โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia)

สารบัญ

ทั่วไป

ภาวะขาดธาตุเหล็กเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประชากรโลก ประมาณว่า อย่างน้อยประชากรหนึ่งล้านคนมีปัญหาภาวะขาดธาตุเหล็ก

ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron deficiency anemia) เป็นอาการของการขาดธาตุเหล็กที่รุนแรงที่สุดและพบบ่อยในประเทศที่กำลังพัฒนา 40% ถึง 60% ของประชากรเด็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 2 ปี ในประเทศที่กำลังพัฒนามีปัญหาขาดธาตุเหล็ก ข้อมูลการศึกษาในประเทศไทย เด็กเล็กก่อนวัยเรียนยังมีปัญหาการขาดธาตุเหล็กมาก แต่ในเด็กวัยเรียนปัญหานี้น้อยลงกว่าอดีต

โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก

ธาตุเหล็กสำคัญอย่างไร?

ธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบสำคัญในฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ซึ่งเป็นสารสีแดงในเม็ดเลือดแดง มีหน้าที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ยังเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ (Enzyme คือ สารประเภทโปรตีน ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีของกรรมวิธีต่างๆทางชีววิทยา เช่น การย่อยอาหาร) และมีความสำคัญต่อการทำงานของเอนไซม์หลายชนิดในร่างกายด้วย

การขาดธาตุเหล็กทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างนอกเหนือไปจากการเกิดภาวะโลหิตจาง ยังพบว่าทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตผิดปกติ มีความผิดปกติในระบบประสาท ความจำ ในระยะยาวทำให้เด็กมีความผิดปกติของพัฒนาการทางระบบประสาท การเรียน และพฤติกรรม ซึ่งบางส่วนไม่สามารถกลับคืนเป็นปกติได้ จึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันไม่ให้เด็กมีภาวะขาดธาตุเหล็ก

เด็กแรกเกิดปกติ จะมีธาตุเหล็กในร่างกายประมาณ 0.5 กรัม ขณะที่ผู้ใหญ่มีธาตุเหล็กประมาณ 5 กรัม ดังนั้นเพื่อให้มีธาตุเหล็กเพียงพอต่อการเจริญเติบโต และทดแทนส่วนที่สูญเสียไปกับการหลุดลอก หรือ การตายของเซลล์ต่างๆในร่างกาย ในวัยเด็กจึงต้องมีการดูดซึมธาตุเหล็กวันละประมาณ1 มิลลิกรัม ซึ่งธาตุเหล็กจากอาหารจะถูกดูดซึมประมาณ10%ของธาตุเหล็กจากอาหารนั้นๆที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ดังนั้นอาหารโดยรวมในแต่ละวัน จึงควรมีธาตุเหล็กประมาณ 8-10 มิลลิกรัม

ธาตุเหล็กในนมแม่ จะถูกดูดซึมได้ดีกว่าธาตุเหล็กในนมวัว 2-3 เท่า จึงควรสนับสนุนให้เด็กดื่มนมแม่ ในเด็กเล็กอาหารที่ได้รับส่วนใหญ่จะมีธาตุเหล็กน้อย จึงควรมีการเสริมธาตุเหล็กในอาหาร (ควรปรึกษาแพทย์ก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ) หรือในนม (เลือกบริโภคนมที่มีการเสริมธาตุเหล็ก) เพื่อป้องกันภาวะขาดธาตุเหล็ก

การขาดธาตุเหล็กมีสาเหตุจากอะไร?

ในประเทศกำลังพัฒนา พยาธิปากขอเป็นสาเหตุสำคัญทำให้มีเลือดออกในลำไส้เรื้อรัง และทำให้เกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ในผู้ใหญ่เพศชาย มักเกิดจากเลือดออกในทางเดินอาหารที่ไม่ได้เกิดจากพยาธิ (เกิดจากการใช้ยาแก้ปวดบางชนิดหรือจากมะเร็งในทางเดินอาหาร) ในผู้ใหญ่เพศหญิงวัยยังมีประจำเดือน มักเกิดจากการเสียเลือดจากประจำเดือนมากผิดปกติ แต่ในวัยหมดประจำเดือน สาเหตุจะเช่นเดียวกับในผู้ชาย

ในเด็กอายุขวบปีแรก ภาวะขาดธาตุเหล็กมักเกิดจากการดื่มนมวัวปริมาณมาก (มากกว่า 2 ลิตรต่อวัน) หรือการให้นมแม่นานกว่า 6 เดือนโดยไม่ให้อาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กเพียงพอ

เนื่องจากเด็กมีการเจริญเติบโตรวดเร็ว เช่น ในขวบปีแรก หรือในวัยรุ่นต้องการธาตุเหล็กมาก หากได้ธาตุเหล็กไม่เพียงพอกับการเจริญเติบโตนั้น จะทำให้เกิดภาวะขาดธาตุเหล็กด้วย

ในเด็กเล็ก และเด็กทั่วไป การได้รับอาหารไม่เพียงพอเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก

ภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กมีอาการอย่างไร?

