เจนตามัยซิน (Gentamicin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาเจนตามัยซิน (Gentamicin หรือ Gentamicin sulfate) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่ม อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside) ที่สังเคราะห์ได้จากแบคทีเรียแกรมบวกที่มีชื่อว่า Micromonospora ซึ่งพบมากในน้ำและดิน

ยาเจนตามัยซิน มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ แบคทีเรียแกรมลบ แต่ก็มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถใช้กับเชื้อแบคทีเรียแกรมลบบางตัวได้ เช่น Neisseria gonorrhoeae, Neisseria meningitides หรือ Legionella pneumophila

ตัวยาเจนตามัยซินสามารถก่อให้เกิดพิษต่อเส้นประสาทที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน(ประสาทหู) และก่อให้เกิดความเป็นพิษกับไต ซึ่งถือเป็นปัญหาหลักๆของยาตัวนี้

จากข้อมูลด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) พบว่า ยาเจนตามัยซิน ไม่สามารถถูกดูดซึมได้จากระบบทางเดินอาหารของคน จึงไม่พบยานี้ในลักษณะของยารับประทาน แต่จะพบในรูปแบบ ยาฉีด ยาหยอดตา และยาทาภายนอก(ยาใช้ภายนอก) และเมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ไม่เกิน 10% ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านไปกับปัสสาวะ

องค์การอนามัยโลกได้บรรจุให้ยาเจนตามัยซินเป็นหนึ่งในรายชื่อยาขั้นพื้นฐานที่ควรมีไว้ใช้ในระดับชุมชน

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้รับรองให้ยาเจนตามัยซินอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และสามารถพบเห็นการใช้ยาตามสถานพยาบาลทั่วไปของรัฐบาลและเอกชน

เจนตามัยซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

เจนตามัยซิน

ยาเจนตามัยซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น
    • การติดเชื้อในระบบทางเดินน้ำดี
    • โรคติดเชื้อจากสัตว์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Brucella (โรค Brucellosis)
    • โรคเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ
    • ลำไส้อักเสบ,
    • โรคติดเชื้อจากแบคทีเรียชื่อ Klebsiella granulomatis (โรค Granuloma inguinale)
    • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
    • หูติดเชื้อ
    • เยื่อบุช่องท้องอักเสบ
    • การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
    • กาฬโรค
    • ปอดบวม
    • ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ /ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
    • การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง
    • โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียระหว่างการผ่าตัด
  • รักษาการติดเชื้อบริเวณลูกตาโดยใช้ในรูปแบบยาหยอดตา
  • รักษาการติดเชื้อผิวหนังโดยใช้ในรูปแบบยาครีมชนิดทาภายนอก

เจนตามัยซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาเจนตามัยซิน คือ ตัวยาจะเข้าจับกับสารพันธุกรรมของแบคที เรียที่เรียกว่า ไรโบโซม (Ribosome) และรบกวนการสร้างโปรตีนของตัวแบคทีเรีย ด้วยกลไกเหล่านี้จึงทำให้แบคทีเรียหยุดการแพร่พันธุ์และตายลงในที่สุด

เจนตามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาเจนตามัยซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ขนาดความแรง 40 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาหยอดตา ขนาดความแรง 3 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
  • ยาหยอดตาผสมสเตียรอยด์ เช่น Prednisolone sodium phosphate 0.5% + Gentamicin sulfate 0.3%
  • ยาหยอดหูผสมสเตียรอยด์เช่น Prednisolone sodium phosphate 0.5% + Gentamicin sulfate 0.3%
  • ยาครีมใช้ทาภายนอก ขนาดความแรง 0.1 กรัม/ยาครีม 100 กรัม
  • ยาครีมผสมสเตียรอยด์และยาอื่นใช้ทาภายนอก เช่น Betamethasone dipropionate 0.64 มิลลิกรัม + Gentamicin sulphate 1.7 มิลลิกรัม/ยาครีม 1 กรัม,

Betamethasone dipropionate 0.05 กรัม + Gentamicin sulfate 0.1 กรัม/ยาครีม 100 กรัม, Betamethasone valerate 0.1 กรัม + Gentamicin sulphate 0.1 กรัม/ยาครีม 100 กรัม, Betamethasone valerate 0.05% + Gentamicin sulfate 0.1% + tolnaftate 1% + Iodochlorhydroxyquin 1%

เจนตามัยซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาเจนตามัยซินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียที่ตอบสนองกับยานี้: เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ที่อายุมากกว่า 12 ปี: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 3 - 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งการให้ยาทุก 8 ชั่วโมง
  • เด็กที่อายุ 2 สัปดาห์ลงมา: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก 12 ชั่วโมง
  • เด็กที่อายุ 2 สัปดาห์ - 12 ปี: ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก 8 ชั่วโมง

ข. สำหรับป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียก่อนเข้ารับการผ่าตัด:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 120 มิลลิกรัมก่อนวางยาสลบ ปกติจะใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะตัวอื่นๆเช่น Penicillin, Vancomycin หรือ Teicoplanin
  • เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์โดยประเมินจากอายุและน้ำหนักตัวของเด็ก

ค. สำหรับยาหยอดตา (กรณีที่ติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณเปลือกตา/หนังตา):

