โกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง ฮอร์โมน (Gonadotropin releasing hormone drugs)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือ ยาอะไร?

ฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิ่ง (Gonadotropin releasing hormone) หรือย่อว่า “จีเอ็นอาร์เอช (GnRH)” คือยาประเภทฮอร์โมนที่สร้างจากเซลล์ประสาทของสมองส่วน ไฮโปธาลามัสซึ่งทำหน้าเกี่ยวกับการควบคุมการทำงานของระบบประสาทและระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย ฮอร์โมนนี้จะไปกระตุ้นเนื้อเยื่อส่วนหน้าของต่อมใต้สมองให้หลั่งฮอร์โมนฟอลลิเคิล สติมิวเลติง (Follicle stimulating hormone) หรือเรียกย่อว่า “เอฟเอสเอช (FSH )” และฮอร์โมนลูทิไนซิ่ง (Luteiniz ing hormone) หรือเรียกย่อว่า “แอลเอช (LH)” ซึ่งฮอร์โมนฟอลลิเคิล สติมิวเลติง มีผลกระตุ้นการเจริญเนื้อเยื่อฟอลลิเคิล (Follicle) ที่อยู่ในรังไข่ เพื่อทำให้ฟอลลิเคิลสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการแสดงออกถึงลักษณะของเพศหญิง (เช่น มีเต้านม)

นอกจากนี้ฮอร์โมนฟอลลิเคิล สติมิวเลติง ยังมีผลกระตุ้นการเจริญของอัณฑะและของหลอดสร้างอสุจิ (Seminiferous tubule, อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาอวัยวะเพศชาย) ให้สร้างอสุจิในเพศชาย

ส่วนฮอร์โมนลูทิไนซิ่ง กระตุ้นให้เกิดการตกไข่จากฟอลลิเคิลและกระตุ้นให้เกิดคอปัส ลูเทียม (Corpus luteum, เนื้อเยื่อรังไข่ที่สร้างฮอร์โมนเพศหญิงตามวงรอบของประจำเดือน) และสร้างฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน (Progesterone hormone) ที่ทำหน้าที่ร่วมกับฮอร์โมนเอส โตรเจนทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่รังไข่และที่เยื่อบุมดลูกเพื่อรอรับการฝังตัวของตัวอ่อน (เอ็ม บริโอ/Embryo)

นอกจากนี้ฮอร์โมนลูทิไนซิ่งยังกระตุ้นให้กลุ่มเซลล์อินเตอร์สติเชียล (Interstitial cell)/เซลล์เลย์ดิก (Leydig cell) สร้างฮอร์โมนเทสทอสเทอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย

ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิ่ง แบ่งเป็น 2 กลุ่มตามกลไลการออกฤทธิ์คือ ยากระ ตุ้นฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง (Gonadotropin releasing hormone agonists) และยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง (Gonadotropin releasing hormone antagonists)

ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง มีสรรพคุณรักษาโรคอะไร?

โกนาโดโทรปิน-รีลีสซิ่ง-ฮอร์โมน

ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

ก. ยากระตุ้นฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง: นำมาใช้รักษาหลายโรค เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis), เนื้องอกมดลูก (Uterine fibroids), ใช้รักษามะเร็งเต้านมแบบประคับประคอง (Palliative treatment), ในผู้ป่วยหญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนและในวัยใกล้หมดประจำเดือน, และยังใช้ในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย

ข. ยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง:

  • ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย เนื่องจากผลในการยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนลูทิไนซิ่งจึงทำให้การสร้างฮอร์โมนเทสทอสเตอโรน (Testosterone)ลดลง ซึ่งฮอร์โมนเทสทอสเตอโรนมีผลกระตุ้นให้เกิดการเจริญของมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้นเมื่อฮอร์โมนลูทิไนซิ่งและฮอร์โมนเทสทอสเตอโรนถูกสร้างลดลงจึงทำให้ขนาดก้อนเนื้อของมะเร็งต่อมลูกหมากลดลง
  • ส่วนในผู้หญิง: ยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง จะใช้ในการรักษาภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากยาจะไปยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนลูทิไนซิ่ง(Luteinizing hormone) และป้องกันการตกไข่ก่อนเวลาที่กำหนดในผู้หญิงที่ได้รับฮอร์โมนฟอลลิเคิล สติมิวเลติง เพื่อเตรียมสำหรับการปฏิสนธิภายนอกร่างกายหรือการทำเด็กหลอดแก้ว (In-vitro fertilization; IVF)

ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง มีกลไกการออกฤทธิ์ดังนี้

ก. ยากระตุ้นฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง: มีกลไกการออกฤทธิ์โดยการจับกับตัวรับ (Receptor) ที่ออกฤทธิ์เหมือนฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง ตามธรรมชาติ โดยจะกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนฟอลลิเคิล สติมิวเลติงและฮอร์โมนลูทิไนซิ่งจากต่อมใต้สมองส่วนหน้าในช่วง แรก จากนั้นอีกประมาณ 10 วันจะส่งผลให้ลดการกระตุ้นต่อมใต้สมองส่วนหน้า จึงมีผลลดการหลั่งฮอร์โมนฟอลลิเคิล สติมิวเลติงและฮอร์โมนลูทิไนซิ่งเป็นผลให้ยับยั้งการสร้างสเตียรอยด์ที่เป็นฮอร์โมนเพศหญิงจากรังไข่ (Ovarian steroidogenesis) ซึ่งก็คือฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน และมีผลยับยั้งการเจริญของฟอลลิเคิลอีกด้วย

ข. ยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง: มีกลไกการออกฤทธิ์โดยแย่งจับกับตัวรับฮอร์โมนจีเอ็นอาร์เอช (GnRH-receptor) จึงทำให้ฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง ตามธรรม ชาติไม่สามารถจับตัวรับจีเอ็นอาร์เอชได้ จึงส่งผลให้ยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนฟอลลิเคิล สติมิวเลติงและฮอร์โมนลูทิไนซิ่ง

ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

ก. ยากระตุ้นยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง:

  • สเปรย์สำหรับพ่นทางจมูก (Inhalation solution) ขนาด 15.75 มิลลิกรัม
  • ยาฉีดที่ออกฤทธิ์ยาวนาน (Depot injection) ขนาด 3.6, 6.6 มิลลิกรัม โดยตัวยาจะค่อยๆถูกปลดปล่อยและถูกดูดซึมจึงทำให้ยาออกฤทธิ์ได้นาน
  • ยาฉีด ขนาด 3.75 มิลลิกรัม/1 มิลลิลิตร
  • ยาผงสำหรับฉีด (ละลายกับสารละลายก่อนฉีด) ขนาด 1.88, 3.75, 7.5, 11.25, 22.5, 45 มิลลิกรัม

ข. ยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง:

  • ยาฉีด ขนาด 0.25 มิลลิกรัม/0.5 มิลลิลตร
  • ยาผงสำหรับฉีด (ละลายกับสารละลายก่อนฉีด) ขนาด 0.25, 3 มิลลิกรัม

ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง มีขนาดการใช้อย่างไร?

ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง มีขนาดการใช้ยา เช่น

ก. ยากระตุ้นยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง:

  • ขนาดยาในผู้หญิงสำหรับโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis): ขนาด 3.6 มิลลิกรัมฉีดใต้ผิวหนังทุกๆ 28 วันเป็นเวลา 6 เดือน หรือใช้สเปรย์แบบพ่นทางจมูก 1 ครั้งที่จมูกแต่ละข้างวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 6 เดือน
  • ขนาดยาในผู้หญิงสำหรับเนื้องอกมดลูก (Uterine fibroids): ขนาด 3.6 มิลลิกรัม ฉีดใต้ผิวหนังร่วมกับกินยาเสริมธาตุเหล็ก (เช่น Ferrous sulfate) เป็นเวลา 3 เดือนก่อนผ่าตัดรักษาโรคนี้
  • ขนาดยาในการรักษามะเร็งเต้านมแบบประคับประคอง (Palliative treatment) ในผู้หญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนและวัยใกล้หมดประจำเดือน: ขนาด 3.6 มิลลิกรัมฉีดใต้ผิวหนัง ทุกๆ 28 วันเพื่อการรักษาระยะยาว (Long-term therapy)
  • ขนาดยาในผู้ชายสำหรับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลาม (Advanced prostate cancer): ขนาด 3.6 มิลลิกรัมฉีดใต้ผิวหนังทุกๆ 28 วัน หรือขนาด 10.3 มิลลิกรัมฉีดใต้ผิวหนังทุกๆ 12 สัปดาห์เพื่อการรักษาในระยะยาว (Long-term therapy)

ข. ยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง:

  • ขนาดยาในผู้ชายสำหรับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลาม (Advanced prostate cancer): ขนาดยาเริ่มต้น (Initial dose) 240 มิลลิกรัมฉีดใต้ผิวหนังโดยแบ่งฉีด 2 ครั้งครั้งละ 120 มิลลิกรัม จากนั้นจึงให้ขนาดยา 80 มิลลิกรัมฉีดใต้ผิวหนังทุกๆ 28 วันเพื่อคงระดับยาในพลาสมาให้อยู่ในช่วงความเข้มข้นที่มีฤทธิ์รักษาตลอดเวลา
  • ขนาดยาในผู้หญิงสำหรับภาวะมีบุตรยาก (Female infertility): ขนาดยา 0.25 มิล ลิกรัมฉีดใต้ผิวหนังวันละ 1 ครั้งในช่วงกลางถึงช่วงท้ายของระยะฟอร์ลิคูลาร์ (Follicular phase) ของรังไข่ซึ่งเป็นระยะก่อนไข่ตก จนกระทั่งได้ระดับฮอร์โมนฮิวแมน โคริโอนิก โกนาโดโทรปิน (Human chorionic gonadotropin; HCG, ฮอร์โมนการตั้งครรภ์) ซึ่งใช้ในการกระตุ้นการตกไข่และรักษาภาวะมีบุตรยาก

