ไข้แมวข่วน (Cat scratch fever) โรคแมวข่วน (Cat scratch disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ไข้แมวข่วน (Cat scratch fever) หรือโรคแมวข่วน (Cat scratch disease) ย่อว่า‘โรค ซีเอสดี (CSD)’ คือ โรคเกิดจากร่างกายติดเชื้อแบคทีเรีย(ชนิดแกรมลบ)จากถูกแมวข่วน โดย เป็นแบคทีเรียในสกุล/Genus ที่ชื่อ Bartonella ซึ่งชนิด/Species ที่มักก่อโรคในคนคือ Bartonella henselae (B. henselae) ดังนั้นโรคนี้จึงมีอีกชื่อตามชื่อสกุลของเชื้อฯว่า ‘โรคติดเชื้อบาร์โทเนลลา (Bartonella infection)’

ไข้แมวข่วน จัดเป็นโรคหนึ่งที่รวมอยู่ในกลุ่มโรคที่เรียกว่า “Bartonellosis/บาร์โทเนลโลสิส/ โรคต่างๆที่เกิดจากแบคทีเรียสกุล Bartonella” โดยเชื้อจะอาศัยอยู่ในต่อมน้ำลายของแมวแต่ไม่ก่ออาการในแมว ซึ่งเชื้อในน้ำลายจะติดตามขนแมวและที่เล็บของแมว คนติดเชื้อนี้ได้มักจากถูกแมวข่วน จึงได้ชื่อว่า “โรคแมวข่วน/Cat scratch disease” แต่เพราะมีอาการไข้ด้วยจึงเรียกได้อีกชื่อว่า “ไข้แมวข่วน/Cat scratch fever” แมวกัด และ/หรือแมวเลียเพราะเชื้อมีอยู่ในน้ำลายแมวด้วย

แบคทีเรีย B.henselae:

แบคทีเรีย B.henselae เจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิช่วง 35 - 37 องศาเซลเซียส (Celsius) เป็นแบคทีเรียพบทั่วโลก แต่มักพบในเขตร้อนชื้น ทั้งนี้มี คน แมว (มักเป็นลูกแมวบ้าน) และสุนัข เป็นโฮสต์ (Host) โดยแหล่งรังโรคคือ แมว แต่อาจพบเป็นสัตว์อื่นได้บ้าง เช่น สุนัข และลิง

แบคทีเรีย B.henselae นี้สามารถถูกทำลายได้ด้วย

  • ความร้อนชื้นตั้งแต่ 121 องศาเซลเซียสขึ้นไปนาน 15 - 30 นาที หรือ
  • การอบแห้งที่อุณหภูมิตั้งแต่ 160 - 170 องศาเซลเซียสขึ้นไปนาน 1 - 2 ชั่วโมง และ
  • ยังถูกทำลายได้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ Chlorine, 70% Alcohol, และน้ำยาฆ่าเชื้อกลุ่ม Phenolics

ไข้แมวข่วน พบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ สถิติการเกิดโรคไม่แน่นอนขึ้นกับอัตราการเลี้ยงแมว แต่พบในประเทศร้อนชื้นมากกว่าในประเทศเขตหนาว ในสหรัฐอเมริกาในแต่ละปีพบโรคนี้ประมาณ 4-9 รายต่อประชากร 1 แสนคน แต่เชื่อว่าน่าพบโรคได้สูงกว่านี้ เพียงแต่ผู้ป่วยไม่มาพบแพทย์ เพราะโดยทั่วไปโรคหายได้เองด้วยการดูแลตนเองตามอาการ

โรคนี้พบทั้ง 2 เพศ โอกาสเกิดแต่ละเพศขึ้นกับความนิยมเลี้ยงแมว พบทุกอายุ แต่ 80%ของผู้ป่วยจะอายุต่ำกว่า 21 ปี ซึ่งเข้าใจว่าเพราะเป็นวัยที่ชอบเล่น/ชอบเลี้ยงลูกแมว จึงสัมผัสโรคได้บ่อยกว่าคนวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ

ไข้แมวข่วนเกิดได้อย่างไร?

