โกรทฮอร์โมน (Human Growth Hormone Drugs)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โกรทฮอร์โมน หรือ ฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโต (Growth Hormone) เป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการเจริญเติบโต การแบ่งตัวของเซลล์ในมนุษย์และในสัตว์ โกรทฮอร์โมนมีอีกชื่อหนึ่งว่า “โซมาโทโทรพิน (Somatotropin)” และฮอร์โมนที่ได้จากเทคโนโลยีทางดีเอ็นเอ(DNA Recombinant Technology) จะเรียกว่า “โซมาโทรพิน” (Somatropin)

โกรทฮอร์โมน หลั่งออกมาจากต่อมพิทูอิทารี/ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) ซึ่งอยู่ที่ส่วนฐานของสมอง โดยมีฮอร์โมนละปัจจัยต่างๆในการควบคุมการหลั่งโกรทฮอร์โมน เพื่อให้ระดับของโกรทฮอร์โมนในร่างกายเป็นปกติ

ในบางสภาวะหรือบางความบกพร่องทางพันธุกรรม อาจส่งผลกระทบต่อการควบคุมการทำงานของโกรทฮอร์โมน เมื่อปริมาณของโกรทฮอร์โมนในร่างกายไม่เพียงพอ จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ดังนั้น ในผู้ป่วยบางรายจึงมีการใช้ฮอร์โมนบำบัด (Hormone Therapy) ด้วยการให้โกรทฮอร์โมนที่ใช้เป็นยาที่ สังเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีการใช้ ดีเอ็นเอ/DNA (Human growth hormone drug ย่อว่า hGH หรือ HGH) หรือการให้สาร/ยาโซมาโทรพิน เพื่อบำบัดรักษาภาวะขาด โกรทฮอร์โมนของร่างกาย ซึ่งขนาดการให้ยาโกรทฮอร์โมน และความถี่ในการให้ยานี้จะเป็นกรณีๆไป ขึ้นอยู่กับ อาการผู้ป่วยและดุลยวินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา ผู้ใช้ยานี้จึงควรได้รับการติดตามผลการรักษาและเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเป็นประจำตามแพทย์นัดหมาย

ยาโกรทฮอร์โมนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โกรทฮอร์โมน

ยาโกรทฮอร์โมนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนยา ได้แก่

ก. ใช้รักษาผู้ป่วยเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีความบกพร่องในการเจริญเติบโตอันเนื่องมาจากการขนาดโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone Deficiency; GHD)

ข. ใช้รักษากลุ่มอาการ/โรค เพรเดอร์-วิลลี (Prader-Willi syndrome) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากควาผิดปกติของพันธุกรรมที่พบได้น้อยมาก ที่ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีการเจริญเติบโตช้า มีปัญหาด้านการเรียนรู้และสติปัญญา รูปร่างท้วมถึงอ้วน และอาจเป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย

ค. ใช้รักษาภาวะทารกที่มีขนาดตัวเล็ก (Small for gestational age; SGA)

ง. ใช้รักษากลุ่มอาการเทอร์เนอร์ (Turner Syndrome) หรือภาวะต่อมเพศไม่เจริญ ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมเพศหรือเซ็กส์โครโมโซม.(Sex chromosome)ซึ่งปกติต้องมีโครโมโซม “X” สองแท่ง แต่ผู้ป่วยหญิงที่มีกลุ่มอาการนี้ จะพบว่ามีโครโมโซมเพศหญิงเพียงแท่งเดียว(XO)ซึ่งปกติต้องมีโครโมโซมเพศหญิง2แท่ง(XX)

จ. ใช้รักษาภาวะเตี้ยโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Short Stature) ในเด็ก

