โคลฟาราบีน (Clofarabine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโคลฟาราบีน(Clofarabine) เป็นสารประกอบที่มีฤทธิ์รบกวนการสร้างสารพันธุกรรม DNAและRNAจากสาร Purine โดยยับยั้งการสังเคราะห์สาร Purine ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเซลล์ซึ่งอาจจะกล่าวในเชิงวิชาการว่า ยาโคลฟาราบีนเป็นยาประเภท Purine nucleoside antimetabolite ก็ได้ จากกลไกการออกฤทธิ์ดังกล่าวทางการแพทย์จึงนำตัวยาชนิดนี้มารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอแอลแอล (Acute lymphoblastic leukemia/ALL)ที่มักเกิดในเด็ก ยานี้ยังถูกนำไปทดสอบรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวประเภทอื่นอีก อาทิ Acute myeloid leukemia และ Juvenile myelomonocyte leukemia ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องต่อไป

ยาโคลฟาราบีนเป็นที่ยอมรับและถูกนำขึ้นทะเบียนยาตั้งแต่ปี ค.ศ.2004 (พ.ศ.2547) โดยมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด และต้องให้ยากับผู้ป่วยโดยหยดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาดการใช้ยานี้ แพทย์จะคำนวณจากพื้นที่ผิวของร่างกาย(Body surface area)ที่มีหน่วยการวัดเป็นตารางเมตร ผู้ป่วยต้องได้รับการบำบัดด้วยยานี้วันละ1ครั้งต่อเนื่อง 5 วัน จากนั้นให้เว้นระยะ เวลาไปอีก 2–6 สัปดาห์ จึงจะได้รับยานี้อีกครั้ง และผู้ป่วยจะได้รับการตรวจสอบการผลิตเม็ดเลือดของร่างกาย เพื่อยืนยันประสิทธิผลของยานี้ขณะที่ได้รับการรักษา โดยการใช้ยานี้ในครั้งถัดมาจากรอบแรก แพทย์อาจปรับลดปริมาณยาลงอีก 25% ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงพิษของยาโคลฟาราบีนที่สามารถเกิดกับผู้ป่วย

*กรณีผู้ป่วยได้รับยา โคลฟาราบีน เกินขนาด อาจจะพบเห็นอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และเกิดภาวะการกดไขกระดูกอย่างรุนแรง กรณีนี้แพทย์จะหยุดใช้ยาโคลฟาราบีนทันที และดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับยานี้เกินขนาดตามอาการที่เกิดขึ้น

ยาโคลฟาราบีนยังมีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยบางกลุ่ม เช่น ผู้ที่มี โรคตับ โรคไต ในระยะรุนแรง รวมถึงสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร ล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยานี้ที่จะเกิดผลข้างเคียงจากยานี้ที่รุนแรงทั้งสิ้น

ยาโคลฟาราบีนอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น ระบบการหายใจ ระบบประสาท สภาพจิตใจ ผิวหนัง ระบบทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบเลือด อย่างไรก็ ตามหากพบว่ามีการอักเสบติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ(โรคติดเชื้อระบบทางดินหายใจ)เกิดขึ้น แพทย์จะสั่งระงับการใช้ยาโคลฟาราบีนทันที

อาจสรุปคำเตือนและข้อควรระวังของการใช้ยาโคลฟาราบีนได้ดังนี้

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • หากพบอาการข้างเคียงจากการใช้ยานี้ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสีย อาเจียน รุนแรง ผู้ป่วยควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการใช้ยานี้ให้เหมาะสมมากขึ้น
  • ผู้ป่วยที่มีอาการชีพจรเต้นเร็ว เป็นลม วิงเวียน อย่างรุนแรง เป็นตะคริว มีอาการง่วงนอนผิดปกติ ปากแห้ง หรือมีภาวะสูญเสียน้ำของร่างกาย/ภาวะขาดน้ำ นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่า ตนเองอาจได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียงรุนแรง)จากการใช้ยานี้เข้าแล้ว ห้ามนิ่งนอนใจ โดยต้องรีบมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ยาโคลฟาราบีนสามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของผู้ป่วยต่ำลง ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงให้ผู้ป่วยอยู่ใกล้กับกลุ่มชนมากๆ ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆ
  • หลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุต่างๆที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย ด้วยยาโคลฟาราบีนสามารถทำให้เกล็ดเลือดของร่างกายลดต่ำลง
  • ระหว่างใช้ยานี้ ห้ามฉีดวัคซีนชนิดมีชีวิต อย่าเช่น วัคซีนโรคหัด วัคซีนโรคคางทูม เพราะผู้ป่วยอาจติดเชื้อโรคเหล่านั้นจากวัคซีนได้
  • สำหรับบุรุษที่ได้รับยาโคลฟาราบีน หากมีเพศสัมพันธ์ ควรต้องใช้ถุงยางอนามัยชาย เพื่อป้องกันการส่งผ่านยาโคลฟาราบีนไปกับน้ำอสุจิ
  • ประสิทธิภาพของยาโคลฟาราบีน ถูกรับรองการรักษาในผู้ป่วยที่อายุไม่เกิน 21 ปี การจะเลือกใช้ยาโคลฟาราบีนกับผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 21 ปีหรือไม่ ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

