โรคทางเดินหายใจ โรคระบบหายใจ โรคระบบทางเดินหายใจ (Respiratory tract disorder)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคทางเดินหายใจ หรือ โรคระบบหายใจ หรือ โรคระบบทางเดินหายใจ (Respiratory tract disorder หรือ Respiratory tract disease) คือ โรคที่เกิดจากมีความผิดปกติของเนื้อ เยื่อ/อวัยวะต่างๆในระบบทางเดินหายใจ เช่น จมูก ลำคอ ท่อลม หลอดลม และปอด

ระบบทางเดินหายใจ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ระบบทางเดินหายใจตอนบน และระบบทางเดินหายใจตอนล่าง

ก). “ระบบทางเดินหายใจตอบบน หรือ ตอนต้น (Upper respiratory tract)” ประกอบ ด้วย โพรงจมูก ไซนัส ลำคอ โพรงหลังจมูก กล่องเสียง และแพทย์บางท่านรวมท่อลม (Trachea) ด้วย โดยแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลรักษาโรคของเนื้อเยื่อ/อวัยวะในส่วนนี้คือ แพทย์ หู คอ จมูก (อีเอ็นที/ENT/Ear Nose Throat)

ข). “ระบบทางเดินหายใจตอนล่าง (Lower respiratory tract)” ซึ่งประกอบ ด้วย ปอดและหลอดลม แต่แพทย์บางท่านจะรวมท่อลมไว้ด้วย ดังนั้น ท่อลมจึงเป็นอวัยวะที่เป็นได้ทั้งทางเดินหายใจตอนบน หรือทางเดินหายใจตอนล่าง ทั้งนี้แล้วแต่คำนิยามของแพทย์แต่ละท่าน ซึ่งแพทย์เฉพาะทางที่ให้การดูแลรักษาโรคของเนื้อเยื่อ/อวัยวะในส่วนตอนล่างนี้ คือ แพทย์อายุรกรรมโรคปอด และศัลยแพทย์โรคปอดและหัวใจ

อนึ่ง เมื่อโรคทางเดินหายใจเกิดขึ้นเฉียบพลันและสามารถรักษาได้หายภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 - 6 เดือน (โดยทั่วไปจะใช้เวลารักษาให้หายได้ในระยะเวลาประมาณ 2 - 4 สัปดาห์) เรียกว่า “โรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน (Acute respiratory disease)” แต่ถ้าเป็นโรคที่มีอา การอยู่นานเกิน 3 เดือน แพทย์มักเรียกว่า “โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง (Chronic respiratory disease)” ซึ่งโรคเรื้อรังนี้การรักษาให้หายมักเป็นไปได้ยาก การรักษาเพียงเพื่อช่วยบรรเทาอา การให้ผู้ป่วยคงมีคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ บางครั้งอาการในโรคเรื้อรังอาจจะเป็นๆหายๆ หรืออาจมีอาการเฉียบพลันซ้ำซ้อนเป็นครั้งคราวก็ได้

โรคระบบทางเดินหายใจเป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกเพศและในทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ เพศหญิงและเพศชายมีโอกาสเกิดโรคได้ใกล้เคียงกัน โดยโรคที่พบได้บ่อยที่สุดคือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อ ทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย

ในสหราชอาณาจักร ในปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) มีรายงานผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยการติดเชื้อทางเดินหายใจตอนบนที่มีลักษณะอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เฉลี่ยประมาณ 1.94 รายต่อประชากร 100,000 คนในทุกๆสัปดาห์ และที่มีอาการของทางเดินหายใจตอนล่าง คือ หลอดลมอักเสบเฉลี่ยประมาณ 55.64 รายต่อประชากร 100,000 คนในทุกๆสัปดาห์เช่นกัน

มีรายงานจากสหรัฐอเมริกาว่า โรคปอดเรื้อรังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 4 ของชาวอเมริกัน รองจาก โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดสมอง ตามลำดับ โดยอัตราเสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจนี้อยู่ที่ประมาณ 40 รายต่อประชากร 100,000 คน

โรคทางเดินหายใจมีสาเหตุจากอะไร? โรคอะไรพบได้บ่อย?