ไข้แมวข่วน

ไข้แมวข่วน เกิดจากแบคทีเรียชนิด B.henselae ซึ่งเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) โดยมักเกิดจากคลุกคลีกับลูกแมว กล่าวคือประมาณ 90% ของผู้ป่วยโรคนี้มีประวัติสัมผัสแมว โดยประมาณ 75% เกิดจากแมวข่วนและ/หรือแมวกัด แต่บางคนส่วนน้อยมากอาจสัมผัสสัตว์อื่นเช่นสุนัข หรือไม่มีประวัติสัมผัสกับสัตว์ชัดเจน

ทั้งนี้ ไข้แมวข่วนอาจติดต่อจากแมวสู่คนได้อีกวิธีคือ คนถูกหมัดแมวกัด (หมัดแมวมีเชื้อโรคติดจากแมว) ซึ่งพบว่าเป็นวิธีที่ทำให้เกิดโรคนี้ระบาดในคนบ้านเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานการติดต่อของโรคนี้จากคนสู่คน ทั้งนี้เมื่อเชื้อแบคทีเรียโรคนี้เข้าสู่ร่างกาย ระยะฟักตัวของโรคจะประมาณ 3 - 12 วันนับจากวันได้รับเชื้อ

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดไข้แมวข่วน?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดไข้แมวข่วนได้แก่

  • เลี้ยงลูกแมว คือแมวที่อายุต่ำกว่า 12 เดือนเพราะเป็นช่วงอายุของแมวที่มักมีเชื้อโรคนี้อาศัยอยู่ (มีลูกแมวเป็นโฮสต์)
  • ถูกข่วน กัด เลีย โดยแมวที่ติดเชื้อ (มักเป็นลูกแมว)
  • เลี้ยงลูกแมวหลายตัว
  • เลี้ยงแมว โดยเฉพาะลูกแมวมีหมัด

ไข้แมวข่วนมีอาการอย่างไร?

อาการที่เกิดจากไข้แมวข่วนที่เด่นชัดและเป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยเกือบทุกรายคือ การมีต่อมน้ำเหลืองอักเสบชนิดที่เป็นโรคกึ่งเฉียบพลัน (Subacute disease) คือ อักเสบอยู่นานประมาณ 2 - 6 เดือนแล้วค่อยๆยุบหายไปเอง, แต่บางรายการอักเสบอาจอยู่ได้นานเป็นปี

ทั้งนี้ อาการต่อมน้ำเหลืองอักเสบ มักเกิดหลังจากสัมผัสแมว/ถูกแมวข่วน/กัดประมาณ 1 - 3 สัปดาห์ (มีรายงานตั้งแต่ 5 วันไปจนถึง 120 วัน)

ซึ่งตรงบริเวณแมวข่วน/กัด:

  • อาจพบเป็นรอยแผลแดง ขนาดเล็ก
  • ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำ และกลายเป็นแผลแห้งที่ตกสะเก็ด
  • อาจพบรอยแผลเดียว หรือ 2 - 3 รอยแผล
  • แผลทางเข้าของเชื้อเหล่านี้มักพบเกิดประมาณ 3 - 10 วันหลังถูกแมวกัด/ข่วนและอยู่ได้นานเป็นสัปดาห์

ส่วนการอักเสบของต่อมน้ำเหลือง:

  • อาจเกิดต่อมเดียวข้างเดียวกับรอยแผลถูกข่วน/กัด
  • แต่พบเกิด 2 - 3 ต่อม
  • หรือพบในหลายๆตำแหน่งทั่วตัวได้ เช่น รักแร้ คอ ขาหนีบ
  • ต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบมักพบเป็นต่อมฯที่อยู่ใกล้กับรอยแมวกัด/ข่วน ซึ่งรอยแมวกัด/ข่วนมักเป็นที่ มือ แขน คอ ใบหน้า คือจากการอุ้มแมวนั่นเอง
  • ขนาดต่อมน้ำเหลืองที่อักเสบมีรายงานตั้งแต่ 1 - 10 เซนติเมตร มีลักษณะนุ่ม, เจ็บ, มีสีออกแดง, และอาจเป็นหนองได้, แต่มักไม่เกิดเป็นแผลแตก

นอกจากมีต่อมน้ำเหลืองโตอักเสบแล้ว มักมีอาการอื่นที่พบร่วมด้วยที่เกิดในระยะเวลาประมาณ 3 - 12 วันนับจากถูกแมวกัด/ข่วน เช่น