  • ผู้ใหญ่: หยอดตา 1 - 2 หยดทุก 4 ชั่วโมง หากมีการติดเชื้อรุนแรงหยอดตา 2 หยดทุกชั่วโมง
  • เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

ง. สำหรับทาผิวเพื่อรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย:

  • ผู้ใหญ่: ทายาบริเวณที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียวันละ 3 - 4 ครั้ง
  • เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาเจนตามัยซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรือ อาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะยาเจนตามัยซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

เจนตามัยซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาเจนตามัยซินสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • วิงเวียน
  • ไตล้มเหลว/ ไตวาย เฉียบพลัน
  • ไตอักเสบ
  • เกลือแร่ในเลือด/อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ขาดสมดุล
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ชัก
  • ซึมเศร้า
  • ประสาทหลอน และ
  • เป็นพิษกับเส้นประสาทหู/การได้ยินลดลง/หูตึง

มีข้อควรระวังการใช้เจนตามัยซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาเจนตามัยซิน เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยานี้ และแพ้ยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์(Aminoglycoside)
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิง ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคตับ ผู้ที่มีภาวะแก้วหูทะลุ
  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยโรคไต
  • ระวังการใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็กทารก และผู้สูงอายุ การใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาเจนตามัยซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

เจนตามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาเจนตามัยซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาเจนตามัยซินร่วมกับยากลุ่ม Ampicillin, Benzylpenicillin และ Beta – lactam antibiotics จะเกิดการเสริมฤทธิ์ในการรักษา โดยการใช้ยาต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • การใช้ยาเจนตามัยซินร่วมกับยาสลบ (Anaesthetics) หรือยากลุ่มอนุพันธุ์ฝิ่น (Opioids ) อาจเพิ่มความเสี่ยงในการกดการหายใจ (หายใจช้า ตื้น จนถึงหยุดหายใจ) ของผู้ป่วย จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาเจนตามัยซินร่วมกับยาที่ชะลอการสูญเสียมวลกระดูกเช่น Biphosphonate จะทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในร่างกายต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาเจนตามัยซินร่วมกับยาชีวะวัตถุ (Biological drug, ยาที่เป็นสารทางชีววิทยา) เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคทางพันธุกรรมที่มีความผิดปกติของเอนไซม์บางชนิด (เช่น ยา Agalsi dase alfa และ Agalsidase beta)

ควรเก็บรักษาเจนตามัยซินอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาเจนตามัยซิน เช่น

  • สำหรับยาฉีด เก็บระหว่างอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • สำหรับยาหยอดตา เก็บระหว่างอุณหภูมิ 2 - 30 องศาเซลเซียส
  • สำหรับยาทาภายนอก เก็บระหว่างอุณหภูมิ 2 - 30 องศาเซลเซียส

*****อนึ่ง:

  • ควรเก็บยาทุกรูปแบบให้พ้นแสงแดดและความชื้น
  • ต้องไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ และ
  • ต้องเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

เจนตามัยซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาเจนตามัยซิน มียาชื่อการค้าอื่นๆ และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Beprogent (เบโพนเจน)HOE Pharmaceuticals
Beprogenta (เบโพนเจนตา)Chew Brothers
Betagen (เบทาเจน)Thai Nakorn Patana
Dermaheu (เดอมาเฮ)Thai Nakorn Patana
Dertec (เดอเทค)Millimed
Garamycin Cream (การามัยซิน)MSD
Gencidal (เจนไซดอล)Thai Nakorn Patana
Genquin (เจนควิน)Seng Thai
Genta M H (เจนตา เอ็มเฮช)M&H Manufacturing
Genta T Man (เจนตา ที แมน)T. Man Pharma
Gentacin (เจนตาซิน)Olan-Kemed
Gentaderm (เจนตาเดิร์ม)T. O. Chemicals
Gental (เจนทอล)General Drugs House
Gental Cream (เจนทอล ครีม)General Drugs House
Gental Eyedrops (เจนทอล อายดร็อบ)General Drugs House
Gental-F (เจนทอล-เอฟ)General Drugs House
Gentamicin Injection Meiji (เจนตามัยซิน อินเจ็คชัน เมจิ)Meiji
Gentamicin Sulfate GPO (เจนตามัยซิน ซัลเฟต จีพีโอ)GPO
Gentamicin Vesco (เจนตามัยซิน เวสโค)Vesco Pharma
Gentawin (เจนตาวิน)General Drugs House
Genta-Oph (เจนตา-ออฟ)Seng Thai
Gentrex (เจนเตร็ก)Seng Thai
Grammicin (แกรมมัยซิน)Siam Bheasach
Grammixin (แกรมมิคซิน)Siam Bheasach
Miramycin (ไมรามัยซิน)Atlantic Lab
Pred Oph Ear Drops (เพรดออฟเอียดร็อบ)Seng Thai
Pred Oph Eye Drops (เพรดออฟอายดร็อบ)Seng Thai
Quadriderm (ควอดิเดิร์ม)MSD
Skinfect (สกินเฟค)Bangkok Lab & Cosmetic
Skinfect-B (สกินเฟค-บี)Bangkok Lab & Cosmetic
Spectroderm (สเปคโตเดิร์ม)Meiji

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Gentamicin [2020, Oct17]
  2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fGentamicin%2520Vesco%2f [2020, Oct17]
  3. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fVersigen%2f [2020, Oct17]
  4. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fgentamicin%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage [2020, Oct17]