โรคทางเดินหายใจ

โรคทางเดินหายใจมีสาเหตุได้จากหลากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • การติดเชื้อ หรือที่เรียกว่า โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคทางเดินหายใจ โดยการติดเชื้อที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อไวรัส ทั้งของทางเดินหายใจตอนต้น (ที่พบบ่อยคือ โรคหวัดและไข้หวัดใหญ่) และของทางเดินหายใจตอนล่าง (ที่พบบ่อย คือ โรคหลอดลมอักเสบ) ส่วนโรคที่พบบ่อยจากการติดเชื้อแบคทีเรียคือ โรคไซนัสอักเสบ โรคปอดอักเสบ/โรคปอดบวม
  • การสูบบุหรี่ โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่มักเป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยที่สุด และเป็นสา เหตุให้เสียคุณภาพชีวิตและเสียชีวิตได้สูงคือ โรคถุงลมโป่งพอง (Pulmonary emphysema) และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือที่เรียกย่อว่า โรคซีโอพีดี (COPD, Chronic obstructive pulmo nary disease) และมะเร็งปอด
  • โรคภูมิแพ้ ก็เป็นอีกโรคที่พบได้บ่อย
  • จากพันธุกรรม โดยโรคที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมที่พบได้บ่อย คือ โรคหืด
  • อุบัติเหตุ เช่น ถูกยิง ถูกแทง อุบัติเหตุรถยนต์ การสำลักควันต่างๆ หรือมีสิ่งแปลก ปลอมหลุดเข้าทางเดินหายใจ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเร่งด่วนทางลำคอ) เช่น สำลักอาหารหรือการกลืนเมล็ดผลไม้
  • จากการขาดออกซิเจนในอากาศ เช่น โรคจากการขึ้นที่สูง หรือ การสูดดมสารพิษ หรือควันต่างๆ
  • จากโรคหัวใจ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะเลือดคั่งในปอด จึงก่ออาการทางการหายใจขึ้น
  • จากโรคมะเร็ง โดย โรคมะเร็งปอดเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดติด 1 ใน 4 ของโรค มะเร็งที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในคนที่สูบบุหรี่เรื้อรัง นอกจากนั้นคือโรคมะเร็งของอวัยวะต่างๆที่แพร่กระจายมายังปอด (เช่น มะเร็งเต้านมแพร่กระจายมายังปอด เป็นต้น)
  • สาเหตุอื่นๆที่พบได้บ้างประปราย เช่น มีก้อนเลือดเล็กๆอุดตันในหลอดเลือดปอด (Pul monary embolism), มีความดันในหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary hypertension), โรคเนื้องอกปอด, ภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ/โรคปอดแตก (Pneumothorax), หรือภาวะปอดเป็นพังผืดจากการฉายรังสีรักษาในโรคมะเร็งปอด, หรือจากผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัดบางชนิด

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจ?

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจที่สำคัญที่สุดคือ

  • การขาดสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อต่างๆของอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ
  • การไม่รู้จักใช้หน้ากากอนามัย และ
  • การสูบบุหรี่ ซึ่งรวมทั้งการสูบบุหรี่มือสอง/ได้รับควันบุหรี่ต่อเนื่องโดยไม่ได้สูบบุหรี่เอง (Secondhand smoke)

โรคทางเดินหายใจมีอาการอย่างไร?

อาการเฉพาะของโรคทางเดินหายใจคือ อาการไอ ที่มีได้ทั้งไอมีเสมหะ หรือไอโดยไม่มีเสมหะ ส่วนอาการอื่นๆเป็นอาการไม่เฉพาะ พบได้ในโรคอื่นๆ ซึ่งที่พบได้บ่อย คือ

  • หายใจลำบาก หอบ เหนื่อยง่าย
  • เสมหะ/ไอเป็นเลือด
  • อาการเขียวคล้ำ
  • นอนราบแล้วหายใจไม่ได้
  • มีไข้ ซึ่งมีได้ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ
  • ภาวะหายใจล้มเหลว
  • หมดสติ โคม่า

แพทย์วินิจฉัยโรคทางเดินหายใจได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคทางเดินหายใจได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยในครอบครัว ประวัติสูบบุหรี่ การตรวจร่างกายทั่วไป การนับอัตราการหายใจ (สัญญาณชีพ) การตรวจฟังเสียงการหายใจโดยใช้เครื่องตรวจฟังของแพทย์ (หูฟัง) และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ขึ้นกับอาการผู้ป่วย ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อชนิดต่างๆ การตรวจเลือดดูค่าออกซิเจน และ/หรือ คาร์ บอนไดออกไซด์ การตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอดด้วยการเป่าลมหรือเป่าปอด การตรวจ เชื้อ และ/หรือการเพาะเชื้อจากเสมหะ และ/หรือจากน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด การตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ และ/หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การส่องกล้องตรวจหลอดลมในปอด การเจาะ/ดูดเซลล์จากก้อนเนื้อหรือจากน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา หรือการตัดชิ้นเนื้อจากเนื้อเยื่อหรือก้อนเนื้อในทางเดินหายใจเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาโรคทางเดินหายใจอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคทางเดินหายใจคือ การรักษาสาเหตุและการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก). การรักษาตามสาเหตุ จะแตกต่างกันในแต่ละสาเหตุ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อโรคเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย การให้ยาต้านไวรัส เช่น ในไข้หวัดใหญ่ 2009 ถ้าโรคเกิดจากไวรัสชนิดมียาต้านไวรัส (มีไวรัสบางชนิดเท่านั้นที่มียาต้านไวรัส เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ และไว รัสเอชไอวี) การรักษาโรคภูมิแพ้ เมื่อสาเหตุเกิดจากโรคภูมิแพ้ การใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดเมื่อโรคเกิดจากมีก้อนเลือดอุดตันในหลอดเลือดปอด หรือการผ่าตัดเมื่อมีเนื้องอก หรือมะ เร็งปอดระยะที่ผ่าตัดได้ หรือรักษามะเร็งปอดระยะลุกลามด้วยยาเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา เป็นต้น

