โรคผิวหนังเกล็ดปลา โรคผิวหนังแห้งแต่กำเนิด (Ichthyosis vulgaris)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรค Ichthyosis vulgaris หรือโรคผิวหนังแห้งแต่กำเนิด เป็นโรคที่พบอยู่ในกลุ่มโรคผิว หนังเกล็ดปลา (Ichthyosis) ที่พบได้บ่อยที่สุด แต่มีความรุนแรงน้อยที่สุด สถิติพบได้โดยประ มาณ 4 คนในประชากร 1,000 คน ความรุนแรงของโรคหลากหลาย ตั้งแต่เป็นน้อยๆคือ ผิวดูแห้งสาก ถึงเป็นมาก ผิวขรุขระ เป็นขุย สะเก็ด

ทั้งนี้ในบทความนี้ ขอเรียก โรค Icthyosis vulgaris ว่า โรคผิวหนังเกล็ดปลา

โรคผิวหนังเกล็ดปลามีสาเหตุและกลไกการเกิดโรคอย่างไร?

โรคผิวหนังเกล็ดปลา

สาเหตุของโรคผิวหนังเกล็ดปลา เกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน/จีน (Gene) ที่ทำหน้าที่สร้างและผลัดเซลล์ผิวหนัง เป็นจีนที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบจีนเด่นคือ หากมีพ่อหรือแม่เป็นโรค โอกาสเป็นโรคของลูกคือ 50% เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของจีน โรคนี้จึงไม่ใช่โรคติดต่อ ดังนั้นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ คือผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคนี้ โดยจากการถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมเท่านั้น ไม่ใช่จากการสัมผัส

โรคผิวหนังเกล็ดปลามีอาการอย่างไร?

อาการและความรุนแรงของโรคผิวหนังเกล็ดปลามีหลากหลาย โดยเมื่อแรกเกิด ผิวหนังจะเป็นปกติ ซึ่งเริ่มแสดงอาการผิวแห้งได้ตั้งแต่อายุประมาณ 3 เดือน ความรุนแรงของโรคใน ช่วงวัยเด็ก มักเป็นมากขึ้นๆจนผ่านวัยรุ่น อาการก็จะดีขึ้นๆตามอายุที่มากขึ้น แต่อาการอาจกลับเป็นมากขึ้นได้อีกเมื่อสูงอายุ

บริเวณที่พบรอยโรคเด่นชัดคือ บริเวณหน้าแข้ง รองลงมาคือ บริเวณแขน เว้นบริเวณข้อพับ บริเวณแก้ม และหน้าผาก พบได้บ้างในเด็กเล็ก รอยโรคมีลักษณะเป็นขุย สะเก็ดผิวหนังแห้ง ทำให้ดูเป็นเงา ผิวหนังดูหนาขึ้น และมักมีอาการคันร่วมด้วยแต่ไม่มาก

ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อมีอาการผิวหนังแห้ง/ผิวแห้ง โดยเฉพาะที่ก่ออาการ เช่น คันมาก มีรอยแตก หรือ ผิวแห้งมากขึ้นหลังดูแลตนเอง สามารถพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อทำการวินิจฉัยเนื่องจากสาเหตุของผิวแห้งนั้น ยังมีโรคอื่นอีกทั้งจากระบบผิวหนังเองหรือโรคจากระบบอื่นในร่างกาย

แพทย์วินิจฉัยโรคผิวหนังเกล็ดปลาได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคผิวหนังเกล็ดปลาได้จาก ประวัติอาการ ประวัติอาการในครอบครัว และ การตรวจร่างกายดูรอยโรคที่ผิวหนัง แต่หากแพทย์มีข้อสงสัย เพราะรอยโรคแยกได้ยากจาก ผิวแห้งสาเหตุจากโรคอื่นๆ ก็จะมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม เช่น การตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เป็นต้น

แพทย์รักษาโรคผิวหนังเกล็ดปลาอย่างไร?