  • มีไข้
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดหัว
  • เจ็บคอ/_คออักเสบ
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • ขึ้นผื่น
  • เยื่อตาอักเสบ

ทั่วไป อาการต่างๆดังกล่าวมักเป็นอาการไม่รุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม มีประมาณ 10% ของผู้ป่วยที่จะมีอาการที่รุนแรงจากมีการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะสำคัญ เช่น

  • ตา: โดยอาจเกิดเป็นก้อนเนื้ออักเสบที่เยื่อตา ตาแดง น้ำตาไหล ปวดตา ตาบวม มักเกิดกับตาด้านเดียว และมีต่อมน้ำเหลืองหน้าใบหูด้านเดียวกับตาที่อักเสบอักเสบ บวม โต ซึ่งเรียกกลุ่มอาการนี้ว่า “Parinaud’s oculoglandular syndrome”
  • ตับและม้าม: อาจเกิดตับอักเสบ และ/หรือ ม้ามอักเสบ มีตับและม้ามโต คลำได้ เจ็บ ตัวเหลือง-ตาเหลือง
  • สมอง: อาจเกิดสมองอักเสบและ/หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ พบการอักเสบนี้ได้น้อยมาก ถ้าเกิดจะพบได้ประมาณ 1 - 6 สัปดาห์หลังมีต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ซึ่งผู้ป่วยมักมี ไข้สูง และชัก
  • หัวใจ: อาจเกิดเยื่อบุหัวใจอักเสบ
  • กระดูก: อาจเกิดกระดูกอักเสบติดเชื้อ
  • หลอดเลือด: อาจเกิดหลอดเลือดอักเสบ
  • อาจเกิด ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อถูกลูกแมว ข่วน กัด และมีอาการดังกล่าว โดยเฉพาะมีต่อมน้ำเหลืองบวม/โต คลำได้ เจ็บ บวม แดง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยไข้แมวข่วนได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยไข้แมวข่วนได้จากหลายๆปัจจัยประกอบกัน ที่สำคัญ เช่น

  • อาการของผู้ป่วย, ประวัติการสัมผัสแมวหรือสัตว์ต่างๆโดยเฉพาะการถูกข่วน ถูกกัด ถูกเลีย
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจพบต่อมน้ำเหลือง โต อักเสบ ร่วมกับรอยแผลที่ถูกสัตว์กัด/ข่วน
  • การตรวจหาเชื้อจากสารคัดหลั่ง เช่น หนองจากต่อมน้ำเหลืองหรือจากรอยโรค
  • ตรวจเลือดดูค่าสารภูมิต้านทาน(Serologic test) จากโรคนี้
  • แต่ที่ให้ผลตรวจได้ค่อนข้างชัดเจนคือ
    • การตรวจทางพยาธิวิทยาจากการตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรค และ/หรือ
    • การตรวจหาเชื้อจากรอยโรคและ/หรือจากสารคัดหลั่งด้วยเทคโนโลยีตรวจทางพันธุกรรมที่ซับซ้อนที่มีบริการตรวจเฉพาะในการศึกษาวิจัยเป็นส่วนใหญ่ที่เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction)
    • นอกจากนั้นคือการตรวจภาพอวัยวะต่างๆที่มีอาการ อาจด้วยเอกซเรย์, อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน), และ/หรือเอมอาร์ไอ เช่น ภาพหัวใจ, สมอง ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

รักษาไข้แมวข่วนได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาไข้แมวข่วนคือ การใช้ยาปฏิชีวนะ และการรักษาตามอาการ

ก. การให้ยาปฏิชีวนะ: คือการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อนี้ ซึ่งยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคนี้ได้ผลมีหลายชนิด โดยจะเลือกใช้ยาชนิดใดและระยะเวลารักษานานเท่าไร ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ, เป็นการติดเชื้อที่อวัยวะใด, และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา, ยาปฏิชีวนะดังกล่าว เช่นยา Azithromycin, Rifampin, Ciprofloxacin, Bactrim, Gentamycin, Tetracycline, Erythromycin

ข. การรักษาตามอาการ: คือ มีอาการอะไรก็รักษาตามอาการนั้น เช่น

  • การให้ยาลดไข้เมื่อมีไข้
  • การให้ยาแก้ปวดเมื่อมีอาการปวด
  • การเจาะหนองออกเมื่อต่อมน้ำเหลืองอักเสบโตเป็นหนอง
  • การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อกิน/ดื่มได้น้อย

