ไอกรน (Pertussis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคไอกรน (Pertussis) คือโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน (จมูก คอ และท่อลม) ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คำว่า Pertussis แปลว่า การไอที่รุนแรง เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอาการไอเป็นอาการหลัก และมีเสียงไอที่เป็นเอกลักษณ์ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อในภาษา อังกฤษทั่วไปว่า Whooping cough หรือไอกรน (ไอมีเสียงที่เกิดจากการหายใจลำบากตาม หลังอาการไอ) ในภาษาไทยนั่นเอง ส่วนในภาษาจีนเรียกโรคนี้ว่า โรคไอ 100 วัน โรคนี้มียาปฏิชีวนะสำหรับรักษา และมีวัคซีนสำหรับป้องกันโรค

โรคไอกรนมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง?

โรคไอกรนเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Bordettella ซึ่งมีอยู่ 6 สายพันธุ์ (Species) บางสายพันธุ์ทำให้เกิดโรคเฉพาะในคน บางสายพันธุ์ทำให้เกิดโรคเฉพาะสัตว์

โรคนี้ติดต่อกันได้ง่ายมาก โอกาสคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจะติดเชื้อจากผู้ป่วยที่อยู่ในบ้านเดียวกัน มีถึง 80-100% และถึงแม้ว่าจะมีภูมิคุ้มกันต้านทานแล้ว ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ถึง 20% โดยเชื้อโรคจะกระจายอยู่ในละอองของ เสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่วย และจะติดต่อไปสู่ผู้อื่นต่อไป เมื่อผู้นั้นสัมผัสละอองเชื้อโรคเหล่านี้เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทาง การแพทย์เรียกว่า การติดต่อทางละอองหายใจ (Respiratory droplets transmission)

ผู้ป่วยโรคไอกรนพบได้ทั่วโลก แม้ว่าในปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกันแล้วก็ตาม ก็ยังพบมีการระบาดเกิดขึ้นทุกๆ 3-5 ปี แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อนที่จะมีวัคซีน อัตราผู้ป่วยได้ลดลงไปมากกว่า 90% โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว

พบไอกรนได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ ในประเทศที่การให้วัคซีนไม่ครอบคลุมทั่วถึง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กก่อนวัยเรียน ส่วนในประเทศที่การให้วัคซีนเป็นไปอย่างทั่วถึง พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กทารกวัยน้อยกว่า 1 ปี (ทั้งนี้เพราะยังได้วัคซีนไม่ครบตามโปรแกรม) และมีแนวโน้มว่าจะพบมากขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน อาจเพราะลืม หรือขาดการฉีดวัคซีนกระตุ้น เมื่ออายุ 11-12 ปี หรือไม่ได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นเมื่อสัมผัสกับผู้ป่วยไอกรน

โรคไอกรนเกิดได้อย่างไร?

เชื้อ Bordettella เมื่อเข้าสู่ทางเดินหายใจแล้ว จะไปเกาะกับเซลล์เยื่อบุ หรือเยื่อเมือกของเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก แบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้น และผลิตสารพิษหลายชนิดออกมา ซึ่งจะส่ง ผลต่อการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ เช่น Pertussis toxin, Tracheal toxin, Dermato necrotic toxin, Adenylatecyclase toxin ซึ่งทำให้เกิดอาการต่างๆตามมา ซึ่งประมาณ 10% ของทารกเชื้ออาจเข้าสู่ปอดตามทางเดินหายใจและทำให้เกิดปอดบวม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต (ตาย) ได้ ทั้งนี้เชื้อโรคไอกรนเองมักไม่แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด (โลหิต) จึงมักไม่ก่ออาการกับอวัยวะอื่น นอกจากในระบบทางเดินหายใจส่วนบน

โรคไอกรนมีอาการอย่างไร?

