ยายับยั้งไทโรซีนไคเนส (Tyrosine kinase inhibitors: TKI)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร? ไทโรซีนไคเนสคืออะไร?

ยายับยั้งไทโรซีนไคเนส (Tyrosine kinase inhibitors: ย่อว่า ทีเคไอ/TKI) คือ กลุ่มยายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชื่อ’ไทโรซีนไคเนส’ (เอนไซม์ใช้ในการเจริญแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง) เพื่อลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง,โดยมีตัวยาได้หลายชนิดย่อย, ทางคลินิกจึงนำมาใช้บำบัดรักษาโรคมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งปอด  มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ  มะเร็งไต ฯลฯ, โดยมีรูปแบบเป็นยารับประทาน

ยารักษาโรคมะเร็งในแบบดั้งเดิม คือ ยาเคมีบำบัด/Chemotherapy  เป็นยาที่มีความสามารถในการยับยั้งการเติบโตแบ่งตัวของเซลล์โดยเฉพาะเซลล์ที่แบ่งตัวได้เร็ว เช่น เซลล์มะเร็ง, แต่ยาเคมีบำบัดไม่มีความจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง จึงทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติกลุ่มอื่นที่มีความสามารถในการแบ่งตัวได้รวดเร็วเช่นกัน เช่น เซลล์ผม เซลล์เนื้อเยื่อเมือกบุช่องปาก และเซลล์เนื้อเยื่อเมือกบุลำไส้ จึงก่อให้เกิดผลข้างเคียงมาก

การศึกษาเรื่องมะเร็งได้ความก้าวหน้าไปมาก เป็นการศึกษาระดับเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต, การส่งสัญญาณการแบ่งตัวของเซลล์, และการแบ่งตัวของเซลล์, พบว่าเอนไซม์ที่ชื่อ ‘ไทโรซีนไคเนส (Tyrosine Kinases)’ มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับการส่งสัญญาณภายในเซลล์มะเร็งเพื่อให้เกิดการแบ่งตัว, จึงเกิดการพัฒนายาเพื่อยับยั้งการทำงานของเอนไซม์นี้เพื่อลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะช่วยบำบัดและควบคุมมะเร็งได้ในระดับที่มีประสิทธิผล

ทั้งนี้ “กลุ่มยายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส/ยายับยั้งไทโรซีนไคเนส” แต่ละขนานก็มีความสามารถในการจับตัวกับกลุ่มเซลล์ตามอวัยวะต่างๆในร่างกายได้แตกต่างกัน

ปัจจุบันยายับยั้งไทโรซีนไคเนส จัดเป็นยาควบคุมพิเศษตามพระราชบัญญัติยาของไทย จึงต้องใช้ภายใต้การควบคุมดูแลจากแพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็ง

ยายับยั้งไทโรซีนไคเนสมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

 

กลุ่มยาออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส/ยายับยั้งไทโรซีนไคเนส มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้แตกต่างกันไปตามความจำเพาะ หรือตามความสามารถในการจับกับตัวรับ (Receptor) ของยาต่างๆในกลุ่มนี้: เช่น

  • มะเร็งปอดขั้น/ระยะรุนแรง: เช่น ยาคริสออททินิบ (Crizotinib),
  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวโต ระยะแพร่กระจาย: เช่นยา อะฟาทินิบ (Afatinib) เออร์โลทินิบ (Erlotinib)  เจทฟิทอินิบ (Getfitinib)
  • มะเร็งไตขั้นรุนแรง: เช่นยา อะซิทินิบ (Axitinib) ซูนิทินิบ (Sunitinib) 
  • รักษามะเร็งไตระยะแพร่กระจาย: เช่นยา พาซออฟแอนอิบ (Pazopanib) โซราเฟนิบ (Sorafenib)
  • มะเร็งเม็ดเลือดขาว: เช่นยา  โบซูทินิบ (Bosutinib)  ดาซแอทอินิบ (Dasatinib) อิมาทินิบ (Imatinib)  นิโลทินิบ (Nilotinib)
  • มะเร็งตับอ่อน: เช่นยา เออร์โลทินิบ (Erlotinib)
  • มะเร็งเต้านมระยะรุนแรง: เช่นยา ลาพาทินิบ (Lapatinib)
  • เนื้องอก/มะเร็งของ ลำไส้ใหญ่, กระเพาะอาหาร, ลำไส้เล็ก ชนิดที่เกี่ยวโยงกับ เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เรียกว่า เนื้องอกจีสต์/มะเร็งจีสต์(Gastro intestinal stromal tumor ย่อว่า GIST/จีสต์) เช่นยา เรกออร์แอฟเอนิบ (Regorafenib)  อิมาทินิบ(Imatinib)
  • มะเร็งตับ เช่น ยาโซราเฟนิบ (Sorafenib)
  • มะเร็งต่อมไทรอยด์ เช่น ยาโซราเฟนิบ (Sorafenib)

ยายับยั้งไทโรซีนไคเนสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

เอนไซม์ไทโรซีนไคเนส (Tyrosine Kinases) เป็นเอนไซม์ที่มีความสำคัญในการกระตุ้นการทำงานของสารโปรตีนภายในเซลล์โดยผ่านการส่งสัญญาณในแบบต่างๆ ซึ่งปกติแล้วปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ คือ มีสัญญาณ หรือมีฮอร์โมนมากระตุ้นตัวรับที่ผิวเซลล์, ตัวรับที่ผิวเซลล์จะส่งสัญญาณไปยังสารภายในเซลล์เพื่อให้เริ่มต้นการสังเคราะห์โปรตีน เพื่อให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ต่อไป

เซลล์มะเร็ง ซึ่งเป็นเซลล์ที่เกิดจากการแบ่งตัวอย่างผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย ทำให้เกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของเซลล์และไม่อยู่ในการควบคุมของร่างกาย, การยับยั้งเอนไซม์ไทโรซีน จะทำให้สัญญาณการกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ซึ่งอาจส่งมาจากภายนอกเซลล์ เช่น โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone; ฮอร์โมนการกระตุ้นการเจริญเติบโต) ถูกขัดขวาง เนื่องจากจะไม่เกิดการส่งสัญญาณต่อเข้าไปภายในเซลล์เพื่อเซลล์เกิดการแบ่งตัว จึงทำให้สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้

ยาในกลุ่มยับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส/ยายับยั้งไทโรซีนไคเนสนี้ มีความจำเพาะต่อชนิดของโกรทฮอร์โมนต่อตัวรับ และต่อชนิดของเซลล์มะเร็งที่แตกต่างกันออกไป, ทำให้มีการพัฒนาเป็นหลายตัวยา ซึ่งใช้รักษาชนิดของมะเร็งที่แตกต่างกันไป เช่น มะเร็งปอด  มะเร็งไต  มะเร็งเต้านม

ยายับยั้งไทโรซีนไคเนสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาในกลุ่มออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส/ยายับยั้งไทโรซีนไคเนส มีรูปแบบจัดจำหน่าย  เช่น

  • ยาอะฟาทินิบ: เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยาเม็ด ขนาดความแรง 20, 30 และ 40 มิลลิกรัมต่อเม็ด
  • ยาอะซิทินิบ: เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยาเม็ด ขนาดความแรง 1 และ 5 มิลลิกรัมต่อเม็ด
  • ยาคริสออททินอิบ: เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์แคปซูลชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 200 และ 250 มิลลิกรัมต่อเม็ด
  • ยาดาซแอทอินิบ: เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยาเม็ด ขนาดความแรง 20, 50, 70 และ 100 มิลลิ กรัมต่อเม็ด
  • ยาเออร์โลทินิบ: เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยาเม็ดเคลือบฟิล์ม ขนาดความแรง 25, 100, 150 และ 100 มิลลิกรัมต่อเม็ด
  • ยาอิมาทินิบ: เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยาเม็ด ขนาดความแรง 100 และ 400 มิลลิกรัมต่อเม็ด
  • ยาลาพาทินิบ: เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยาเม็ด ขนาดความแรง 250 มิลลิกรัมต่อเม็ด
  • ยานิโลทินิบ: เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์แคปซูลชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 150 และ 200 มิลลิกรัมต่อเม็ด
  • ยาพาซออฟแอนอิบ: เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยาเม็ด ขนาดความแรง 200 และ 400 มิลลิ กรัมต่อเม็ด
  • ยาเรกออร์แอฟเอนิบ: เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยาเม็ดเคลือบฟิล์ม ขนาดความแรง 40 มิลลิกรัมต่อเม็ด
  • ยาโซราเฟนิบ: เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยาเม็ด ขนาดความแรง 200 และ 400 มิลลิ กรัมต่อเม็ด
  • ยาซูนิทินิบ: เป็นรูปแบบเภสัชภัณฑ์แคปซูลชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 12.5 มิลลิกรัมต่อเม็ด

ยายับยั้งไทโรซีนไคเนสมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาในกลุ่มออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส/ยายับยั้งไทโรซีนไคเนส มีขนาดการใช้ยาขึ้นกับ ข้อบ่งใช้, อาการ, การดำเนินของโรค/ธรรมชาติของโรค, สมรรถภาพของไตและตับ, ซึ่งจะแตกต่างเป็นกรณีไป, ดังนั้นการเลือกใช้ชนิดยาและขนาดยาจึงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ผู้ทำการรักษา ในการกำหนดชนิด/ขนาดยาที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยเฉพาะรายไป

ยาในกลุ่มนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นยารับประทานในขณะท้องว่าง คือ รับประทานก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง หรือหลังรับประทานอาหารประมาณ 2 ชั่วโมง, ผู้ป่วยควรปรึกษาเภสัชกรถึงวิธีการรับประทานยาที่ถูกต้องขณะรับยานี้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยายับยั้งไทโรซีนไคเนส ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและ เภสัชกร  เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรทุกชนิด
  • ประวัติโรค ทั้งโรคในอดีต และโรคที่เป็นอยู่โดยเฉพาะ โรคหัวใจและหลอดเลือด  โรคไต และโรคตับ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วย กำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังอยู่ใน ช่วงระหว่างการให้นมบุตร

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

โดยทั่วไปแล้ว หากลืมรับประทานยายับยั้งไทโรซีนไคเนส ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้, แต่หากใกล้เวลาทานยามื้อถัดไปแล้ว (ในระยะเวลา 12 ชั่วโมงก่อนมื้อยาถัดไป) ให้ข้ามยามือที่ลืมไป, และให้ทานมื้อยาถัดไปตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรสอบถามกรณีเช่นนี้ล่วงหน้าจากเภสัชกรทุกครั้งเมื่อรับยานี้ เนื่องจากยานี้แต่ละชนิด อาจมีวิธีรับประทานพิเศษ หรือแตกต่างจากคำแนะนำข้างต้น

ยายับยั้งไทโรซีนไคเนสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

กลุ่มยาออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส/ยายับยั้งไทโรซีนไคเนส อาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง): เช่น

  • ท้องเสีย
  • อาจพบผิวหนังมีผื่นขึ้น เนื่องจากผิวหนังอาจไวต่อแสงอาทิตย์/แสงแดดมากขึ้น การทาครีมกันแดด หรือผลิตภัณฑ์กันแดดก่อนออกจากที่ร่มอาจช่วยได้
  • นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยอาจมี
  • แผลในปาก
  • เกิดการติดเชื้อที่เล็บหรือเล็บเปลี่ยนสี
  • ผู้ป่วยบางส่วนอาจรู้สึกไม่อยากอาหาร และน้ำหนักลด
  • อ่อนเพลีย
  • ผมร่วง
  • มีนงง
  • ปวดแปลบๆเหมือนถูกไฟช็อต (ปวดที่เส้นประสาท) ที่แขน ขา มือ เท้า
  • นอนไม่หลับ
  • มีอาการร้อนวูบวาบ

*อนึ่ง: หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือรุนแรงขึ้น หรือ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

*กลุ่มยาออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง เช่น ไออย่างหนักร่วมกับหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก และตัวร้อนโดยอาจมีไข้หรือไม่มีไข้ก็ได้ มีการมองเห็นที่เปลี่ยนไป หรือรู้สึกว่าตาไวต่อแสงอย่างผิดปกติ/ตาไม่สู้แสง  เกิดผื่นหรือผิวหนัง ลอก (มักเกิดที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า) มีอาการเหมือนดีซ่าน (ตัวเหลืองและตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง) มีอาการบวม ปวด และลอกของผิวหนังบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า ปวดท้อง/ปวดเกร็งอย่างรุนแรง อาจมีอาการเหมือนติดเชื้อกล่าวคือ มีไข้ ไม่สบายตัว เจ็บคอ หรือมีสัญญาณเหมือนมีเลือดออก เช่น เกิดจ้ำห้อเลือด ถ่ายอุจจาระมีสีดำเข้มและเหนียว หรืออาเจียนมีเลือดปนหรือมีสีน้ำตาลกาแฟ *หากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

*หากรับประทานยานี้แล้ว เกิดอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคันขึ้นตามตัว ใบหน้า ริมฝีปาก หรือเปลือก ตา/หนังตาบวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ให้พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

*กลุ่มยาออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ หากเกิดอาการใดๆหรือรู้สึกผิดไปจากปกติภายหลังการเริ่มยานี้ ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ, อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่าการที่แพทย์สั่งใช้ยานี้ เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วนมากมีพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรงได้ ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดหากเกิดอาการรุนแรงดัง ที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยายับยั้งไทโรซีนไคเนสอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยายับยั้งไทโรซีนไคเนส: เช่น

  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยา หรือแพ้สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของยานี้
  • ไม่ควรใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ หรือกำลังอยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร
  • ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนโดยเฉพาะวัคซีนเชื้อเป็น/เชื้อยังมีชีวิต (Live Vaccines) ทั้งในขณะกำลังใช้ยานี้ และภายหลังหยุดการใช้ยาไปแล้วอย่างน้อยอีก 6 เดือน
  • แพทย์อาจพิจารณาตรวจปริมาณเม็ดเลือดซีบีซี/CBC, Complete Blood Count) เป็นระยะเพื่อประเมินผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยายับยั้งไทโรซีนไคเนส) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยายับยั้งไทโรซีนไคเนสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