ไข้แมวข่วนก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากไข้แมวข่วนคือ

  • ร่างกายติดเชื้อรุนแรง เช่น
    • การติดเชื้อในกระดูก(กระดูกอักเสบ)
    • การติดเชื้อที่ตา
    • สมองอักเสบ
    • เยื่อบุหัวใจอักเสบ
    • ที่แย่ที่สุดคือ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

ไข้แมวข่วนมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โดยทั่วไป ในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ ไข้แมวข่วนมักมีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาได้หาย โอกาสตายมีน้อย โดยอาการมักกลับปกติในระยะเวลาเป็นสัปดาห์, เป็นเดือน หรือหลายเดือน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ และเป็นการติดเชื้อกับอวัยวะใด, โดยการติดเชื้อรุนแรงที่มักเป็นเหตุของการตายได้ โดยมักเป็นการติดเชื้อที่สมอง(สมองอักเสบ) และ/หรือ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ โรคมักรุนแรง และเป็นสาเหตุ การตายได้สูงขึ้น

ในส่วนการโตอักเสบของต่อมน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลืองจะค่อยๆยุบลงเอง ใช้เวลา ประมาณ 3 - 6 เดือน หรือบางคนอาจ 1- 2 ปี

อนึ่ง:

  • เมื่อเป็นการติดเชื้อในเด็ก: ร่างกายมักมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้อยู่ได้นาน แต่ยังไม่ทราบชัดเจนว่านานเท่าไร
  • แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อในผู้ใหญ่: โรคอาจกลับเป็นซ้ำได้ โดยมีรายงานการกลับเป็นซ้ำได้ภายใน 6 - 12 เดือนหลังการติดเชื้อครั้งแรก

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองที่บ้านเมื่อเป็นไข้แมวข่วนได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเองถึงแม้อาการจะดีขึ้นแล้ว
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อร่างกายแข็งแรงมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคปกติ ไม่เกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อน และเพื่อลดความรุนแรงของการติดเชื้อ
  • ดูแลแมวและสัตว์เลี้ยงไม่ให้มีหมัด
  • ระวังแมว กัด ข่วน ไม่แหย่แมว
  • เมื่อมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ ไม่ควรมีสัตว์เลี้ยง
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอเมื่อ

  • อาการต่างๆเลวลง เช่น ไข้สูงขึ้น เหนื่อย อ่อนเพลียมากขึ้น
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนเช่น ปวดหัวรุนแรง คอแข็ง ชัก
  • อาการที่เคยหายไปแล้วกลับมามีอาการอีก เช่น กลับมามีไข้ หรือต่อมน้ำเหลืองที่ยุบไปแล้วกลับมาโตอักเสบอีก
  • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่องจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียเรื้อรัง
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันไข้แมวข่วนได้อย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนหรือยาที่ใช้ป้องกันไข้แมวข่วน แต่สามารถป้องกันไข้แมวข่วนได้จาก

  • หลีกเลี่ยงแมว กัด ข่วน ไม่แหย่แมว หลีกเลี่ยงการสัมผัสแมวจรจัด ระวังไม่ให้หมัดแมว/หมัดสัตว์กัด
  • ดูแลแมวไม่ให้มีหมัด ไม่ให้แมวเลี้ยงสัมผัสกับแมวจรจัด
  • เมื่อมีแผล ต้องไม่ให้แผลสัมผัสแมว
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันต้าน ทานโรคปกติ ลดความรุนแรงของโรคเมื่อมีการติดเชื้อเกิดขึ้น
  • เมื่อมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ต้องไม่เลี้ยงแมวหรือสัตว์เลี้ยงทุกชนิด เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากสัตว์

บรรณานุกรม

  1. Klotz,s., and Ellioh,S. (2011).Am Fam Physician. 83, 152-155
  2. Lamps,L., and Scott, M. (2004). Am J Clin Patho. 121 (suppl), s71-s80
  3. https://www.canada.ca/en/public-health/services/laboratory-biosafety-biosecurity/pathogen-safety-data-sheets-risk-assessment/bartonella-henselae.html [2021,May15]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/214100-overview#showall [2021,May15]
  5. https://www.cdc.gov/bartonella/ [2021,May15]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Cat-scratch_disease[2021,May15]