ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน ประสาทไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน (Acute transverse myelitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อาการอ่อนแรงของขาสองข้าง เป็นสาเหตุของการเดินไม่ได้ที่พบบ่อย มีสาเหตุจากหลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ เส้นประสาทอักเสบ อัมพาตจากหลอดเลือดสมองตีบ และ “ภาวะ/โรคประสาทไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน หรือ ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน (Acute transverse myelitis)” ซึ่งภาวะ/โรคประสาทไขสันหลังอักเสบเฉียบพลันคืออะไร เพราะแทบไม่เคยได้ยินมาก่อน มีอาการอย่างไร รักษาหายหรือไม่ บทความนี้จะเฉลยข้อข้องใจที่ท่านมี

ภาวะประสาทไขสันหลังอักเสบเฉียบพลันคืออะไร?

ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน

ภาวะ/โรคประสาทไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน คือ ภาวะที่มีการอักเสบของประสาทไขสันหลัง/ไขสันหลังอย่างเฉียบพลัน มีการทำลายเซลล์ประสาทในไขสันหลังทั้งหมด ทั้งส่วนหน้าและส่วนหลัง (Transverse หรือ Complete cord) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติทางระ บบประสาทของไขสันหลัง ซึ่งจะกล่าวถึงอาการเหล่านั้น ในหัวข้อ อาการ

อนึ่ง ประสาทไขสันหลัง หรือ ไขสันหลัง (Spinal cord, หรือใช้คำว่า Myel ที่มีที่มาจากภาษากรีก แปลว่า ที่เกี่ยวข้องกับไขสันหลัง) คืออวัยวะส่วนหนึ่งของระบบประสาทส่วนกลาง (Central nervous system: CNS) โดยมีหน้าที่สำคัญคือ การรับและส่งสัญญาณประสาทจากสมองไปสู่เส้นประสาทและกล้ามเนื้อของอวัยวะต่างๆ เพื่อให้เกิดการทำงานของกล้ามเนื้อ/ของอวัยวะต่างๆ รวมทั้งการรับสัญญาณประสาทจากเส้นประสาทกลับสู่สมอง ซึ่งรวมถึงระบบประ สาทอัตโนมัติด้วย โดยไขสันหลังนั้นอยู่ต่อเนื่องมาจากบริเวณก้านสมอง และต่อลงมาในช่องกระดูกสันหลังระดับคอ จนถึงระดับเอวที่ 1-2 โดยมีรากประสาทและเส้นประสาทออกจากไขสันหลัง เพื่อนำและรับสัญญาณประสาท

ลักษณะอาการสำคัญของการมีรอยโรคในประสาทไขสันหลัง คือ อาการแขน ขาอ่อนแรงทั้งสองข้างร่วมกับอาการชาเป็นระดับลงมา ตั้งแต่ตำแหน่งของรอยโรคลงมา มีปัญหาของกล้ามเนื้อหูรูดของอวัยวะต่างๆ (เช่น กระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก) และระบบประสาทอัตโนมัติเสียร่วมด้วย

ภาวะ/โรคประสาทไขสันหลัง/ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน พบได้ไม่บ่อย ไม่มีการศึกษาความชุกที่ชัดเจนในประเทศไทยและต่างประเทศ เพราะโรคนี้อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (MS/Multiple sclerosis) หรือ โรค NMO/Neuromyelitis optica (โรคจากมีการอักเสบของไขสันหลังร่วมกับของประสาทตา โดยมีสาเหตุจากโรคออโตอิมมูน)

จากการทบทวนความชุกของโรคนี้จากบางการศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบว่าความชุกประ มาณ 10 รายต่อประชากร 100,000 คน

โรคประสาทไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน พบบ่อยในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก ผู้หญิงพบมาก กว่าผู้ชายประมาณ 3 เท่า พบบ่อยในผู้ป่วยที่มีปัญหาประสาทตาอักเสบ (Optic neuritis), ในผู้ ป่วยโรคเอส แอล อี, และในประชาชนที่อยู่ในซีกโลกตะวันตกและอากาศหนาว เช่น กลุ่มประ เทศสแกนดิเนเวีย