ข). การรักษาประคับประคองตามอาการ ที่สำคัญคือ เลิกบุหรี่ (เมื่อสูบบุหรี่) ไม่สูบบุหรี่ การให้ยาแก้ไอ ยาขับเสมหะ ยาละลายเสมหะ ยาลดไข้ การให้ออกซิเจน และ/หรือการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำกรณีกิน/ดื่มได้น้อย หรือขาดสารอาหาร เป็นต้น

โรคทางเดินหายใจรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

การพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของโรคทางเดินหายใจขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • โรคไม่รุนแรงเมื่อเป็นโรคหวัดหรือไซนัสอักเสบ
  • โรครุนแรงปานกลางเมื่อเป็นปอดบวม แต่ถ้าพบแพทย์ล่าช้า ผู้ป่วยก็อาจเสียชีวิตจากปอดบวมได้
  • และโรคที่รุนแรงที่สุด คือ โรคมะเร็งปอด หรือมีมะเร็งของอวัยวะอื่นๆแล้วแพร่กระจายสู่ปอด (เช่น โรคมะเร็งเต้านม)

ผลข้างเคียงจากโรคทางเดินหายใจ คือ อาการหายใจลำบาก และอาการไอ โดยเฉพาะเมื่อเกิดจากโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในผู้ที่สูบบุหรี่เรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลถึงคุณ ภาพชีวิตทั้งในการใช้ชีวิตประจำวันและในการงาน

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองที่สำคัญคือ เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ เมื่ออาการเลวลงหรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 - 3 วันหลังการดูแลตนเอง ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ

เมื่อรู้ตัวแล้วว่าเป็นโรคทางเดินหายใจ การดูแลตนเองและการพบแพทย์ คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • เลิกบุหรี่เมื่อสูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อสุขภาพแข็งแรง ป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อน และการแพร่กระจายเชื้อ
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • เคลื่อนไหวร่างกายเสมอ ร่วมกับการออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • ดื่มน้ำสะอาดมากๆเมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม เพราะน้ำจะช่วยละลายเสมหะ จึงช่วยลดอาการและความรุนแรงของอาการไอ
  • กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • อยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่มีมลภาวะ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด

มีการตรวจคัดกรองโรคทางเดินหายใจไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่มีการตรวจคัดกรองโรคทางเดินหายใจ รวมทั้งยังไม่มีวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอด อย่างไรก็ตาม แพทย์กำลังศึกษาอย่างจริงจังเพื่อหาวิธีในการที่จะตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดที่มีประสิทธิภาพ คือ ที่เป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยาก ไม่เป็นอันตราย ค่าใช้จ่ายในการตรวจไม่แพง สามารถตรวจได้กับคนส่วนใหญ่ และที่จะช่วยลดอัตราการเสีย ชีวิตจากมะเร็งปอดลงได้

ป้องกันโรคทางเดินหายใจได้อย่างไร?

การป้องกันโรคทางเดินหายใจที่สำคัญที่สุดมีประสิทธิภาพที่สุด คือ

  • การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • การเลิกสูบบุหรี่ เมื่อสูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ (สูบบุหรี่มือสอง/Secondhand smoke)
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่มีวัคซีนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะช่วงมีการระบาดของโรค
  • หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่แออัดเมื่อมีการระบาดของโรค หรือไปยังถิ่นหรือประเทศที่มีการระบาดของโรค

บรรณานุกรม

1. Communicable and respiratory disease reported for England & Wales http://www.hpa.org.uk/hpr/infections/RCGP_Graphs.pdf [2014,July26]
2. Death in United States, 2009 http://www.cdc.gov/nchs/data/databriefs/db64.pdf [2014,July26]
3. Respiratory disease http://en.wikipedia.org/wiki/Respiratory_disease [2014,July26]
4. http://nepjol.info/index.php/JIOM/article/view/591 [2014,July26].