ภาวะโลหิตจางเป็นอาการสำคัญที่สุดของภาวะขาดธาตุเหล็ก เมื่อมีภาวะโลหิตจางไม่มาก หรือมีโลหิตจางปานกลาง ร่างกายจะปรับตัวได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษา อาการจะมากขึ้น และถ้ายังไม่ได้รับการรักษาอีก ผู้ป่วยอาจโลหิตจางมากจนเกิดภาวะหัวใจวายได้

ผู้ป่วยที่ขาดธาตุเหล็ก จะมีอาการ ตัวซีด ริมฝีปากซีด เหนื่อยง่าย เวียนศีรษะบ่อย ปวดศีรษะบ่อย หงุดหงิดง่าย อาจมีการอยากกินของแปลกๆ อาจมีลิ้นซีดและลิ้นมีผิวเรียบ ไม่ขรุขระเหมือนปกติ ริมฝีปาก และมุมปากอักเสบ อาจจะมีเล็บบาง หรืองอนคล้ายช้อน

เด็กที่ขาดธาตุเหล็กจะหงุดหงิด ไม่อยากรับประทานอาหาร ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม อาจมีพฤติกรรมและพัฒนาการผิดปกติ รวมทั้งผลการเรียนด้อยลง

แพทย์วินิจฉัยภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กอย่างไร?

แพทย์จะใช้เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะโลหิตจางซึ่งแตกต่างกันตามอายุของผู้ป่วย ร่วมกับหลักฐานการขาดธาตุเหล็ก โดยการตรวจเลือดซีบีซี (CBC) และอาจร่วมกับการตรวจเลือดดูปริมาณธาตุเหล็กในร่างกาย แต่ในแหล่งที่ไม่สามารถตรวจเลือดได้ จะใช้วิธีลองให้กินยาธาตุเหล็ก 4-6 สัปดาห์ แล้วติดตามผลว่า อาการดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งการรักษาและการวินิจฉัยโดยวิธีกินยาธาตุเหล็กแล้วติดตามอาการผู้ป่วยว่าดีขึ้นหรือไม่ เป็นที่ยอมรับเป็นสากล

รักษาภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก ได้แก่

  1. หาสาเหตุ และกำจัด หรือ รักษาสาเหตุนั้นๆ เช่น การรักษาพยาธิปากขอ เมื่อสาเหตุเกิดจากพยาธิปากขอ เป็นต้น
  2. รับประทานยาธาตุเหล็ก ซึ่งแพทย์จะให้ยาตามขนาดและน้ำหนัก ในเด็กเล็กที่ต้องให้ยาธาตุเหล็กชนิดน้ำ ควรหยอดยาไปด้านหลังลิ้นเพื่อไม่ให้ติดเป็นคราบดำที่ฟัน เมื่อได้ยาธาตุเหล็ก เด็กจะมีอุจจาระเป็นสีดำ ซึ่งเป็นสีของยาธาตุเหล็กที่เหลือจากการดูดซึม อาจมีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง ดังนั้นควรกินยานี้หลังอาหาร เพื่อลดอาการข้างเคียงดังกล่าว และบางคนอาจมีท้องผูก หรือท้องเสีย

    ส่วนใหญ่ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก จะตอบสนอง และทนต่อยาธาตุเหล็กชนิดรับประทานได้ดีกว่าในเด็ก (แต่อุจจาระจะมีสีดำผิดปกติเช่นเดียวกับในเด็ก) ยกเว้นในกรณีที่มีความผิดปกติของลำไส้ เช่น ท้องเสียเรื้อรัง หรือผนังลำไส้ผิดปกติ ซึ่งมีผลต่อการดูดซึมธาตุเหล็ก จึงต้องให้ยาธาตุเหล็กชนิดฉีด

  3. ให้รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กปริมาณสูง เช่น เนื้อสัตว์ เลือดสัตว์ เครื่องในสัตว์ ผักใบเขียวเข็ม เช่น ผักตำลึง
  4. ในกรณีที่มีภาวะโลหิตจางมาก อาจต้องรักษาด้วยการให้เลือด

ควรจะพบแพทย์เมื่อใด?

ในเด็กการไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อให้วัคซีนตามอายุ แพทย์อาจตรวจร่างกายพบได้ว่า มีภาวะโลหิตจางเมื่อเด็กมีภาวะโลหิตจางในระดับที่พอตรวจเห็นได้จากการตรวจร่างกาย แต่หากมีภาวะโลหิตจางไม่มาก ในการตรวจร่างกาย แพทย์อาจตรวจไม่พบภาวะโลหิตจาง เพราะแยกยากจากเด็กที่มีผิวขาว ดังนั้นหากบุตรหลานมีอาการหงุดหงิด ไม่อยากรับประทานอาหาร ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ ทางที่ดีและมีการแนะนำคือ เมื่อเด็กอายุ 9 ถึง 12 เดือน หากได้เจาะเลือดตรวจซีบีซี จะช่วยให้ตรวจพบว่าเด็กมีภาวะโลหิตจางหรือไม่ ทำให้วินิจฉัยภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กได้ ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ป่วยด้วยภาวะโลหิตจางจากโรคธาลัสซีเมีย สูงด้วย การตรวจเลือดซีบีซี จึงช่วยการวินิจฉัยเบื้องต้นของโรคนี้ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องแต่เนิ่นๆ