ภาวะประสาทไขสันหลังอักเสบเฉียบพลันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ภาวะ/โรคประสาทไขสันหลัง/ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน เกิดจากความผิดปกติทางภูมิ คุ้มกันต้านทานโรค ที่มีการตอบสนองต่อการติดเชื้อไวรัส ส่งผลให้มีการทำลายเซลล์ประสาทในไขสันหลัง โดยเกิดการอักเสบบริเวณไขสันหลังระดับอกส่วนล่างเป็นส่วนใหญ่ (ระดับอกที่ 8-10) หรือบางราย มีการทำลายเซลล์ของไขสันหลังหมดทุกระดับ (Transverse and com plete cord syndrome) และก่อให้เกิดอาการผิดปกติข้างต้น

สาเหตุที่พบบ่อยของภาวะ/โรคประสาทไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน คือ

  • การติดเชื้อไวรัส
  • โรคติดเชื้อมัยโคพลาสมา
  • โรคทางภูมิคุ้มกันต้านทานโรคผิดปกติ เช่น โรคเอส แอล อี
  • การได้รับวัคซีน เช่น วัคซีนโรคหัด โรคคางทูม (แต่สาเหตุนี้พบได้น้อยมากๆ)
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis: MS)
  • โรคนิวโรมัยอิไลติส ออพติกา (Neuromyelitis optica: NMO)

ภาวะประสาทไขสันหลังอักเสบเฉียบพลันมีอาการอย่างไร?

อาการผิดปกติที่พบบ่อยของภาวะ/โรคประสาทไขสันหลัง/ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน คือ

  • ขาสองข้างอ่อนแรง
  • ชาขาสองข้างตั้งแต่ระดับรอยโรคในไขสันหลังลงมา เช่น รอยโรคระดับไขสันหลังระดับอกที่ 10 ผู้ป่วยก็จะมีอาการชาตั้งแต่ระดับสะดือลงมา เป็นต้น
  • อาการปวด และความผิดปกติด้านความรู้สึกต่างๆ เช่น ร้อน-เย็น เจ็บปวด ที่จะไว/มีอาการมากกว่าปกติ ในตำแหน่งระดับเดียวกับที่เกิดอาการอ่อนแรง
  • ปัสสาวะลำบาก อุจจาระลำบาก
  • ความรู้สึกและความต้องการทางเพศลดลง

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เมื่อเริ่มมีอาการอ่อนแรงของขาสองข้าง หรือมีความรู้สึกที่ผิดปกติที่ขาสองข้าง เช่น ชา ปวด หรือปัสสาวะลำบาก

อนึ่ง ถ้ามาพบแพทย์เมื่อมีอาการปัสสาวะลำบาก ถือว่าช้าเกินไป ดังนั้นไม่ควรรอสังเกตอาการผิดปกติ เช่น อ่อนแรง ว่าจะดีขึ้นหรือไม่ เพราะถ้ามาช้าเกินไป โอกาสการตอบสนองต่อการรักษาก็ยากขึ้น

แพทย์วินิจฉัยภาวะประสาทไขสันหลังอักเสบเฉียบพลันอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะ/โรคประสาทไขสันหลัง/ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลันได้ โดยแพทย์จะใช้ข้อมูลจากประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เช่น การติดเชื้อ การฉีดวัคซีน จากอาการที่มีอาการเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ที่ส่วนใหญ่การดำเนินโรคใช้เวลาเป็นวันและไม่เกินสัปดาห์ ร่วมกับการตรวจร่างกาย และการตรวจร่างกายทางระบบประสาท พบความผิดปกติที่เข้าได้กับรอยโรคในไขสันหลัง (ทั้งส่วนหน้าและหลังของไขสันหลัง)

นอกจากนี้ แพทย์จะส่งตรวจเอมอาร์ไอไขสันหลัง ถ้าอยู่ในโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือดัง กล่าว แต่ถ้าไม่มี แพทย์ก็จะส่งตรวจเอกซเรย์กระดูกไขสันหลัง เพื่อดูว่ามีการกดทับไขสันหลังหรือไม่ เมื่อไม่มี แพทย์ก็จะเจาะหลัง เพื่อตรวจน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (CSF) ก็จะพบความผิดปกติ คือ ระดับโปรตีนสูงขึ้น, ระดับน้ำตาลปกติ, และมีเม็ดเลือดขาวสูงขึ้นเล็กน้อย

