกดีขึ้นทันที บางครั้งถึงกับพูดว่า “เห็นหน้าหมอ ก็หายแล้ว” ผลทางจิตใจ (Mental) ของความคุ้นเคยกัน, ไว้ใจกัน, เชื่อถือ, ศรัทธา, หรืออื่นๆ ซึ่งเกิดได้ยากในการสื่อสารออนไลน์

  • การรักษาพยาบาลออนไลน์อาจผิดพลาดได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยกับแพทย์หรือพยาบาลไม่เคยรักษาพยาบาลกันมาก่อน เพราะแพทย์/พยาบาลจะไม่สามารถซักประวัติการเจ็บป่วยทั้งในปัจจุบันและอดีต, ประวัติส่วนตัวและครอบครัว, ฯลฯ ได้ดีเท่าการซักถามกันโดยตรง รวมทั้งการสังเกต (Observation) ปฏิกิริยาของผู้ป่วยในการตอบการซักถาม ว่าคำตอบนั้นจริงหรือเท็จ รวมทั้งการไม่ได้ตรวจร่างกายผู้ป่วยโดยตรง จึงอาจทำให้การวินิจฉัยโรคผิดพลาดได้
  • การลักลอบล้วงข้อมูลของผู้ป่วยและ/หรือบุคลากรทางการแพทย์ เกิดขึ้นได้ง่ายเช่นเดียวกับการสื่อสารออนไลน์ต่างๆ จึงต้องระวังเช่นกัน

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์ทางไกลเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริการ และ สังคโปร์

แหล่งข้อมูล

  1. https://dmh.go.th/news/view.asp?id=2389 [2023m April 21].
  2. https://allwellhealthcare.com/telemedicine/ [2023, April 21].