โกเซอรีลิน (Goserelin)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร? ฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิงคืออะไร?

โกเซอรีลิน (Goserelin หรือ Goserelin acetate) คือ ยารักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ, ตัวยาจะมีโครงสร้างคล้าย*ฮอร์โมน ชื่อ โกนาโดโทรปิน รีลิสซิง,* เมื่อมีการให้ยานี้อย่างต่อเนื่อง จะเกิดเป็นลักษณะของวงจรสะท้อนกลับทำให้ลดการสร้างฮอร์โมนเพศในที่สุด, ด้วยหลักการนี้จึงนำยานี้มาใช้รักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ เช่น เนื้องอกมดลูก,  โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก, โรคมะเร็งเต้านม, โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่,  และยานี้มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยาฉีดฝังใต้ผิวหนัง

*ฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง*:

ในระบบสืบพันธุ์มนุษย์มีการทำงานอย่างสัมพันธ์กันระหว่างฮอร์โมนต่างๆและอวัยวะต่างๆในระบบสืบพันธุ์,  *ฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง (Gonadotropin-releasing hormone; GnRH)*หลั่งจากสมองส่วนไฮโปธาลามัส และทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนฟอลลิเคิลสติมิวเลติง(Follicle Stimulating Hormone; FSH) และฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing Hormone; LH) จากต่อมใต้สมองเพื่อไปกระตุ้นเนื้อเยื่อฟอลลิเคิล (Follicle) ในรังไข่ให้สร้างฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen)ในเพศหญิง, ส่วนในเพศชายจะกระตุ้นการเจริญของอัณฑะให้สร้างฮอร์โมนเพศชาย/ เทสทอสเทอโรน (Testosterone) และสร้างอสุจิ

การทำงานของระบบฮอร์โมนทั้งหมดดังกล่าว จะเป็นลักษณะการกระตุ้น (Stimulation)ใน ช่วงแรก, ก่อนเกิดวงจรสะท้อนกลับ (Negative Feedback) โดยเมื่อมีปริมาณฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิงมากเกินไป จะเกิดเป็นกลไกยับยั้งการหลั่งฮอร์โมน FSH และ LH ทำให้การสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนและ/หรือเทสโทสเทอโรนน้อยลงตามไปด้วย

ยาโกเซอรีลิน เป็นยาควบคุมพิเศษภายใต้พระราชบัญญัติยาของไทย ใช้ได้ในการควบคุมของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น

ยาโกเซอรีลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยาโกเซอรีลินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: รักษาโรค เช่น

  • มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • มะเร็งเต้านม
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • เนื้องอกมดลูก  

ยาโกเซอรีลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโกเซอรีลิน เป็นยาที่มีโครงสร้างคล้ายกับฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง (Gonado tropin-releasing hormone) มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนฟอลลิเคิลสติมิวเลติง (Follicle Stimulating Hormone; FSH) และฮอร์โมนลูทิไนซิง (Luteinizing Hor mone; LH) ในระยะเริ่มแรกของการรักษา,  แต่เมื่อให้ยานี้ต่อเนื่องเรื่อยๆจะเกิดวงจรสะท้อนกลับ  เป็นการยับยั้งการหลั่งฮอร์โมน FSH และ LH จนเมื่อฮอร์โมนสองชนิดนี้ลดลง, จึงลดการสร้างฮอร์โมนเพศไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งต่อมลูกหมากได้

ในส่วนของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และเนื้องอกมดลูก,   ยาโกเซอรีลินก็อาศัยหลักการลดการหลั่งฮอร์โมนเมื่อให้ยานี้ไปแล้วระยะหนึ่ง(ประมาณ 2 สัปดาห์) ทำให้ลดการทำงานของรังไข่, ทำให้รอยโรคของเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่ หรือของเซลล์เนื้องอกมดลูกเกิดการฝ่อลง

ยาโกเซอรีลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโกเซอริลินมีรูปแบบเป็นเภสัชภัณฑ์: เช่น