โรคผิวหนังเกล็ดปลา เป็นโรคที่รักษาไม่หาย การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ คือ ดู แลป้องกันผิวแห้ง โดย

  • ใช้ครีมให้ความชุ่มชื้นหลังอาบน้ำเช้าเย็น หรือหากผิวแห้งระหว่างวันก็สามารถทาครีมฯเพิ่มได้ โดยอาจใช้ครีมให้ความชุ่มชื้นที่มีส่วนผสมของ AHA (Alpha hydroxy acid), Urea, BHA (Beta hydroxy acid), Propylene glycol เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิว
  • เลี่ยงการอาบน้ำอุ่น
  • ใช้สบู่อ่อนโยน เช่น สบู่เด็กอ่อน ฟอกสบู่แต่น้อย ถ้าผิวแห้งมากให้ฟอกเฉพาะลำตัว รักแร้ ขาหนีบ มือเท้า ก็เพียงพอ
  • หากมีผิวหนังอักเสบ แดง คันมาก สามารถใช่ยาทาสเตียรอยด์ลดอาการอักเสบ ร่วม กับยารับประทานแก้แพ้กลุ่ม Antihistamine (แอนติฮิสตามีน) เพื่อลดอาการคัน (ปรึกษาเภสัชกรร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ)

โรคผิวหนังเกล็ดปลาก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงที่พบได้จากโรคผิวหนังเกล็ดปลา คือ จากผิวแห้ง ทำให้เกิดอาการคันผิว หนัง ถ้าเกามากจนเป็นรอยถลอก ก็จะง่ายต่อการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง นอกจากนั้น คือ เป็นผลต่อความสวยงามสำหรับบางคน

โรคผิวหนังเกล็ดปลามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของโรคผิวหนังเกล็ดปลา คือ เป็นโรครักษาไม่หาย แต่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต และไม่มีผลกระทบต่ออายุขัย นอกจากนั้นเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นโรคมักหายได้เอง อย่างไรก็ตามโรคสามารถกลับเป็นซ้ำได้อีกเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

โดยทั่วไปอาการมักดีขึ้นตามอายุ ส่วนความรุนแรงของอาการ แตกต่างกันในแต่ละบุคคล(บอกไม่ได้ว่าใครจะมีอาการรุนแรง) และอาการจะเป็นมากขึ้นในฤดูหนาวที่มีภาวะอากาศแห้ง

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคผิวหนังเกล็ดปลา คือ

  • รักษาความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อการรักษา เช่น การใช้ครีมบำรุงผิว การใช้สบู่ชนิดอ่อนโยน เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการเกา ถ้ามีอาการคัน ใช้เพียงการตบเบาๆบริเวณที่คัน หรือประคบเย็นเมื่อคันมาก
  • เพิ่มความชื้นในห้องปรับอากาศ ด้วยการใช้เครื่องช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ หรือใช้การวางแก้วน้ำหลายๆใบ

เมื่อไหร่ต้องพบแพทย์ก่อนนัด?

ถ้าเคยพบแพทย์ด้วยโรคนี้ ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อ อาการผิวแห้ง คัน และ/หรือ ผื่นที่ผิวหนัง เป็นมากขึ้น และ/หรือ มีผื่นแดง คันอักเสบ ที่เกิดขึ้นใหม่

ป้องกันโรคผิวหนังเกล็ดปลาได้อย่างไร?

เนื่องจากเป็นโรคทางพันธุกรรม ดังนั้นจึงไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคนี้ แต่สามารถป้องกันการกำเริบของโรคได้ โดยการรักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง หลีกเลี่ยงอากาศแห้ง และหนาวเย็นจัด

บรรณานุกรม

  1. Lowell A Goldsmith , Stephen I Katz , Barbara A Gilchrest,Amy S.Paller ,David J. Leffell,Klaus Wolff, Amy S. Paller, David J.Leffell ; Fitzpatrick's dermatology in general medicine ; eighth edition ; Mc Grawhill medical
  2. Ichthyosis Vulgaris : medscape ; http://emedicine.medscape.com/article/1112753-overview [2014,Jan6].
  3. ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร บรรณาธิการ. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน Dermatology 2020 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ โฮลิสติก พับลิชชิ่ง. 2555, 231-234.