และแพทย์ต้องตรวจสืบค้น เพื่อหาสาเหตุว่ามีโรคอื่นๆที่อาจเป็นสาเหตุ เพื่อให้การรัก ษาสาเหตุนั้นๆไปด้วย เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เป็นต้น

รักษาภาวะประสาทไขสันหลังอักเสบเฉียบพลันอย่างไร?

การรักษาภาวะ/โรคประสาทไขสันหลัง/ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน คือการรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ขนาดสูง นานประมาณ 2 สัปดาห์ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด ที่รวมถึงการฝึกระ บบขับถ่าย, การใช้ยาลดอาการเจ็บปวด, และ/หรือยาลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ทั้งนี้การรักษาไม่ต้องผ่าตัด

ภาวะประสาทไขสันหลังอักเสบเฉียบพลันมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

ส่วนใหญ่แล้ว การรักษาภาวะ/โรคประสาทไขสันหลัง/ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน ได้ ผลดีในการรักษา ผู้ป่วยมักฟื้นตัวได้เกือบปกติภายใน 2-12 สัปดาห์ บางรายจะค่อยๆฟื้นตัวไปเรื่อยๆ และกลับปกติหรือใกล้เคียงปกติภายในประมาณ 1-2 ปี แต่ในรายที่ไม่มีการฟื้นตัวหลัง 6 เดือนนับจากเกิดอาการ มักไม่สามารถฟื้นตัวกลับเป็นปกติได้ ทั้งนี้ ความรุนแรงของโรคขึ้นกับการเกิดอาการ ถ้าอาการรุนแรงและเกิดอย่างรวดเร็ว และ/หรือพบแพทย์ล่าช้า ผู้ป่วยมักฟื้นตัวหลังรักษาได้ไม่เต็มที่

อนึ่ง โดยทั่วไป โรคนี้พบการกลับเป็นซ้ำได้ แต่พบได้น้อยมาก

ภาวะประสาทไขสันหลังอักเสบเฉียบพลันมีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากภาวะ/โรคประสาทไขมันหลัง/ไขสันหลังอักเสบเฉียบ พลัน ที่พบบ่อย คือ อาการอ่อนแรงของแขนขา ปัสสาวะลำบาก โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ ท้องผูก กล้ามเนื้อขาเกร็ง แผลกดทับ ซึมเศร้า

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองที่ดีเมื่อป่วยด้วยภาวะ/โรคประสาทไขสันหลัง/ไขสันหลังอักเสบเฉียบ พลัน คือ

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ
  • กายภาพบำบัด ฝึกการขับถ่าย ตามแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ
  • ดูแลอย่าให้ท้องผูก
  • ดูแล ป้องกัน การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ทานยาที่แพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา
  • รักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ มีอาการขาอ่อนแรงมากขึ้น ปัสสาวะไม่ออก ไข้ขึ้น ทานอาหารไม่ได้ มีอาการอาหารไม่ย่อย มีแผลกดทับ แพ้ยาที่บริโภค (เช่น ขึ้นผื่น ปวดท้องมาก อุจจาระสีดำเหมือนยางมะตอย) และ/หรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันภาวะประสาทไขสันหลังอักเสบเฉียบพลันอย่างไร?

กรณีภาวะ/โรคประสาทไขสันหลัง/ไขสันหลังอักเสบเฉียบพลัน เกิดจากการติดเชื้อไวรัสนั้น ไม่สามารถป้องกันได้โดยตรง แต่อาจป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ร่วมกับการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส

กรณีภาวะ/โรคนี้ เกิดจากที่เป็นส่วนหนึ่งของโรค MS หรือโรค NMO นั้นสามารถป้องกันการเกิดเป็นซ้ำ โดยการใช้ยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่อเนื่อง ตามแพทย์แนะนำ