  • เป็นยาฉีดแบบฝังปราศจากเชื้อในหลอดฉีดยารูปแบบพร้อมฉีด (Pre-filled syringe): โดยเป็นการฉีดฝังตัวยาใต้ผิวหนัง,  มี 2 ความแรงของยา คือ 3.6 มิลลิกรัม, และชนิดออกฤทธิ์ยาว (Long Acting) ขนาดความแรง 10.8 มิลลิกรัม

ยาโกเซอรีลินมีขนาดหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาโกเซอรีลิน เป็นยาฉีดชนิดฝังใต้ผิวหนัง (Implant, subcutaneous) โดยแพทย์หรือพยาบาลจะเป็นผู้ทำการฉีดฝังยาให้แก่ผู้ป่วย

  • ยาฉีดฝังขนาด 6 มิลลิกรัมให้บริหารทุกๆ 4 สัปดาห์
  • ส่วนยาขนาด 8 มิลลิกรัมให้บริหารทุกๆ 12 สัปดาห์

ทั้งนี้  ข้อบ่งใช้ยาขึ้นกับภาวะของผู้ป่วย (เช่น โรคประจำตัวต่างๆ), และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป และรวมถึงความต้องการของผู้ป่วย

อนึ่ง: แพทย์จะเป็นผู้กำหนดระยะเวลาการรักษา ที่ขึ้นกับภาวะอาการของผู้ป่วย และการตอบสนองต่อยานี้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาโกเซอรีลิน ควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยาต่างๆ ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อรับประทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกำลังใช้ยาต้านชัก/ยากันชัก หรือยาเสตียรอยด์ชนิดรับประทาน เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ยาเด็กซามาธาโซน (Dexamethasone) เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากมีประวัติการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือ การใช้ยาสูบ/สูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากเป็นหรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน,  ประวัติปวดหลังจากหมอนรองกระดูกสันหลัง, โรคเบาหวาน, เลือดออกทางช่องคลอดอย่างผิดปกติ, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคตับ, และประวัติมีภาวะปัสสาวะขัดโดยเฉพาะในผู้ชาย
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากคุณกำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์

หากลืมเข้ารับการบริหารยาควรทำอย่างไร?

หากลืมเข้ารับการบริหารยา/ฉีดยาโกเซอรีลิน ให้ติดต่อสถานพยาบาลที่ทำการรักษาอยู่โดยทันที เพื่อนัดหมายเข้ารับการบริหารยาโดยเร็วที่สุด

ยาโกเซอรีลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโกเซอรีลิน อาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์) เช่น   

  • ปวดหัว
  • รู้สึกร้อนวูบวาบ ใบหน้าแดง หรือผิวหนังช่วงลำคอและช่วงอกแดงขึ้น
  • เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง
  • เบื่ออาหาร
  • อาการเต้านมคัดตึงหรือเต้านมขยายใหญ่ขึ้น
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • เจ็บขณะร่วมเพศ   
  • ภาวะช่องคลอดแห้ง คัน  รอบประจำเดือนเปลี่ยนไป
  • มือ หรือน่อง หรือขาบวม
  • การควบคุมอารมณ์ทำได้ไม่ดี/อารมณ์แปรปรวน
  • นอนไม่หลับ หรือนอนแล้วตื่นยาก
  • เจ็บ คัน หรือบวมบริเวณทีมีการฉีดฝังยานี้

*ซึ่งหากเกิดอาการดังกล่าวเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและ/หรือ มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น, ควรรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/รีบไปโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด

*ยาโกเซอรีลิน อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆอีก เช่น ปวดบริเวณแขน หลัง คอ และกราม  ปวดกระดูก น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น พูดได้ช้าลงหรือพูดลำบาก วิงเวียนเหมือนเป็นลม ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด  อ่อนล้าอย่างรุนแรง ปากคอแห้ง  คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด หรือฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

*หรือหากใช้ยานี้แล้ว เกิดอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคันขึ้นตามตัว ริมฝีปากหรือเปลือกตา/หนังตาบวมแดง หรือเกิดอาการหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก *ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานี้เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือกว่าการได้รับผลข้างเคียงจากยานี้, ผู้ป่วยที่ได้รับ ยานี้ส่วนมากมีพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง, ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดัง กล่าวที่อาจเกิดขึ้น และรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/ไปโรงพยาบาล หากเกิดอาการรุน แรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาโกเซอรีลินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโกเซอรีลิน: เช่น