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยากระตุ้นและยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • สุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือไม่ เนื่องจากยากระตุ้นยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง และยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง อาจเป็นอันตรายและก่อให้ เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์
  • สุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือไม่ เนื่องจากยากระตุ้นยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง สามารถขับออกทางน้ำนมได้ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทารก
  • แจ้งให้ทราบถึงยาอื่นๆ วิตามิน อาหารเสริม หรือสมุนไพรที่ใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ ซึ่งอาจมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยากระตุ้นและยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง
  • แจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบ หากมีอาการเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ (Unusual vaginal bleeding) เนื่องจากยากระตุ้นฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง อาจทำให้เกิดอาการข้าง เคียง (ผลข้างเคียง) เช่น อาการเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติได้
  • แจ้งให้ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคซึมเศร้า เนื่อง จากยากระตุ้นฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงเช่น เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคซึมเศร้า
  • แจ้งประวัติแพ้ยาต่างๆเช่น หลังใช้ยาชนิดใดแล้วเกิดอาการผิดปกติ เช่น ขึ้นผื่น หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย

หากลืมฉีดยาหรือพ่นสเปรย์ทางจมูกควรทำอย่างไร?

หากลืมฉีดยาหรือพ่นสเปรย์ทางจมูกของยากระตุ้นและยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีส ควรปฏิบัติดังนี้ เช่น

ก. กรณีที่ฉีดยาวันละครั้งและพ่นยาทางจมูกวันละ 3 ครั้ง: เนื่องจากการฉีดยากระ ตุ้นและยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง จำเป็นต้องใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่ง ครัด หากลืม 1 ครั้งให้รีบฉีดยาหรือพ่นยาทางจมูกทันทีที่นึกได้และให้เริ่มใช้ขนาดยาต่อไปตาม เดิม หากลืมฉีดยาหรือพ่นยาทางจมูกใกล้เวลาการให้ยาครั้งถัดไป ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า แต่ให้ใช้ขนาดยาเดิมตามเวลาที่กำหนดและให้ปรึกษาแพทย์ผู้รักษา

ข. กรณีที่ฉีดยาทุกๆ 28 วันหรือทุกๆ 12 สัปดาห์: หากลืมฉีดยาในวันที่กำหนดให้ฉีดทันทีที่นึกได้ในกรณีที่ฉีดยาเองและรีบปรึกษาแพทย์ผู้รักษา หากการฉีดยาอยู่ภายใต้การดู แลแพทย์ผู้รักษาควรไปตามนัดอย่างเคร่งครัด หากไม่สามารถไปตามกำหนดควรแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบ เนื่องจากหากไม่ได้รับยาตามวันและเวลาที่กำหนดอาจทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร

ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง มีผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น

ก. ยากระตุ้นฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง: อาจมีอาการ เช่น ร้อนวูบวาบ (Hot flushes) ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่พบบ่อย, เหงื่อออก, เจ็บ/คัดเต้านม, มีการเปลี่ยนแปลงขนาดเต้านมใหญ่ขึ้น, มีภาวะช่องคลอดแห้งและมีอาการคัน, มีเลือดออกกระปิดประปรอยทางช่องคลอด, มีความต้องการทางเพศลดลง, ถุงอัณฑะ (ในผู้ชาย) มีขนาดเล็กลง, อารมณ์แปรปรวน, ซึมเศร้า, ซึ่งอาการข้างเคียงดังกล่าวเกิดจากการที่ฮอร์โมนเพศเช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน และเทสทอสเทอโรนในร่างกายลดลง

ข. ยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง: อาจมีอาการเช่น ปวดท้อง ปวดหัว คลื่นไส้-อาเจียน ท้องเสีย ซึ่งเป็นอาการจากรังไข่ถูกกระตุ้นให้ทำงานมากเกินไป (Ovarian hyperstimulation syndrome) ซึ่งอาการข้างเคียงดังกล่าวเกิดจากการที่ยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง มีผลยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนฟอลลิเคิล สติมิวเลติง และฮอร์ โมนลูทิไนซิ่ง

มีข้อควรระวังในการใช้ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง อย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง ดังนี้เช่น

