ไกลโอมา เนื้องอกไกลโอมา (Glioma)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ไกลโอมา(Glioma) คือ เนื้องอกชนิดหนึ่งของเซลล์สมอง หรือ ของเซลล์ไขสันหลัง ที่เรียกว่าเซลล์เกลีย(Glia cell)  พบได้ทั้งเป็นเนื้องอกชนิด’ไม่ใช่มะเร็ง’ และเนื้องอกชนิด’มะเร็ง’

ทั้งนี้ ในเนื้องอกสมองและเนื้องอกไขสันหลังชนิด’ไม่ใช่มะเร็ง’พบเป็นเนื้องอก ชนิดไกลโอมาประมาณ 30%  แต่ในเนื้องอกสมองและเนื้องอกไขสันหลังชนิด’เป็นมะเร็ง’จะพบเป็นมะเร็งชนิดไกลโอมาได้สูงถึงประมาณ 80%

ไกลโอมาทั่วโลกในทุกอายุ ตั้งแต่เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ แต่พบไม่บ่อยมากและยังไม่มีรายงานสถิติเกิดทั่วโลกที่ชัดเจน เป็นเนื้องอกพบทั้งเพศชายและเพศหญิงใกล้เคียงกัน  ในสหรัฐอเมริกามีรายงานเนื้องอกสมองทุกชนิดในแต่ละปีประมาณ80,000ราย ซึ่งประมาณ25%เป็นชนิดไกลโอมา

สำหรับประเทศไทย รายงานในวารสาร Cancer in Thailand 2021(Vol X)ที่   รวมเนื้องอกทั้งชนิดไม่ใช่มะเร็งและชนิดมะเร็งของสมองและของไขสันหลัง  (รวมถึงไกลโอมาด้วย) พบในเพศชาย 2.4 รายต่อประชากรชายไทย 1แสนคน และในเพศหญิง 2.1 รายต่อประชากรหญิงไทย 1แสนคน

เนื้องอกไกลโอมามีกี่ชนิด?

ไกลโอมา

เนื้องอกไกลโอมา แบ่งเป็นหลายชนิด ที่พบบ่อย ได้แก่

  • Astrocytoma
  • Oligodendroglioma
  • Ependymoma
  • Optic glioma
  • Brain stem glioma
  • และบางครั้งพบหลายๆชนิดเกิดในก้อนเนื้อเดียวกัน

         ทั้งนี้ เนื้องอกไกลโอมาทุกชนิด มีธรรมชาติของโรคคล้ายกัน  เช่น อาการ  วิธีวินิจฉัย  วิธีตรวจและรักษา  รวมถึงการดูแลผู้ป่วย จึงเหมือนๆกัน

อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดเนื้องอกไกลโอมา?

สาเหตุเกิดเนื้องอกไกลโอมา ยังไม่ทราบ แต่พบปัจจัยเสี่ยง เช่น

  • พันธุกรรม:  โรคนี้พบสูงขึ้นในผู้ป่วยที่มีประวัติครอบครัวหรือตนเองป่วยเป็นเนื้องอกผิวหนังชนิด Neurofibromatosis(ท้าวแสนปม)ชนิด1 หรือ ชนิด2  ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม
  • ผู้ป่วยที่เคยได้รับรังสีรักษาบริเวณสมองในช่วงวัยเด็ก
  • และที่กำลังถกเถียงและศึกษากันอย่างจริงจัง แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน คือ รังสีจากโทรศัพท์มือถือ ที่ได้มีคำเตือนและคำแนะนำการใช้มือถือจากองค์กรต่างๆในด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคโดยเฉพาะในเด็ก(แนะนำอ่านเพิ่มเติม บทความจากเว็บ com  เรื่อง รังสีจากโทรศัพท์มือถือ) เพราะขณะพูดคุย         มือถือจะอยู่ใกล้สมอง เซลล์สมองจึงมีโอกาสได้รับรังสีร่วมไปด้วย 

เนื้องอกไกลโอมามีอาการอย่างไร?