ในเด็กโต หรือในผู้ใหญ่หากมีอาการ เหนื่อย เพลีย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะบ่อย หรือมีความผิดปกติ เช่น ถ่ายอุจจาระสีดำเหมือนยางมะตอย (อาการจากมีเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร) หรือถ่ายเป็นเลือด หรือมีเลือดออกที่ใดผิดปกติ รวมทั้งมีประจำเดือนมากผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรักษาต่อไป

รู้ได้อย่างไรว่าเด็กตอบสนองต่อการรักษา?

โดยทั่วไป ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ตอบสนองต่อการรักษาได้ดี โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์จะดีขึ้นภายในเวลาไม่กี่วัน อาจดีขึ้นก่อนการเปลี่ยนแปลงทางระบบเลือด ซึ่งจะมีการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นใน 3-4 วัน ทั้งนี้การให้ยาธาตุเหล็กจะให้อยู่นานจนภาวะโลหิตจางกลับคืนเป็นปกติ ซึ่งส่วนใหญ่จะปกติภายใน 1 เดือน แล้วจะให้ธาตุเหล็กต่อจนครบเวลาทั้งหมดประมาณ 3 เดือน เพื่อเสริมธาตุเหล็กให้กับอวัยวะสำคัญที่เป็นแหล่งสะสมธาตุเหล็ก (ไขกระดูก ตับ และม้าม) ในเด็กเล็กที่ลดขนาดการกินธาตุเหล็กในแต่ละวันเพื่อป้องกันผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร อาจให้ยานาน 4-6 เดือน

อนึ่ง การเปลี่ยนแปลงในเรื่องพัฒนาการ ระบบประสาท ความจำจะดีขึ้นในระยะเวลาไม่นานหลังได้รับการรักษา

ป้องกันภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็กอย่างไร?

เด็กคลอดครบกำหนดจะมีธาตุเหล็กสะสมที่ได้รับจากแม่เพียงพอจนถึงอายุ 4-6 เดือน ในเด็กคลอดก่อนกำหนด (อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์) จะมีธาตุเหล็กสะสมน้อยกว่าเด็กคลอดครบกำหนด ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้หากเลี้ยงด้วยนมแม่ควรให้ธาตุเหล็กเสริม (ซึ่งควรปรึกษาแพทย์ก่อน ไม่ควรซื้อยาธาตุเหล็กให้เด็กกินเอง) โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 1 เดือนถึง 12 เดือน ธาตุเหล็กที่ให้เสริมอาจให้ในรูปของยา (โดยแพทย์แนะนำ) หรือในรูปของอาหารเสริม (ควรปรึกษาแพทย์ พยาบาล ก่อนการให้อาหารเสริมในเด็กเสมอ)

อนึ่ง เด็กคลอดครบกำหนดที่กินนมแม่อย่างเดียวจะมีธาตุเหล็กเพียงพอ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้แม่เลี้ยงลูก ด้วยนมแม่อย่างเดียว (โดยไม่ให้อาหารอื่นๆ) นานถึง 6 เดือน

สมาคมด้านโรคเด็กแห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatrics) แนะนำให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 4 เดือน แต่อยากให้นานถึง 6 เดือน แต่หากให้นมแม่อย่างเดียวมากกว่า 6 เดือน จะเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็กเมื่ออายุเด็กได้ 9 เดือน ดังนั้นหลังเด็กอายุ 6 เดือน ต้องให้อาหารเสริมที่มีธาตุเหล็กเพียงพอ แต่ควรปรึกษาแพทย์ พยาบาล ก่อนการให้ยาธาตุเหล็ก หรือ อาหารเสริมธาตุเหล็กกับเด็กเสมอ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียง เช่นท้องเสีย ปวดท้อง ตับ ไต ปอด หัวใจ อักเสบ จากได้ธาตุเหล็กสูงเกินปกติได้

บรรณานุกรม

  1. Baker RD, Greer FR; Committee on Nutrition American Academy of Pediatrics.Diagnosis and prevention of iron deficiency and iron-deficiency anemia in infants and young children (0-3 years of age). Pediatrics. 2010;126:1040-50.
  2. Glader B. 447 Iron-deficiency anemia. In: Kliegman RM, Stanton BF, Geme JW St. III, Schor NF, Behrman RE, eds. Nelson Textbook of Pediatrics. 19th ed. Philadelphia, PA: Saunder, 2011, 1614-6.
  3. Rose MG, Leissinger CD. Acquired under production anemias. In: Gregory SA, McCrae KR, eds. ASH-SAP American Society of Hematology Self-Assessment Program. 4th ed. Washington D.C: American Society of Hematology. 2010,110-3.