  • ควรใช้ยากระตุ้นและยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีส ซิ่งตามวิธีใช้ที่ระบุบนฉลากยาและตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ห้ามเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง หากมีข้อสงสัยให้สอบ ถามแพทย์ผู้รักษาหรือเภสัชกร
  • หากมีอาการผิดปกติใดๆในระหว่างใช้ยานี้ ให้รีบปรึกษาแพทย์/ไปโรงพยาบาล เช่น มีผื่น คลื่นไส้ อาเจียน
  • ไม่ควรใช้ยากระตุ้นและยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่งในผู้ที่แพ้ยาดัง กล่าว
  • ไม่ควรซื้อยาอื่นรับประทานเองเนื่องจากยาบางชนิดมีผลต่อการออกฤทธิ์ของยากระตุ้นและยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง ซึ่งอาจทำให้เพิ่มความเป็นพิษของยากระ ตุ้นและยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่งได้ หรือทำให้ระดับยากระตุ้นและยายับยั้งฮอร์ โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง ต่ำกว่าระดับที่ใช้ในการรักษา
  • ยากระตุ้นและยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง ถูกจัดตามดัชนีความปลอด ภัยในหญิงตั้งครรภ์ให้อยู่ในกลุ่มเอ็กซ์ (Pregnancy Category X) (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor. com เกร็ดยาเรื่อง ดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์) โดยมีพิษก่อความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ไม่ควรใช้ยากระตุ้นและยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง ระหว่างตั้งครรภ์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่งด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้น ฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

ก. ยากระตุ้นฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง: มีอันตกริยา/ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นดังต่อไปนี้เช่น ยามีโซริดาซีน (Mesoridazine, ยาจิตเวช), ไธโอริดาซีน (Thioridazine, ยาทางจิตเวช), ไพโมไซด์ (Pimozide, ยาจิตเวช), เทอฟีนาดีน (Terfenadine, ยาแก้แพ้), บีไพรดิว (Bepridil, ยาโรคหัวใจ), ซิแซบไพรด์ (Cisapride), สปาร์ฟลอกซาซิน (Sparfloxacin, ยาปฏิชีวนะ), ซาควิ-นาเวียร์ (Saquinavir, ยาต้านเอชไอวี) เนื่องจากยาเหล่านี้อาจมีผลทำให้การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจีผิดปกติ ซึ่งยากระตุ้นฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง ก็อาจก่อให้เกิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติได้เช่นกัน ดังนั้นหากได้รับยาเหล่านี้ข้างต้นร่วมกับยากระตุ้นฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง จึงอาจทำให้ผู้ป่วยมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติได้

ข. ยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลีสซิ่ง: ยังไม่พบข้อมูลชัดเจนในเรื่องของปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับยาอื่นๆ

ควรเก็บรักษายาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง อย่างไร?

ควรเก็บรักษายาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง เช่น

  • ยาฉีดและสเปรย์พ่นจมูก:
    • ควรเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง 25 - 30 องศาเซลเซีย (Celsius)
    • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
    • เก็บยาในที่แห้ง พ้นแสง/แสงแดด
    • ควรเก็บรักษายานี้ให้มิดชิด พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

อนึ่ง:

  • สำหรับยาฉีด: สามารถใช้ได้ 14 วันหลังจากเปิดใช้
  • ส่วนสเปรย์พ่นจมูก: สามารถใช้ได้ 5 สัปดาห์หลังจากเปิดใช้

ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิ่ง มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไร?

ชื่อยาทางการค้าและบริษัทผู้ผลิตยากระตุ้นและยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง เช่น

ก. ยากระตุ้นฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง: เช่น

ชื่อการค้า บริษัทที่ผลิต
Zoladex (โซลาเดกซ์) AstraZeneca
Eligard (อีลิการ์ด) Astellas Pharma
Enantone L.P.(อีแนนโทน แอล พี) Takeda
Suprefact Depot (สูพรีแฟก ดีพอท) Sanofi-aventis
Suprefact E (สูพรีแฟก อี) Sanofi-aventis

ข. ยายับยั้งฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลีสซิ่ง: เช่น

ชื่อการค้า บริษัทที่ผลิต
Orgalutran (ออร์กาลูทราน) MSD
Cetrotide (ซีโตรไทด์) Merck

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/drug-class/gonadotropin-releasing-hormone-antagonists.html [2021, April 3].
  2. https://www.medbroadcast.com/drug/getdrug/suprefact#.VO75r-3FIqQ [2021, April 3].
  3. https://www.medscape.com/viewarticle/447779_2 [2021, April 3].
  4. https://www.micromedexsolutions.com/home/dispatch/ssl/true [2021, April 3].
  5. https://www.mims.com/THAILAND/drug/info/Zoladex/ [2021, April 3].
  6. https://www.mims.com/THAILAND/drug/info/Orgalutran/ [2021, April 3].
  7. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a685040.html [2021, April 3].
  8. https://www.webmd.com/women/endometriosis/understanding-endometriosis-treatment [2021, April 3].