อาการของเนื้องอกไกลโอมา จะขึ้นกับขนาดก้อนเนื้อ/ขนาดเนื้องอก,และตำแหน่งที่เกิดโรค

ก. ขนาดก้อนเนื้อ: เมื่อก้อนเนื้อมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการ แต่เมื่อก้อนเนื้อโตขึ้น

  • เมื่อโรคเกิดที่สมอง: ก้อนเนื้อจะกดทับเนื้อสมอง  ส่งผลให้เกิดอาการที่พบได้บ่อย คือ ปวดศีรษะเรื้อรัง   ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ อาจร่วมกับอาเจียน และ/หรือมีแขน/ขาอ่อนแรง       
  • ส่วนเมื่อโรคเกิดที่ไขสันหลัง: ก้อนเนื้อมักกดเบียดทับเนื้อไขสันหลัง ส่งผลให้เกิดอาการแขนขาอ่อนแรง หรือมีปัญหาในการถ่ายปัสสาวะ หรือถ่ายอุจจาระ

ข. ตำแหน่งก้อนเนื้อ: อาการต่างๆเป็นไปตามหน้าที่ของแต่ละตำแหน่งของรอยโรค เช่น

  • เมื่อโรคเกิดที่ประสาทตา: อาการหลัก คือการเห็นภาพมัวลง จนถึงตาบอด, 
  • การมีแขน/ขาด้านเดียวกันอ่อนแรงเมื่อเกิดโรคในสมองใหญ่ส่วนนอก(Cerebral cortex)
  • เดินเซ, การทรงตัวผิดปกติ, การหายใจผิดปกติ, เมื่อโรคเกิดที่ก้านสมอง  
  • หรือ มีแขน หรือ ขาทั้งสองข้างอ่อนแรพร้อมกันเมื่อโรคเกิดที่ไขสันหลัง  

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้ออาการฯ’ โดยเฉพาะเมื่อปวดศีรษะเรื้อรังและปวดมากๆขึ้นตลอดเวลา และ/หรือ มีแขนขาอ่อนแรง  ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกไกลโอมาได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกไกลโอมาได้จาก  

  • ประวัติอาการของผู้ป่วย
  • การตรวจร่างกาย  และ การตรวจร่างกายทางระบบประสาท    
  • การตรวจภาพสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือ เอมอาร์ไอ    
  • แต่การจะให้ได้ผลและทราบว่าเป็นเซลล์เนื้องอกไกลโอมาชนิดไหน และมีการแบ่งตัว (Grade/G)ของเซลล์เนื้องอกอย่างไร ต้องได้จากการตรวจชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อก่อนหรือหลังผ่าตัดเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา,  ทั่วไป กรณีผ่าตัดไม่ได้  แพทย์อาจใช้เทคนิคเฉพาะเพื่อการตัดชิ้นเนื้อผ่านทางการเจาะกะโหลกศีรษะ     

อนึ่ง: ก้อนเนื้อที่เกิดในบางตำแหน่งของสมองหรือของไขสันหลังที่อาจผ่าตัดหรือเจาะ/ตัดชิ้นเนื้อไม่ได้เพราะเป็นตำแหน่งที่อันตรายสูง อาจทำให้ผู้ป่วยถึงตายได้ จากภาวะเลือดออก และ/หรือสมองบวม หรือไขสันหลังบวมจากการเจาะ/ตรวจ หรือจากผ่าตัด  ซึ่งกรณีเช่นนี้ แพทย์จะวินิจฉัยโดยไม่มีผลตรวจทางพยาธิวิทยา และแพทย์จะให้การรักษาด้วยรังสีรักษาเพียงวิธีการเดียว โดยพิจารณายาเคมีบำบัดร่วมด้วยเป็นรายๆไป  โดยไม่มีผลตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา ใช้เพียงการวินิจฉัยโรคจากทางคลินิก

          นอกจากนี้ เนื่องจากไกลโอมา  เป็นโรคที่ธรรมชาติของโรค มักไม่ลุกลามแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่นๆ (พบแพร่กระจายไป ปอดและกระดูกได้บ้าง แต่พบน้อยมากๆ)  ดังนั้นจึงไม่มีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อการหาระยะโรคเพราะไม่มีการจัดระยะโรค แต่เป็นเพียงการตรวจสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เช่น

  • ตรวจเลือดซีบีซี/CBC   
  • ตรวจเลือด  ดูเบาหวาน ดูการทำงานของตับและของไต 
  • การตรวจปัสสาวะ
  • เอกซเรย์ปอดดูโรคของปอดและหัวใจ

เนื้องอกไกลโอมามีกี่ระยะ?

เนื้องอกไกลโอมาส่วนใหญ่เป็นชนิด’ไม่ใช่มะเร็ง’ จึงไม่มีการแพร่กระจาย จึงไม่มีการจัดระยะของโรค  ทั่วไปแพทย์จัดระยะโรคตามลักษณะทางคลินิก  โดยมีความรุนแรงของโรคตั้งแต่น้อยไปหามาก  เช่น

  • ระยะหรือกลุ่มที่โรคสามารถผ่าตัดได้หมด
  • ระยะหรือกลุ่มที่โรคผ่าตัดได้ แต่ผ่าตัดได้ไม่หมด
  • ระยะ/กลุ่มที่โรคที่ผ่าตัดไม่ได้  
  • ระยะ/กลุ่มที่โรคย้อนกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัดและ/หรือหลังรังสีรักษา  