ยาโกรทฮอร์โมนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโกรทฮอร์โมนที่นำมาใช้ทางการแพทย์ เป็นโกรทฮอร์โมนสังเคราะห์ จากการศึกษาทดลองในชันต้น/พรีคลินิก(Preclinic phase) และในทางคลินิก จนพบว่ามีคุณสมบัติเทียบเท่ากับโกรทฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากต่อมพิทูอิทารี จึงมีการนำมาใช้เพื่อทดแทนโกรทฮอร์โมน ซึ่งยานี้มีการทำงานเหมือนกับโกรทฮอรโมนธรรมชาติ นอกจากนี้ยังพบว่า ยานี้สามารถใช้เพื่อลดชั้นไขมันทำให้ร่างกายดูมีมวลกล้ามเนื้อมากยิ่งขึ้น เนื่องมาจากตัวยาจะเพิ่มการเผาผลาญไขมันของร่างกาย นักกีฬาบางคนจึงนำมาใช้เพื่อกระตุ้น (Dope) สมรรถนะในการออกกำลังกาย แม้ว่า จะยังไม่มีการศึกษาผลการเพิ่มสมรรถนะจากยาชนิดนี้ แต่ยานี้ ได้ถูกห้ามใช้ในนักกีฬาเพื่อการแข่งขัน

ยาโกรทฮอร์โมนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโกรทฮอร์โมนในปัจจุบันมี 2 บริษัทใหญ่ที่ผลิต เป็นเภสัชภัณฑ์ชนิดผงแห้งพร้อมผสมเป็นยาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ได้แก่

  • ยาจีโนโทรพิน (Genotropin) ของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) จะเป็นรูปแบบปากกาฉีดยา(Syringe Pens) ขนาดความแรง 5 และ 12 มิลลิกรัมต่อปากกาฉีดหนึ่งด้าม
  • ยาฮิวมาโทรบ (Humatrope) ของบริษัทลิลลี (Lilly) มีสองรูปแบบคือแบบยาบรรจุในเข็มฉีดยาพร้อมใช้ (Prefilled Syringe) ขนาด 6, 12 และ 24 มิลลิกรัม และแบบขวดยา (Vial) ขนาด 5 มิลิกรัม และสารเหลวเพื่อใช้ผสม 5 มิลลิลิตร

ยาโกรทฮอร์โมนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโกรทฮอรโมน ใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous injection) ขนาดการบริหารยา/ใช้ยา จะขึ้นอยู่กับ ข้อบ่งใช้ สภาวะ/สุขภาพผู้ป่วย ขนาด และน้ำหนักตัวของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้กำหนด

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาโกรทฮอร์โมน ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการ แพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยาต่างๆ ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อทานเอง ผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร วิตามิน ผลิตภัณฑ์สมุนไพร
  • ประวัติ โรคประจำตัว โรคเรื้อรังที่เป็นมาในอดีตและที่ยังเป็นอยู่ในปัจจุบัน
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังอยู่ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร

หากลืมใช้ยาโกรทฮอร์โมนควรทำอย่างไร?

หากลืมใช้ยาโกรทฮอร์โมน ให้ฉีดยานี้โดยทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาการฉีดยาครั้งถัดไป ให้ข้ามการบริหารยาที่ลืมฉีดไป และฉีดยาครั้งถัดไปด้วยขนาดยาตามปกติ ไม่ต้องเพิ่มขนาดยา

ยาโกรทฮอร์โมนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโกรทฮอร์โมนอาจก่อให้เกิด ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ที่ไม่รุนแรง เช่น ปวด และ/หรือ บวม บริเวณที่ฉีดยา ปวดข้อ มีอาการไม่สบายได้ง่าย เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ (เช่น ทำให้มีอาการไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น) มีอาการ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตึงตามมือและเท้า เหนื่อยล้า ปวดหลัง มีอาการบวมบริเวณปลายแขนและขา มีอาการแสบหรือร้อนบริเวณ มือ แขน ขา หรือเท้า แต่หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ ไม่มีแนวโน้มว่าจะทุเลาลง หรือ อาการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีความรุนแรงมากขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล

ยาโกรทฮอร์โมนอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่มีความรุนแรง อาทิเช่น ภาวะคั่งน้ำ(Fluid Retention)ในร่างกาย อาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดตึงบริเวณช่องท้อง มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคตับอ่อนอักเสบ รวมไปถึงการแพ้ยาชนิดรุนแรงซึ่งจะมีอาการเช่น เกิดผื่นคันตามตัว ใบหน้า ริมฝีปาก หรือเปลือกตา/หนังตาบวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก หน้ามืดเนื่องจากความดันโลหิตต่ำ ให้หยุดการฉีดยานี้ และรีบเข้าพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดี การที่แพทย์เลือกสั่งใช้ยานี้ เนื่องจากวิเคราะห์แล้วว่าผู้ป่วยจะได้ประโยชน์จากยานี้มากกว่าอาการไม่พึงประสงค์ที่กล่าวไปในข้างต้นที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยส่วนน้อย ผู้ใช้ยานี้จึงควรศึกษาข้อมูลรายละเอียดของยานี้จากเอกสารกำกับยา และเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยานี้ และรีบรายงานให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ

มีข้อควรระวังการใช้ยาโกรทฮอร์โมนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโกรทฮอร์โมน เช่น

  • ไม่ใช้ยานี้ในผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อชีวิตในผู้ป่วยขั้นวิกฤติเฉียบพลัน(Acute Critical Illness) เช่น ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่า ตัดหัวใจ ช่องท้อง หรือผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรง จึงห้ามใช้ยาโกรทฮอร์โมนในผู้ป่วยกลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยเด็กที่มีกลุ่มอาการเพรเดอร์-วิลลี (Prader-Willi syndrome) ที่มีภาวะอ้วนอย่างมาก มีประวัติการหายใจติดขัด/หายใจลำบาก หยุดหายใจขณะหลับ(นอนหลับแล้วหยุดหายใจ) หรือมีปัญหาทางระบบทางเดินหายใจขั้นรุนแรง
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มี เนื้องอก หรือ มะเร็ง เพราะยานี้จะกระตุ้นให้โรคลุกลาม รุนแรงขึ้น
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy)
  • ควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวังในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะยานี้อาจทำใหความไว/การตอบสนองของร่างกายต่อ ยาอินซูลิน ลดลง
  • ยานี้อาจทำให้ความดันในกะโหลกศีรษะสูง (Intracranial Hypertension) ผู้ป่วยจึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบหาก การมองเห็นเปลี่ยนไป ปวดศีรษะมากต่อเนื่อง คลื่นไส้ อาเจียน ภายหลังการเริ่มใช้ยานี้ โดยเฉพาะในช่วง 8 สัปดาห์แรก
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคแอดดิสัน (Addison disease) ควรได้รับการตรวจระดับของฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต หากต้องใช้ยานี้ เพราะยานี้อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดโรคนี้
  • การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มอาการเทอเนอร์ ควรได้รับการตรวจการติดเชื้อของหูชั้นกลาง (Otitis media) และโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดก่อน และขณะใช้ยานี้ เพราะยานี้ อาจทำให้อาการโรคดังกล่าวรุนแรงขึ้น
  • ควรเปลี่ยนบริเวณการบริหารยา/ฉีดยา หมายความว่า ไม่ฉีดยานี้ในตำแหน่งที่ซ้ำๆ แต่ฉีดภายในบริเวณที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ เพื่อป้องกันภาวะไขมันฝ่อตัว (Lipoatrophy)ในบริเวณที่ฉีดยานี้ซ้ำๆ
  • ไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ไม่ใช้ยาที่หมดอายุ
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโกรทฮอร์โมน) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาโกรทฮอร์โมนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโกรทฮอร์โมนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ เช่น

ก. ยาในกลุ่มเสตียรอยด์: เนื่องจากยาโกรทฮอร์โมนมีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้ในการเปลี่ยนสารจำพวกคอร์ติโซน (Cortisone/ สารเสตียรอยด์)ให้เป็นสารออกฤทธิ์ การใช้ยารวมกันจึงอาจลดประสิทธิภาพการรักษาของยาเสตียรอยด์ลง ผู้ป่วยที่ใช้ยาเหล่านี้ จึงต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ ซึ่งในบางกรณี แพทย์อาจต้องปรับขนาดของยาที่ใช้ร่วมกัน