โดยทั่วไป เราจะพบเห็นการใช้ยาโคลฟาราบีนแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ตัวยาโคลฟาราบีนเป็นยาควบคุมพิเศษซึ่งการใช้ยานี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว

โคลฟาราบีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โคลฟาราบีน

ยาโคลฟาราบีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้บำบัดรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด Acute lymphoblastic leukemia/ALL

โคลฟาราบีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโคลฟาราบีนคือ ตัวยาจะยับยั้งการสังเคราะห์สารพันธุกรรมอย่างเช่น DNA โดยชะลอการทำงานของเอนไซม์ Ribonucleotide reductase ของเซลล์โดยเฉพาะเซลล์มะเร็ง ส่งผลทำให้สารประกอบหลักของ DNA อย่าง Deoxynucleotide triphosphate ในเซลล์มะเร็งลดลง ด้วยกลไกนี้เอง จึงส่งผลให้บำบัดอาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ALL) ได้ตามสรรพคุณ

โคลฟาราบีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโคลฟาราบีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่มีส่วนประกอบของตัวยา Clofarabine ขนาด 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

โคลฟาราบีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโคลฟาราบีน มีขนาดการบริหารยา เช่น

  • ที่มีอายุน้อยกว่า 22 ปีลงมา(ไม่เกิน 21 ปี): หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 52 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมงในการหยดยา/วัน โดยแพทย์จะให้ยาผู้ป่วยเป็นเวลา 5 วัน ติดต่อกัน และจะให้ยาผู้ป่วยอีกรอบโดยเว้นระยะห่างจากการให้ยารอบแรก 2–6 สัปดาห์

*อนึ่ง ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี

  • ผู้ที่อายุเกิน 21ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจนถึงประสิทธิผลของยานี้ในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวALL

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโคลฟาราบีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคจิตประสาท/โรคทางจิตเวช รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาโคลฟาราบีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการให้ฉีดยาควรทำอย่างไร?

การใช้ยาโคลฟาราบีนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องอาศัยความต่อเนื่อง หากลืมมารับการฉีดยานี้ ต้องรีบนัดหมายการฉีดยาครั้งใหม่กับแพทย์/พยาบาล/โรงพยาบาลโดยเร็ว

โคลฟาราบีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโคลฟาราบีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการท้องเสียหรือท้องผูก ปวดท้อง เบื่ออาหาร เจ็บคอ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน ตัวสั่น
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง ผิวหนังอักเสบ ผิวแห้ง
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น การทำงานของไขกระดูกล้มเหลว/กดไขกระดูก
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น ตับโต ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ ใบหน้าแดง
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล ซึม
  • ผลต่อไต: เช่น ค่าครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้โคลฟาราบีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลฟาราบีน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเองและใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น มีฝุ่นผงปนในยา
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • มารับการฉีดยานี้ต่อเนื่องตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ข้อควรระวัง และข้อห้ามอื่นๆ ดังได้กล่าวในบทนำ
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลฟาราบีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โคลฟาราบีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโคลฟาราบีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาโคลฟาราบีนร่วมกับยา Clozapine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ
  • ห้ามใช้ยาโคลฟาราบีนร่วมกับยาTeriflunomide ด้วยจะทำให้มีภาวะติดเชื้ออย่างรุนแรงตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโคลฟาราบีนร่วมกับยา Lomitapide เพราะจะทำให้ตับทำงานผิดปกติรุนแรง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโคลฟาราบีนร่วมกับยา Ibuprofen ด้วยจะทำให้เกิดภาวะไตทำงานผิดปกติ/ไตอักเสบ

ควรเก็บรักษาโคลฟาราบีนอย่างไร?

เก็บยาโคลฟาราบีนภายใต้เงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โคลฟาราบีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโคลฟาราบีน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Evoltra (อีโวลตรา)sanofi-aventis

อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Clolar

บรรณานุกรม

  1. http://www.mims.com/thailand/drug/info/evoltra/?type=brief[2017,Aug26]
  2. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2015/021673s024lbl.pdf[2017,Aug26]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Clofarabine[2017,Aug26]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/evoltra/special-precautions?selectedTab=precautions[2017,Aug26]
  5. https://www.drugs.com/cdi/clofarabine.html[2017,Aug26]