กลุ่มยาออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส/ยายับยั้งไทโรซีนไคเนส มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาบางชนิด ซึ่งโดยทั่วไปยาในกลุ่มนี้อาจทำให้ระดับภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย หรือระดับเม็ดเลือดขาวในเลือดลดลง *ผู้ป่วยควรงดการรับวัคซีนโดยเฉพาะชนิดวัคซีนเชื้อเป็นเพราะอาจติดโรคจากวัคซีนได้

นอกจากนี้ ยาอื่นบางชนิดที่ออกฤทธิ์ต่อตับ เช่น ยาเลฟลูโนไมด์ (Leflunomide) ซึ่งหากใช้ร่วมกับยาในกลุ่มยายับยั้งไทโรซีนไคเนส อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดพิษต่อตับ/ตับอักเสบรุนแรงได้

ระหว่างการใช้ยาในกลุ่มยายับยั้งไทโรซีนไคเนส ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบทุกครั้งว่า ผู้ป่วยกำลังใช้ยาอื่นอะไรอยู่บ้าง ทั้งขณะรับยานี้ หรือขณะรับยาอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจเกิดขึ้นได้

ควรเก็บรักษายายับยั้งไทโรซีนไคเนสอย่างไร?

ควรเก็บรักษายายับยั้งไทโรซีนไคเนส: เช่น

  • เก็บยาในภาชนะดั้งเดิมของผู้ผลิต, ปิดฝาภาชนะให้แน่น
  • เก็บให้พ้นมือเด็กและ สัตว์เลี้ยง
  • หลีกเลี่ยงการเก็บยาในบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น บริเวณใกล้ห้องน้ำ หรือในตู้เย็น, และไม่ควรนำสารดูดความชื้นที่ผู้ผลิตใส่ไว้ในภาชนะของผลิตภัณฑ์ออกจากภาชนะหากผู้ผลิตได้บรรจุไว้
  • เก็บภาชนะบรรจุยานี้ในอุณหภูมิห้อง

ยายับยั้งไทโรซีนไคเนสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาในกลุ่มออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส/ยายับยั้งไทโรซีนไคเนส  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตหรือจัดจำหน่าย เช่น

ชื่อสามัญทางยา ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต/จัดจำหน่าย
ยาอะฟาทินิบ (Afatinib) จีโอทริฟ (Giotif) บริษัท เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ (ไทย) จำกัด
ยาอะซิทินิบ (Axitinib) อินไลทา (Inlyta) บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
ยาคริสออททินอิบ (Crizotinib) ซาลโคริ (Xalkori) บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
ยาดาซแอทอินิบ (Dasatinib) สไปริเซล (Sprycel) บริษัท บริสตอล-ไมเยอร์ส สควิบบ์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด
ยาเออร์โลทินิบ (Erlotinib) ทาร์ซีว่า (Tarcva) บริษัท โรชไทยแลนด์ จำกัด
ยาอิมาทินิบ (Imatinib) กีเวก (Glivec) บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด
ยาลาพาทินิบ (Lapatinib) ไทเคิร์บ (Tykerb) บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด
ยานิโลทินิบ (Nilotinib) ทาซิกนา (Tasigna) บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด
ยาพาซออฟแอนอิบ (Pazopanib) โวเทรียนท์ (Votrient) บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด
ยาเรกออร์แอฟเอนิบ (Regorafenib) สตีวาร์กา (Stivarga) บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด
ยาโซราเฟนิบ (Sorafenib) นีซาวาร์ (Nexavar) บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด
ยาซูนิทินิบ (Sunitinib) ซูเท็นท์ (Sutent) บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

บรรณานุกรม

  1. American Pharmacists Association. Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;:2014 Arora A1, Scholar EM. Role of tyrosine kinase inhibitors in cancer therapy. J Pharmacol Exp Ther. 2005 Dec;315(3):971-9. Epub 2005 Jul
  2. Yaish P, Gazit A, Gilon C, Levitzki A. (1988). "Blocking of EGF-dependent cell proliferation by EGF receptor kinase inhibitors.". Science 242 (4880): 933–935
  3. Hartmann JT1, Haap M, Kopp HG, Lipp HP. Tyrosine kinase inhibitors - a review on pharmacology, metabolism and side effects. Curr Drug Metab. 2009 Jun;10(5):470-81
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Tyrosine_kinase_inhibitor [2022,Oct1]
  5. https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/cancer-in-general/treatment/targeted-cancer-drugs/types/cancer-growth-blockers#tki [2022,Oct1]
  6. http://pertento.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_DRUG/SEARCH_DRUG/pop-up_drug.aspx?Newcode_U=U1DR1C1012631511011C&pvncd=10&drgtpcd=1&rgttpcd=1C&rgtno=6315110  [2022,Oct1]