ระยะฟักตัวของโรคไอกรนคือ ตั้งแต่ติดเชื้อจนกระทั่งแสดงอาการคือ 7-10 วัน อาการจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะอาการหวัด หรือระยะเยื่อเมือกทางเดินหายใจอักเสบ (Catarrhal phase) ระ ยะนี้อาการจะเหมือนโรคหวัดธรรมดาทั่วไป คือมีไข้ต่ำๆ ไอเล็กน้อย มีน้ำมูก อ่อนเพลีย ซึ่งจะเป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์
  2. ระยะไอ หรือระยะอาการกำเริบ (Paroxysmal phase) เป็นระยะที่อาการไอจะเด่น ชัดและมีเสียงลักษณะจำเพาะ การไอจะเกิดขึ้นเป็นพักๆ โดยในครั้งหนึ่งจะไอติดต่อกันประ มาณ 5-10 ครั้ง หยุดไป แล้วเริ่มไอใหม่ เป็นเช่นนี้ซ้ำๆ โดยอาจเกิดขึ้นเพียง 5-10 ครั้งต่อวัน หรือเกิดขึ้นหลายสิบครั้งในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ไอติดต่อกันนั้น เมื่อการไอสิ้นสุดแล้ว จะมีการหายใจเข้าอย่างรวดเร็วหนึ่งครั้ง ซึ่งลมหายใจนี้จะไปกระทบกับฝากล่องเสียงที่ปิดอยู่ ทำให้มีเสียงดังที่มีลักษณะจำเพาะคือเสียงดังวู๊ป หรือวู้ และเป็นที่มาของชื่อโรคนี้คือ Whooping cough หรือไอกรน นั่นเอง แต่บางครั้งมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่อาจไม่มีเสียงดังนี้เวลาไอ
  3. นอกจากนี้ ส่วนใหญ่จะมีอาการอาเจียนหลังจากที่มีการไอติดต่อกัน และอาจมีเสมหะปนออกมา ในช่วงที่ไอติดๆกันนั้น บางคนอาจมีหลอดเลือดดำที่คอโป่งพองจนมองเห็นได้ ตาถลน และตัวเขียว ซึ่งในระยะนี้ผู้ป่วยจะไม่มีไข้แล้ว ผู้ป่วยอาจมีน้ำหนักลดลง เนื่องจากการไอรบกวนการกินอาหาร ในช่วงกลางคืนอาการไอจะเกิดขึ้นถี่กว่าเวลากลางวัน และทำให้รบกวนการนอนหลับได้ ผู้ป่วยจึงมักเกิดอาการอ่อนเพลีย ระยะนี้จะกินเวลาอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยความถี่ของช่วงที่มีอาการไอและความรุนแรงจะค่อยๆทยอยลดลงช้าๆ

  4. ระยะฟื้นตัว หรือระยะพักฟื้น (Convalescent phase) ระยะนี้กินเวลาตั้งแต่ 1 ถึง 3 เดือน เป็นระยะที่อาการไอจะค่อยๆลดลงจนหายไปในที่สุด

แพทย์วินิจฉัยโรคไอกรนได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคไอกรนได้จากประวัติการสัมผัสโรค และลักษณะการไอเป็นสำคัญ ซึ่งอาการที่บ่งชัดว่าเป็นไอกรน คือ ไอติดต่อกันนานมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ร่วมกับ

  • อาการไอที่เกิดขึ้นติดกันเป็นชุดๆ
  • และ/หรือ ในช่วงสุดท้ายของการไอมีเสียงดังวู๊ปหรือวู้
  • และ/หรือ มีอาเจียนหลังไอ
  • และ/หรือ อาการไอเกิดขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโรคไอกรน

ในกรณีอื่นๆนอกจากนี้ จำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการวินิจ ฉัย ได้แก่

