9. ตลาดการแพทย์ทางไกล - ตอนที่ 4

ตลาดการแพทย์ทางไกล

ข้อดี (Advantage) ของโทรเวชกรรม หรือ การแพทย์ทางไกล (Tele-medicine) ได้แก่

  • คุณภาพของการรักษาพยาบาล (Treatment quality) ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะต่อผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ (Medical staff) ที่อยู่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ ส่วนผู้ป่วยในเมืองใหญ่ ก็สามารถได้รับการติดตามดูแล (Follow-up care) จากบุคลากรทางการแพทย์ ได้บ่อยขึ้นหรือตลอดเวลา ผ่านทางออนไลน์ โดยผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาล (Hospital visit) และบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ต้องไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน (Home visit) เช่นกัน
  • เพิ่มความสะดวกสบาย (Convenience) และความรวดเร็ว (Speed) ในการขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ด้วยกัน และระหว่างผู้ป่วย/ญาติกับบุคลากรทางการแพทย์
  • ลดค่าใช้จ่าย (Cost) และค่าเสียเวลา (Time) ในการเดินทางและการรอพบ/รอตรวจ/รอยา และอื่นๆ รวมทั้งลดการเสียสุขภาพจิตจากการรอและการเผชิญกับสิ่งไม่สบอารมณ์ เป็นต้น
  • ลดความแออัด (Crowded-ness) ในโรงพยาบาล เมื่อผู้ป่วยไม่ต้องไปโรงพยาบาล เพราะสามารถรับการรักษาพยาบาลทางไกล (Distant treatment) ได้ ความแออัดในโรงพยาบาลจะลดลง ทำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาในโรงพยาบาล ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่มากขึ้น และลดเวลา รอตรวจ/รอเตียง/รอหมอ เป็นต้น
  • ลดการติดเชื้อโรค (Infection) ลง เนื่องจากโรงพยาบาลมีผู้ป่วยด้วยโรคนานาชนิด รวมทั้งโรคติดเชื้อ การไปโรงพยาบาลจึงเพิ่มความเสี่ยง (Risk) ต่อการติดเชื้อโรคจากผู้อื่นโดยตรงหรือโดยอ้อม (จากการสัมผัสเก้าอี้, ราวบันได, และห้องสุขา ฯลฯ) ที่ผู้อื่นได้ใช้มาก่อน

ในสถานการณ์ที่โควิด-19 ระบาดหนักไปทั่วโลก (Pandemic) การใช้การแพทย์ทางไกล จึงยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เพราะการอยู่บ้าน (Stay home) เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อได้ดีมากวิธีหนึ่ง

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มนำร่องการแพทย์ทางไกล ในโรงพยาบาล 27 แห่งในสังกัด เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ดังรายชื่อต่อไปนี้

  • โรงพยาบาล อันได้แก่ นพรัตนราชธานี, ราชวิถี, เลิดสิน, สงฆ์ ฯลฯ
  • โรงพยาบาลมะเร็ง อันได้แก่ ลพบุรี, สุราษฏร์ธานี, อุดรธานี, อุบลราชธานี ฯลฯ
  • โรงพยาบาลธัญญารักษ์ อันได้แก่ ขอนแก่น, เชียงใหม่, สงขลา, อุดรธานี ฯลฯ
  • สถาบัน อันได้แก่ ทันตกรรม, ประสาทวิทยา, พยาธิวิทยา, มะเร็งแห่งชาติ ฯลฯ

หลังเปิดบริการได้ 2 เดือน มีผู้ใช้บริการผ่านประชุมวีดิทัศน์ (Video conference) จำนวน 4,316 ราย และรักษาทางไปรษณีย์ จำนวน 7,717 คน ซึ่งนับว่าน้อยมาก เมื่อดูจากจำนวนผู้ป่วยที่รักษาอยู่กับโรงพยาบาลทั้ง 27 แห่ง

แหล่งข้อมูล

  1. https://dmh.go.th/news/view.asp?id=2389 [2023m April 21].
  2. VDO Conference [2023, April 21].