ข. ยาGlucocorticoid : ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมน/ยากลูโคคอร์ติคอยด์ ต้องได้รับการประเมินจากแพทย์หากให้ร่วมกับยาโกรทฮอร์โมน เพราะฤทธิ์การรักษาของยา Glucocorticoid อาจลดลง การปรับขนาดยาที่ใช้ร่วมกัน อาจมีความจำเป็นในบางกรณีทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

ค. ผู้ใช้ยาฮอร์โมนเอสโทรเจน(Estrogen)ชนิดรับประทาน: อาจต้องได้รับยาโซมาโทรพิน (หรือ ยาโกรทฮอร์โมน)ปริมาณมากยิ่งขึ้นหากใช้ยาร่วมกัน เพราะยาฮอร์โมนเอสโทรเจนชนิดรับประทาน สามารถลดประสิทธิภาพการรักษาของยาโกรทฮอร์โมนได้

ง. ยาลดน้ำตาลในเลือด และยาอินซูลิน: เนื่องจากยาโกรทฮอร์โมนอาจทำให้ความไว/การตอบสนองของเซลล์ร่างกายต่อยาอินซูลินและต่อการใช้น้ำตาลในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอตามคำสั่งแพทย์ ขณะใช้ยาจำพวกอินซูลินและยาที่มีฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด เช่น ยากลิพิไซด์ (Glipizide) ร่วมกับยาโกรทฮอร์โมน

ควรเก็บรักษายาโกรทฮอร์โมนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาโกรทฮอร์โมนในตู้เย็น อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาไว้ในช่องแช่เข็งของตู้เย็น และเก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด

ยา โกรทฮอร์โมน เมื่อผสมกับสารละลายที่เตรียมมาพร้อมกับตัวยา โดยยา “จีโนโทรพิน (Genetropin)” ที่ผสมแล้วจะมีอายุการใช้ 28 วัน เมื่อเก็บไว้ในตู้เย็น

ส่วน”ยาฮิวมาโทรบ(Humatrope)” เมื่อผสมแล้วในน้ำยาที่มากับตัวยาจะมีความคงตัวได้ 14 วันเมื่อเก็บไว้ในตู้เย็น แต่หากนำยาฮิวมาโทรบมาผสมกับน้ำกลั่นปราศจากเชื้อ จะมีความคงตัว 24 ชั่วโมง และต้องเก็บไว้ในตู้เย็น

อย่างไรก็ดี ควรสอบถามเภสัชกรหรือฝ่ายเภสัชกรรมถึงนโยบายการเก็บรักษายาของสถานพยาบาลเสมอ

ยาโกรทฮอร์โมนชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโกรทฮอร์โมน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ยาโซมาโทรพิน” (Somatropin) มียาชื่อการค้า ที่ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์ (Phizer) ในยาชื่อการค้าว่า “จีโนโทรพิน (Genotropin)” และผลิตจากบริษัทลิลลิ ในชื่อการค้าว่า “ฮิวมาโทรบ(Humatrope)”

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยาโกรทฮอร์โมนที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Norditropin, Omnitrope, Tev-tropin, Nutropin, Serostim, Accretropin, Zorbtive

บรรณานุกรม

  1. R. Sodhi and Y.S.Rajput. Mchanism of Growth Hormone Action: Recent Devlopments – A Review. Asiam-Aust. J. Anim. Sci. 2001. 14(12):1785-93.
  2. HIGHLIGHTS OF PRESCRIBING INFORMATION. GENOTROPIN- somatropin http://labeling.pfizer.com/ShowLabeling.aspx?id=577[2017,July8]
  3. HIGHLIGHTS OF PRESCRIBING INFORMATION. HUMATROPE. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2009/019640s068lbl.pdf[2017,July8]
  4. Molitch ME et al. Evaluation and Treatment of Adult Growth Hormone Deficiency: An Endocrine Society Clinical Practice Guideline The Endocrine Society. First published in Journal of Clinical Endocrinology & Metabolism. 2011; 96(6):1587–1609.
  5. M Saugy, N Robinson, C Saudan, N Baume, L Avois, and P Mangin. Human growth hormone doping in sport. Br J Sports Med. 2006 Jul; 40(Suppl 1): i35–i39.