  1. การเพาะเชื้อ เป็นวิธีที่ถือเป็นมาตรฐาน ทำโดยการนำสารคัดหลั่งจากโพรงหลังจมูกมาเพาะเชื้อ ซึ่งสามารถตรวจได้จนถึงประมาณ 3 สัปดาห์นับตั้งแต่มีอาการ หลังจากนั้น โอ กาสที่จะเพาะพบเชื้อจะน้อยลง
  2. การตรวจหาสารพันธุกรรม (ดีเอนเอ, DNA) ของเชื้อไอกรนจากสารคัดหลั่งจาก โพรงหลังจมูก ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า พีซีอาร์ (PCR, Polymerase chain reaction) แม้จะได้ผลที่รวดเร็วกว่าและแม่นยำกว่าการเพาะเชื้อ แต่ยังไม่ถือเป็นวิธีมาตรฐาน เพราะยังมีความไม่แน่ นอนของความสัมพันธ์ระหว่างค่าที่ตรวจได้กับอาการป่วย
  3. การตรวจหาแอนติบอดี/สารภูมิต้านทาน (Immunoglobulin A หรือ Immunoglo bulin G) ที่จำเพาะต่อโรคไอกรน ในกรณีที่อาการเป็นนานมากกว่า 4 สัปดาห์แล้ว จะเลือกใช้วิธีนี้แทนการเพาะเชื้อ โดยจะเจาะเลือดตรวจ 2 ครั้ง ถ้ามีการติดเชื้อไอกรน จะมีค่าแตกต่างกันมากกว่า 2 เท่าขึ้นไป แต่ทั้งนี้ในการเจาะเลือดครั้งแรกต้องไม่ใช่ช่วงระยะฟื้นตัว หรือระยะพักฟื้นของการป่วย
  4. การตรวจดูเม็ดเลือด (การตรวจซีบีซี, CBC) จะเพียงช่วยในการวินิจฉัย ซึ่งจะพบมีเม็ดเลือดขาวชนิด Lymphocyte ขึ้นสูงกว่าปกติ จะไม่เหมือนการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นๆที่จะมีเม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ขึ้นสูง

โรคไอกรนรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

โดยส่วนใหญ่โรคไอกรนจะหายได้เป็นปกติ มีเพียงส่วนน้อยที่อาจเกิดผลข้างเคียง (ผล หรือภาวะแทรกซ้อน) จากการไอมากๆเกิดขึ้นได้ เช่น เลือดกำเดาไหล มีเลือดออกที่เยื่อบุตา(เลือดออกใต้เยื่อตา) มีจุดเลือดออกตามผิวหนังบนใบหน้า วูบเป็นลม ปัสสาวะเล็ด ไส้เลื่อน กระดูกซี่โครงหัก (จากการไออย่างรุนแรง จึงเกิดแรงดันต่อกระดูกซี่โครง) และเกิดภาวะปอดบวมจากติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้แทรกซ้อนในปอด ในเด็กเล็กและในผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดปอดบวมได้มากกว่า

สำหรับเด็กทารกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน โรคมักรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นในอัตราที่สูงกว่าและรุนแรงกว่า และมีโอกาสเสียชีวิต (ตาย) ได้ประมาณ 1% ภาวะแทรกซ้อนได้แก่

  • ภาวะปอดบวมติดเชื้อจากเชื้อโรคไอกรนเองโดยตรง พบได้ถึงประมาณ 20% ของเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้
  • การไอที่รุนแรงและต่อเนื่อง ทำให้เด็กทารกหายใจได้ไม่เต็มที่ ร่างกายจะขาดออกซิเจน ส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้เกิดอาการชัก มีจุดเลือดออกในสมอง เกิดภาวะหยุดหายใจ และส่งผลต่อระบบการใช้พลังงานของร่างกาย (เมตาบอลิซึม, Metabolism) ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้

รักษาโรคไอกรนอย่างไร?

