ไกลเมพิไรด์ (Glimepiride)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไกลเมพิไรด์ (Glimepiride) เป็นสารกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylurea) ที่วงการแพทย์นำมารักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ยานี้ถูกออกแบบเป็นยาเม็ดสำหรับรับประทาน และสามารถออกฤทธิ์ได้ 24 ชั่วโมงต่อขนาดรับประทานที่เหมาะสม

จากการศึกษาการกระจายตัวของยาไกลเมพิไรด์ พบว่า หลังรับประทาน ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดภายในระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ตัวยาจะจับกับโปรตีนในเลือดได้มากกว่า 99.5% และเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีในเลือด ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือดประมาณ 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ยาไกเมพิไรด์ อาจนำไปใช้ร่วมกับ ยาอินซูลิน หรือ ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น โดยห้ามมิให้ผู้ป่วยเปลี่ยนการรับประทานหรือหยุดใช้ยาเหล่านี้เอง

ยาไกลเมพิไรด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไกลเมพิไรด์

ยาไกลเมพิไรด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาเบาหวานชนิดที่ 2 (Non-insulin dependent type II) การใช้ยาในผู้ป่วยจะเริ่มขึ้นเมื่อการควบคุมอาหาร การลดน้ำหนัก และการออกกำลังกาย ไม่สามารถทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงได้

ยาไกลเมพิไรด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไกลเมพิไรด์ คือ ตัวยาจะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน และเพิ่มการตอบสนองของร่างกายต่อฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้ร่างกายของผู้ป่วยตอบ สนองโดยมีการใช้น้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดได้มากยิ่งขึ้น ทำให้มีฤทธิ์รักษาโรคเบาหวานตามสรรพคุณ

ยาไกลเมพิไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไกลเมพิไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายในรูปแบบ เช่น

  • ยาเม็ดขนาด 1, 2, 3, และ 4 มิลลิกรัม /เม็ด

ยาไกลเมพิไรด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไกลเมพิไรด์มีขนาดรับประทาน เช่น

ก. ผู้ใหญ่: ขนาดเริ่มต้นของรับประทานคือ 1 มิลลิกรัมวันละครั้ง โดยรับประทานพร้อมอาหารเช้า หรือ อาหารมื้อแรกของวัน หากมีความจำเป็น แพทย์สามารถเพิ่มขนาดรับประทาน โดยแพทย์จะตรวจสอบความสัมพันธ์ของขนาดรับประทานที่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติในผู้ป่วยแต่ละรายไป ดังนั้นการเพิ่มขนาดรับประทานอาจทำเป็นขั้นตอนภายใน 1 - 2 สัปดาห์ เช่น เพิ่มขนาดรับประทานจาก 1 มิลลิกรัม เป็น 2 มิล ลิกรัม, 3 มิลลิกรัม, 4 มิลลิกรัม, 6 มิลลิกรัม, ไปจนกระทั่ง 8 มิลลิกรัม ซึ่งขนาดรับประทานที่เหมาะสมมักจะอยู่ในช่วงการรับประทาน 1 - 4 มิลลิกรัม/วัน โดยอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ข. เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดรับประทานยานี้ในเด็ก ขึ้นกับอายุ ความรุนแรงของโรค และต้องอยู่ในการดูแลใกล้ชิดโดยแพทย์เป็นผู้แนะนำเท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาไกลเมพิไรด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หายใจหอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะยาไกลเมพิไรด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยา และ/หรืออาหารเสริม อื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไกลเมพิไรด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาไกลเมพิไรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไกลเมพิไรด์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น

  • เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และมีอาการอื่นๆติดตามมา เช่น
    • ปวดหัว
    • คลื่นไส้-อาเจียน
    • รู้สึกง่วงนอน
    • อารมณ์ฉุนเฉียว
    • สับสน
    • ซึมเศร้า
    • การพูดติดขัด
    • อาการสั่น
    • การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน
    • หัวใจเต้นช้า หรือหัวใจเต้นเร็ว ผิดปกติ
    • มีอาการวิตกกังวล
  • อาจพบอาการแพ้ทางผิวหนัง (เช่น ขึ้นผื่น) เป็นต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาไกลเมพิไรด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไกลเมพิไรด์ เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Insulin-dependent Type I diabetes mellitus)
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยา ไกลเมพิไรด์ หรือแพ้ยาในกลุ่มซัลโฟนิลยูเรียอื่นๆ
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับหรือโรคไตในระยะรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยานี้อาจมีอันตรายต่อเด็กทารก
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุและเด็ก
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรค G6PD (ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี)
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาไกลเมพิไรด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไกลเมพิไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไกลเมพิไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

ก. การใช้ยาไกลเมพิไรด์ร่วมกับยาต่อไปนี้ สามารถเพิ่มฤทธิ์ในการลดน้ำตาลในเลือดได้ แพทย์ จะเป็นผู้พิจารณาปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆไป ยากลุ่มดังกล่าว เช่น

  • ยาลดน้ำตาลในเลือด เช่น ยาอินซูลิน และยาเบาหวานชนิดอื่นๆ
  • ยาลดความดัน เช่น ยาในกลุ่ม ACE inhibitors (เช่นยา Captopril, Enalapril, Quinapril, Ramipril)
  • ยาปฏิชีวนะ เช่นยา Chloramphenicol
  • ยาต้านเชื้อรา เช่นยา Miconazole
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin (Coumadin)

ข. สำหรับยากลุ่มที่ทำให้ฤทธิ์การรักษาของไกลเมพิไรด์มีฤทธิ์ด้อยลง และส่งผลให้ระดับน้ำ ตาลในเลือดสูงขึ้นกว่าปกติ เช่น

  • ยาต้านเศร้า เช่นยา Barbiturates
  • ยากลุ่มฮอร์โมน เช่นยา Estrogens, Progestrogens, Thyroid hormones (เช่น Levothyroxine)
  • ยาปฏิชีวนะ เช่นยา Rifampicin
  • ยากันชัก เช่นยา Phenytoin

ควรเก็บรักษายาไกลเมพิไรด์อย่างไร

ควรเก็บยาไกลเมพิไรด์ เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาไกลเมพิไรด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไกลเมพิไรด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Amarax 2 (แอมาแร็กซ์ 2) Charoon Bhesaj
Amaryl (อะแมริล) sanofi-aventis
Amaryl M SR (อะแมริล เอ็ม เอสอาร์) sanofi-aventis
Diaglip (ไดอะกลิบ) Siam Bheasach
Dibiglim (ดิบิกลีม) Sandoz
Glazer (เกลเซอร์) Pharmadica
Glimepiride GPO (ไกลเมพิไรด์ จีพีโอ) GPO
Gliparil 2 (กลีพาริล 2) Polipharm
Losu-3 (โลซู-3) Unison

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Glimepiride [2020,Aug22 ]
2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fAmaryl%2f%3ftype%3dfull#Indications [2020,Aug22 ]
3. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fDrug%2finfo%2fAmarax%25202%2f%3ftype%3dbrief [2020,Aug22 ]
4. http://www.drugs.com/drug-interactions/glimepiride-index.html?filter=2&generic_only=#E[2020,Aug22 ]