  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่กำลังตั้งครรภ์ แต่ในบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยานี้ขณะตั้งครรภ์ได้, อย่างไรก็ดีหากเกิดการตั้งครรภ์ขณะใช้ยานี้ ให้รีบแจ้งให้แพทย์ที่ทำการรักษาทราบโดยทันที เนื่องจากยานี้อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์
  • โดยทั่วไป ผู้ป่วยหญิงสามารถตั้งครรภ์ได้ภายหลังการรักษาด้วยยานี้ไปแล้วอย่างน้อย 12 สัปดาห์, ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมและควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นที่ไม่ใช่การใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่กำลังอยู่ระหว่างการให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ ควรหลีกเลี่ยงการให้นมบุตรขณะใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก, ระดับของแคลเซียม, และคอเลสเตอรอลในเลือดระหว่างการใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยชายที่มีความเสี่ยงการเกิดทางเดินปัสสาวะอุดตัน (Ureteric Obstruction, เช่น นิ่วในไต), หรือปวดหลังจากหมอนรองกระดูกสันหลัง, ควรได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วงหนึ่งเดือนแรกของการได้รับยานี้
  • ผู้ป่วยเบาหวาน ควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิดขณะใช้ยานี้, เนื่องจากยานี้ อาจมีผลให้ความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาลในในเลือดของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป
  • *ในผู้ป่วยหญิง อาจเกิดเลือดไหลผิดปกติจากช่องคลอดในช่วงแรกของการรักษา ซึ่งอาจเกิดจากการลดลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน, แต่หากเกิดอย่างต่อเนื่องและไม่มีแนวโน้มว่าเลือดจะหยุด, *ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/รีบไปโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอจนถึงวันนัด

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุก ชนิด (รวมยาโกเซอรีลิน) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาโกเซอรีลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่พบว่ายาโกเซอรีลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาทุกชนิดที่ผู้ป่วยเคยใช้หรือกำลังใช้ร่วมอยู่

เนื่องจากยาโกเซอรีลิน อาจทำให้เกิดผลผิดปกติในการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี (QT prolongation)เมื่อใช้ร่วมกับยาบางชนิด จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาโกเซอรีลิน เช่น   

  • ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ: เช่น ยาควินิดีน (Quinidine), ยาไดโซไพรไมด์ (Dysopyramide), ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone), ยาโซทาลอล (Sotalol), ยาโดฟีทีไลด์ (Dofelitide), ยาไอบูลิไทด์ (Ibulitide)
  • ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย/ยาปฏิชีวนะ ชนิดยาโมซิฟลอกซาซิน (Moxifloxacin)
  • และยาจิตเวช: เช่น ยาโคลซาพีน (Clozapine), ยาฮาโลเพอริดอล (Haloperidol), ยาโอแลนซาพีน (Olanzapine), ยาควิไทอาพีน (Quetiapine)

ควรเก็บรักษายาโกเซอรีลินอย่างไร?

โดยทั่วไปควรเก็บรักษายาโกเซอรีลิน: เช่น

  • เก็บยา ณ อุณหภูมิห้องไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นแสงแดด
  • *อย่างไรก็ดี ควรสอบถามนโยบายการเก็บรักษายาของสถานพยาบาลเพิ่มเติมที่ฝ่ายเภสัชกรรมของแต่ละโรงพยาบาล

ยาโกเซอรีลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโกเซอรีลิน มียาชื่อการค้าว่า โซลาเด็กซ์ (Zoladex) ผลิตโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (Astrazeneca) แห่งสหราชอาณาจักร และจัดจำหน่ายโดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด

บรรณานุกรม

  1. American Pharmacists Association. Goserelin, ,Drug Information Handbook with International Trade Names. 2014:23;988-9.
  2. Summary Product Characterization. Zoladex 3.6mg. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/7855  [2022,Nov5]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/zoladex?type=full [2022,Nov5]
  4. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=6&rctype=1C&rcno=4200116&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2022,Nov5]