การรักษาหลักในโรคไอกรน คือ การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ

  1. ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง จะรักษาแบบผู้ป่วยนอก และให้ยาปฏิชีวนะเป็น แบบรับประทาน สำหรับยาแก้ไอไม่ได้ช่วยในการรักษาหรือบรรเทาอาการไอ จึงอาจไม่จำเป็น ต้องใช้
  2. สำหรับเด็กทารก และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จะรับรักษาไว้ในโรงพยาบาล เพื่อดูแลเกี่ยวกับเรื่องระบบหายใจ ไม่ให้ร่างกายขาดออกซิเจน ในบางครั้งอาจต้องใช้เครื่อง ช่วยหายใจ รวมทั้งให้สารน้ำและอาหารให้เพียงพอ และต้องแยกห้องผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

ดูแลตนเองอย่างไร? ป้องกันโรคไอกรนอย่างไร?

การดูแลตนเองและการป้องกันโรคไอกรน ได้แก่

  1. โรคนี้มีวัคซีนสำหรับป้องกัน ในเด็กเล็กต้องได้รับการฉีดวัคซีนที่อายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน และ 15-18 เดือน ในรูปของวัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน และบาดทะยัก หลังจากนั้นเมื่ออายุได้ 4-6 ปี ให้ฉีดวัคซีนรวมกระตุ้นอีก 1 ครั้ง
  2. ในช่วงอายุ 11-12 ปี ปกติเด็กควรจะได้รับวัคซีน บาดทะยัก-คอตีบ กระตุ้น อีก 1 เข็ม แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนแนะนำให้ฉีดวัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก แทนการฉีดวัคซีน บาดทะยัก-คอตีบ (แต่สูตรของวัคซีนจะแตกต่างกับที่ใช้ในเด็กเล็ก) ทั้งนี้นอกจากจะทำให้ลดอัตราผู้ป่วยโรคไอกรนกลุ่มวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ได้แล้ว ยังช่วยลดจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็กที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ 5 ครั้งอีกด้วย ซึ่งในบางประเทศได้กำหนดให้ฉีดแบบนี้แล้ว
  3. ในกรณีที่ได้รับวัคซีนในวัยเด็กมาครบแล้ว แต่ในช่วงอายุ 11-12 ปี ได้ฉีดแค่วัคซีนรวมเพียง 2 โรค คือ บาดทะยัก-คอตีบ ดังนั้นเมื่อจะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นโรคบาดทะ ยัก-คอตีบอีกครั้ง (ปกติคือทุกๆ 10 ปี) ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ฉีดวัคซีนรวม 3 โรค คือ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก แทน 1 ครั้ง ต่อจากนั้นก็ให้ฉีดวัคซีนรวม 2 โรคกระตุ้นทุก 10 ปีต่อไป

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ควรแพทย์ เมื่อ

  1. ผู้ที่อาการชัดเจนว่าเป็นไอกรน คืออาการไอเกิดขึ้นติดกันเป็นชุดๆ ช่วงสุด ท้ายของการไอมีเสียงดังวู๊ปหรือวู้ หลังไอมีอาเจียนตามมา โดยที่ไม่มีไข้ ให้รีบพบแพทย์ เพื่อรับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมรักษา
  2. ในกรณีที่อาการไม่ชัดเจนดังกล่าว แต่ไอติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ให้พบแพทย์ เพื่อใช้การตรวจอื่นๆช่วยในการวินิจฉัยต่อไป
  3. ถ้าในบ้านของผู้ป่วย มีเด็กทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี หรือมีบุคคลที่มีโรคประ จำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง ควรปรึกษาพบแพทย์ เกี่ยวกับการให้ยารับประทานป้องกันไม่ให้เป็นโรคในบุคคลเหล่านี้ และผู้ป่วยควรแยก น้ำดื่ม อาหารการกินต่างๆ ของใช้ส่วนตัว และแยกห้องนอน จนกว่าผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อไปแล้วมากกว่า 5 วัน

บรรณานุกรม

1. Scott A. Halperin, pertussis and other Bordetella infections, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001.
2. http://emedicine.medscape.com/article/967268-overview [2014,April11].
3. http://www.vaccineinformation/org/tetanus/qandavax.asp [2014,April11].
4. http://www.cdc.gov/vaccines/vpd-vac/tetanus/default.htm [2014,April11].

Updated 2014, April 12