นอกจากนั้น  แพทย์ยังจะพิจารณาร่วมกับลักษณะการแบ่งตัวของเซลล์เนื้องอกที่ได้จากการตรวจทางพยาธิวิทยาจากก้อนเนื้อ โดยการแบ่งตัวของเซลล์เนื้องอกกลุ่มโรคนี้แบ่งเป็น 4 ระดับ (Grade หรือย่อว่า G) ตามการแบ่งตัวจากน้อยไปหามาก   คือ

  • G1=Well differentiated (เซลล์แบ่งตัวน้อย)
  • G2=Moderated differentiated (เซลล์แบ่งตัวปานกลาง)
  • G3=Poorly differentiated หรือ Anaplastic (เซลล์แบ่งตัวมาก)  
  • และG4= Undifferentiated (เซลล์แบ่งตัวมากที่สุดจนลักษณะต่างจากเซลล์เดิมมาก) ซึ่งเรียกว่าเป็นมะเร็งชนิด Glioblastoma   หรือ Glioblastoma multiforme ย่อว่า GBM/ จีบีเอม  

อนึ่ง:

  • เมื่อเซลล์เนื้องอกฯมีการแบ่งตัวน้อย โรคจะรุนแรงน้อย มีการพยากรณ์โรคที่ดี   ละเมื่อเซลล์ยิ่งแบ่งตัวมาก การพยากรณ์โรคจะยิ่งแย่ลง
  • เนื้องอกไกลโอมา:
    • ชนิด G1 และ G2 เรียกรวมกันว่า “Low grade glioma” ซึ่งจัดเป็น “ชนิดไม่ใช่มะเร็ง” 
    • แต่ชนิด G3 และ G4 เรียกรวมกันว่า “High grade glioma” จัดเป็นโรครุนแรง คือ เป็น “ชนิดเป็นมะเร็ง”

รักษาเนื้องอกไกลโอมาอย่างไร?

การรักษาเนื้องอกไกลโอมาขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญ ได้แก่ ขนาดก้อนเนื้อ,   ตำแหน่งก้อนเนื้อในสมอง/ไขสันหลัง ,  การแบ่งตัวของเซลล์เนื้องอก,  อายุ,  และสุขภาพผู้ป่วย  

         ทั้งนี้ การรักษาหลักของเนื้องอกไกลโอมา  คือ การผ่าตัด  

  • โดยในกรณีที่ผ่าตัดได้:
    • เนื้องอกชนิด G1 และ G2 การรักษาจะผ่าตัดวิธีเดียว 
    • แต่ในโรคที่เป็น G3, G4 หรือ กรณีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ  การรักษามักเป็นผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษา       
  • กรณีผ่าตัดไม่ได้: การรักษาจะใช้รังสีรักษาวิธีการเดียว
  • ส่วนยาเคมีบำบัด จะพิจารณาให้ในผู้ป่วยเป็นกรณีไป ทั้งกรณีหลังผ่าตัด และ/หรือใช้ร่วมกับรังสีรักษา เพราะเนื้องอกไกลโอมา ยังตอบสนองไม่ดีต่อยาเคมีบำบัดชนิดที่มีอยู่ในปัจจุบัน และยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้ด้วยยาเคมีบำบัดวิธีเดียว   

อนึ่ง: การรักษาเนื้องอกไกลโอมาด้วยยารักษาตรงเป้า/ยารักษามุ่งเป้า/ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง, การใช้วัคซีนจากตัวเนื้องอกเอง, ยังอยู่ในการศึกษาวิจัยซึ่งกำลังก้าวหน้าอย่างมา

มีผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษาเนื้องอกหรือมะเร็งทุกชนิดที่รวมถึงเนื้องอกไกลโอมา จะเช่นเดียวกัน โดยขึ้นกับวิธีรักษา  เช่น

  • การผ่าตัด: เช่น  การสูญเสียอวัยวะ   การเสียเลือด  แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • รังสีรักษา:    คือ ผลข้างเคียงต่อผิวหนังและต่อเนื้อเยื่อสมอง (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง  การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณสมอง)    
  • ยาเคมีบำบัด: คือ อาการ คลื่นไส้อาเจียน   ผมร่วง   ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคเนื้องอกไกลโอมาจะสูงและรุนแรงขึ้นเมื่อ 

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
  • มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น  เบาหวาน   ความดันโลหิตสูง และ ไขมันในเลือดสูง  
  • สูบบุหรี่ 
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์   
  • ผู้สูงอายุ
  • เด็กเล็ก

