โคลทาร์โซลูชั่น (Coal tar solution)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโคลทาร์โซลูชั่น (Coal tar solution) หรือสารละลาย ”น้ำมันดิน” เป็นยาใช้สำหรับผิวหนังภาย นอก ทางคลินิกนำมาบรรเทาอาการโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis), ภาวะผิวแห้ง, ผิวเป็นรอยแดง ผื่นคัน ยานี้ไม่ได้ใช้รักษาโรคแต่จะช่วยบรรเทาอาการทางผิวหนังได้เพียงชั่วคราว รูปแบบของผลิตภัณฑ์ยานี้ จะมีชนิดเป็นแชมพูสระผมขนาดความเข้มข้น 5%, สารประเภทอีมัลชั่น (Emulsion, อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “รูปแบบยาเตรียม”) ขนาดความเข้มข้น 40%, 20% และ 1% การจะเลือกใช้ยาโคลทาร์โซลูชั่นในรูปแบบใดก็ตามย่อมต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของแพทย์เท่านั้น

ยาโคลทาร์โซลูชั่นยังสามารถใช้ได้ทั้งกับเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ โดยต้องไม่อยู่ในข้อห้ามที่ทำ ให้แพทย์ไม่สามารถใช้ยาทาชนิดนี้กับผู้ป่วยได้เช่น

  • มีประวัติแพ้ยาโคลทาร์โซลูชั่น
  • ห้ามใช้กับผิวหนังที่เป็นโรคสะเก็ดเงินที่เพิ่งได้รับการฉายแสงยูวี (UV light)
  • มีภาวะผิวหนังเป็นแผลฉีกขาดหรือมีภาวะผื่นผิวหนังอักเสบ
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาโคลทาร์โซลูชั่นด้วยยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยเพียงพอมาสนับสนุนการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้

ยาโคลทาร์โซลูชั่นใช้ทาแต่ภายนอกเท่านั้น ห้ามรับประทาน ห้ามให้ยาเข้าตา เข้าจมูก เข้าปาก การทายาจะต้องทาเฉพาะบริเวณที่เป็นโรคเท่านั้น ไม่ควรทายาครอบคลุมในบริเวณผิวหนังปกติ และไม่ควรทายาหรือใช้ยาโคลทาร์โซลูชั่นติดต่อกันเป็นเวลานาน

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาประเภทโคลทาร์โซลูชั่นอยู่ในรายการยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีประจำไว้เพื่อให้บริการแก่ประชาชน คณะกรรมการอาหารและยาของไทยก็ได้บรรจุยาโคลทาร์โซลูชั่นอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ผู้บริโภคสามารถซื้อหายานี้จากร้านขายยาและพบเห็นการใช้ได้ในสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน

โคลทาร์โซลูชั่นมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โคลทาร์โซลูชั่น

ยาโคลทาร์โซลูชั่นมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • บรรเทาอาการโรคสะเก็ดเงิน
  • บำบัดรังแคบนหนังศีรษะ

โอโลพาทาดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโคลทาร์โซลูชั่นไม่ว่าจะเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ใด มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อต้านอาการผื่นคัน ช่วยผลัดเซลล์ผิวหนังเก่าให้หลุดลอกและรอให้เซลล์ผิวหนังชุดใหม่ค่อยๆถูกสร้างขึ้นมา จากกลไกเหล่านี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

โคลทาร์โซลูชั่นมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโคลทาร์โซลูชั่นมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • แชมพูสระผมขนาดความเข้มข้น 5%
  • อีมัลชั่นทาผิวหนังขนาดความเข้มข้น 40%, 20% และ 1%

โคลทาร์โซลูชั่นมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโคลทาร์โซลูชั่นมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

ก. สำหรับบรรเทาอาการโรคสะเก็ดเงิน:

  • เด็ก ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ: อุ่นโคลทาร์โซลูชั่นชนิดอีมัลชั่น 40% ในน้ำอุ่นเพื่อให้ตัวยาเหลวขึ้น และไม่ข้นเกินไป แล้วทาผิวหนังบริเวณที่เป็นโรคสะเก็ดเงินเพียงบางๆถูยาจนกระทั่งแห้ง อาจทายา 1 - 4 ครั้ง/วันหรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์

ข. บำบัดรังแคบนหนังศีรษะ:

  • เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ: ชโลมแชมพูโคลทาร์โซลูชั่นขนาด 5% นวดและสระแชมพูทั่วศีรษะ แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด สระซ้ำอีก 1 ครั้งโดยทำตามขั้นตอนแรก ระยะเวลาของการสระผมด้วยแชม พูโคลทาร์โซลูชั่นให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโคลทาร์โซลูชั่น ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลทาร์โซลูชั่นอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?

หากลืมใช้ยาโคลทาร์โซลูชั่นสามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรใช้ยาโคลทาร์โซลูชั่นตรงเวลา

โคลทาร์โซลูชั่นมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การใช้ยาโคลทาร์โซลูชั่นอาจทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น ระคายเคืองผิวหนังที่มีการสัมผัสกับยานี้ และอาจพบมีสิวเกิดขึ้นได้

มีข้อควรระวังการใช้โคลทาร์โซลูชั่นอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้โคลทาร์โซลูชั่นเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาโคลทาร์โซลูชั่น
  • ห้ามใช้ยานี้กับผิวหนังที่มีแผลเปิด หรือมีการอักเสบ หรือผิวหนังที่เพิ่งได้รับการบำบัดด้วยแสงยูวี
  • ห้ามมิให้ยาโคลทาร์โซลูชั่นเข้าตา เข้าปาก เข้าจมูก
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ไม่ควรใช้ยานี้เป็นเวลานานให้ใช้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้ยานี้รุนแรงเช่น ผื่นคัน ตัวบวม อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก แล้วรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ยาโคลทาร์โซลูชั่นเป็นยาบรรเทาอาการโรคสะเก็ดเงินไม่ใช่ยาสำหรับการรักษา
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลทาร์โซลูชั่นด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โคลทาร์โซลูชั่นมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโคลทาร์โซลูชั่นมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น หลีกเลี่ยงการใช้ยาโคลทาร์โซลูชั่นในรูปแบบต่างๆร่วมกับยา Aminolevulinic acid (ยารักษาโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่อาจเปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็งผิวหนังได้) ที่ใช้ทาผิวภายนอกด้วยอาจกระตุ้นให้ผิวหนังแพ้แสงแดดง่าย

ควรเก็บรักษาโคลทาร์โซลูชั่นอย่างไร

ควรเก็บยาโคลทาร์โซลูชั่นภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โคลทาร์โซลูชั่นมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโคลทาร์โซลูชั่นที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Coal Tar Srichand (โคลทาร์ ศรีจันทร์)Srichand

อนึ่งยาชื่อการค้าของยานี้ในประเทศตะวันตกเช่น Betatar, GelCutar emulsion, Neutrogena TDerm, DHS tar estar, Liquor carbonis detergens, Psorigel, Spectro tar skin wash, Tar distillate, Doak tar

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugs.com/mtm/coal-tar-topical.html [25june16]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Coal_tar [25june16]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/coal%20tar/?type=brief&mtype=generic [25june16]
  4. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/189#item-9034 [25june16]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/coal%20tar%20srichand/ [25june16]
  6. http://www.drugs.com/drug-interactions/coal-tar-topical.html [25june16]