เนื้องอกไกลโอมามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของเนื้องอกไกลโอมาขึ้นกับ

  • อายุ:  
    • การพยากรณ์โรคแย่ในเด็กอ่อนและในผู้สูงอายุ
    • การพยากรณ์โรคดีปานกลางในเด็กโตและในผู้ใหญ่
    • การพยากรณ์โรคดีในเด็กเล็ก
  • ขนาดก้อนเนื้อ/ขนาดรอยโรค: ยิ่งขนาดใหญ่การพยากรณ์โรคยิ่งแย่  
  • ตำแหน่งที่เกิดก้อนเนื้อ: การพยากรณ์โรคไม่ดีถ้าก้อนเนื้อเกิดในตำแหน่งที่ผ่าตัดไม่ได้ เช่น ที่ก้านสมอง
  • การผ่าตัด:
    • ถ้าผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้หมด การพยากรณ์โรคดี
    • ถ้าผ่าตัดได้มากกว่า 50% การพยากรณ์โรคดีปานกลาง
    • ถ้าผ่าตัดออกได้น้อย หรือผ่าตัดไม่ได้ การพยากรณ์โรคแย่
  • ระดับการแบ่งตัวของเซลล์ โดยเรียงตามลำดับจาก ดีมาก, ดี, เลว, ไปจนถึงเลวมาก คือ G1, G2, G3, และ G4

         ทั้งนี้ในกลุ่มผู้ป่วยที่การแบ่งตัวของเซลล์อยู่ที่ระดับ G1,G2  โอกาสอยู่รอดได้ถึง 10 ปีนับจากหลังการวินิจฉัยโรคได้และได้รับการรักษาอยู่ที่ประมาณ 40-90%  

  • ผู้ป่วย G3 อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 10-15%  และ
  • ผู้ป่วย G4 ทั่วไปมักอยู่ได้ประมาณ 1-2 ปี

อนึ่ง:

  • ไกลโอมาในอายุตั้งแต่เด็กโตขึ้นไป มักมีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัด  โดยเฉพาะโรคที่เซลล์แบ่งตัวตั้งแต่ระดับ G2 ขึ้นไปและในผู้ป่วยที่ผ่าตัดรอยโรคได้ไม่หมด  ซึ่งเมื่อโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ มีโอกาสที่เซลล์เนื้องอกจะกลายพันธ์ไปเป็นเซลล์ในระดับ G3,G4 (เป็นมะเร็ง)ได้ 
  • เนื้องอกไกลโอมาชนิด G3,G4 ที่เกิดใกล้กับโพรงน้ำในสมอง เซลล์เนื้องอก/เซลล์มะเร็งจะลุกลามแพร่กระจายเข้าน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (CSF: Cerebrospinal fluid) และสามารถแพร่ตาม CSF ไปยังสมองส่วนต่างๆรวมถึงไขสันหลังได้ ส่งผลให้โรครุนแรง รักษายาก และมักรักษาไม่หาย แต่การแพร่กระจายลักษณะนี้พบเกิดน้อย

ดูแลตนเองอย่างไร?

เนื่องจากสมองและไขสันหลังเป็นอวัยวะสำคัญมาก การเกิดเนื้องอก ถึงแม้จะเป็นชนิดไม่ใช่มะเร็ง ก็จัดเป็นโรครุนแรง คล้ายการเป็นมะเร็ง รวมทั้งวิธีที่ใช้รักษาด้วย    

 ดังนั้นการดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วย เนื้องอกไกลโอมา จึงเช่นเดียวกับการดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด ปรับใช้ด้วยกันได้ อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com  บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • และในเรื่อง การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

 

มีวิธีตรวจคัดกรองเนื้องอกไกลโอมาไหม?

ปัจจุบัน  ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบเนื้องอกไกลโอมาตั้งแต่ยังไม่มีอาการ

ป้องกันเนื้องอกไกลโอมาได้อย่างไร?

 ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันเนื้องอกไกลโอมา เพราะยังไม่ทราบสาเหตุ แต่การพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคนี้ลงได้บ้าง เช่น ลดการใช้โทรศัพท์มือถือ ให้ใช้แต่เฉพาะที่จำเป็น เพื่อลดปริมาณรังสีที่ได้รับจากโทรศัพท์มือถือ(อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ’รังสีจากโทรศัพท์มือถือ’)โดยเฉพาะในเด็ก

บรรณานุกรม

  1. Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia.
  2. J.et al.(2021).Cancer in Thailand Vol X, 2016-2018,Thailand
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Glioma  [2022,May14] 
  4. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/21969-glioma [2022,May14] 
  5. https://www.medscape.org/viewarticle/564764_2 [2022,May14]