อิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin Therapy)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

อิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin Therapy) คือ ยาชนิดหนึ่งที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีโรค/ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค:

ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิต้านทาน จัดเป็นระบบหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อร่างกายมนุษย์ เนื่องจากเป็นระบบที่ทำให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมจากภายในและภายนอกร่างกาย โดยมี’สารภูมิต้านทาน/สารภูมิคุ้มกัน หรือแอนตีบอดี (Antibody)’ ซึ่งมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า ‘อิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin; Ig)’ ซึ่งเป็นสารโปรตีนที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ

อิมมิวโนโกลบูลิน:

อิมมิวโนโกลบูลิน ถูกหลั่งจาก’บีเซลล์ (B cell: เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บี ลิมโฟไซต์/B-lymphocytes’,เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่หลั่งสารภูมิต้านทาน)ที่เติบโตสมบูรณ์โดยมี’ทีเฮลเปอร์เซลล์ (T-helper Cell ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวอีกชนิดหนึ่งที่มีบทบาท กระตุ้นหรือช่วยเหลือเซลล์ภูมิคุ้มกันอื่นๆให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ)’ ช่วยให้บีเซลล์เจริญเติบโต

อิมมิวโนโกลบูลินมีหลายชนิด ได้แก่ ชนิด เอ (IgA, Immunoglobulin A), ชนิด ดี (IgD, Immunoglobulin D), ชนิด อี (IgE, Immunoglobulin E), ชนิด จี (IgG, Immunoglobulin, G), และ ชนิด เอ็ม (IgM, Immunoglobulin M),  โดยอิมมิวโนโกลบูลิน-จี ถือเป็นชนิดที่สำคัญในการต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆรวมถึงสร้างภูมิต้านทานแก่ทารกในครรภ์โดยสามารถผ่านรกได้

ในผู้ป่วยบางรายพบว่า มีความผิดปกติด้านภูมิคุ้มกัน อาทิ เกิดโรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน (Autoimmune), หรือภาวะที่ร่างกายไม่สามารถผลิตภูมิคุ้มกันได้, หรือภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ, จึงต้องได้รับสารภูมิต้านทาน หรืออิมมิวโนโกลบูลิน   ทดแทนจากภายนอก ที่เรียกว่า “ยาอิมมิวโนโกลบูลิน หรือการบำบัดด้วยยาอิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin Therapy)”

ยาอิมมิวโนโกลบูลิน:    

ยาอิมมิวโนโกลบูลิน ที่นำมาใช้ในทางการแพทย์ และทางเภสัชกรรมในปัจจุบัน คือ ‘อิมมิวโนโกลบูลิน-จี’ ที่ได้จากการสกัดเลือดของผู้บริจาคเลือด และนำมาทำให้บริสุทธิ์ โดยทั่วไปฤทธิ์ของอิมมิวโนโกลบูลินที่ได้รับจากภายนอกจะอยู่ได้นานประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 3 เดือน

เภสัชภัณฑ์ยาอิมมิวโนโกลบูลิน เป็นยาประเภทชีววัตถุ (Biotechnology drug หรือ Biopharmaceuticals) การใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น

อิมมิวโนโกลบูลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาอิมมิวโนโกลบูลินในทางการแพทย์: เช่น

ก. ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดปฐมภูมิ/ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอันเป็นมาแต่กำเนิด (Primary Immunodeficiency; PIDs): เช่น

  • ภาวะบกพร่องการสร้างภูมิคุ้มกันร่างกายแต่กำเนิด (Congenital Agammaglobuli naemia) และภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ (Hypogammaglobulinaemia): เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถสร้าง’บีเซลล์ (B cell)’ที่สมบูรณ์ได้ ทำให้ระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่เพียงพอ บีเซลล์มีความสำคัญเพราะเป็นเซลล์ที่ใช้ผลิตสารภูมิต้านทานอิมมิวโนโกลบูลิน
  • ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดผันแปร (Common Variable Immunodeficiency; CVID): เป็นภาวะความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยพบว่าผู้ป่วยจะมีระดับของอิมมิวโนโกลบูลิน (สารภูมิต้านทานของร่างกาย) เกือบทุกชนิดต่ำ และมีจำนวนเซลล์ บี-เซลล์ หรือเซลล์เม็ดเลือดต่ำ ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีหน้าที่สร้างสารภูมิต้านทาน ผู้ป่วยโรคนี้มักติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร และในระบบทางเดินหายใจบ่อย
  • ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องแบบผสมรุนแรง (Severe Combined Immunodeficiency; SCID): เป็นภาวะความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับเซลล์ภูมิคุ้มกัน ได้แก่ บีเซลล์ (B cells) และ ทีเซลล์ (T cells คือเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีหน้าที่กำจัดเซลล์หรือสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย) ผู้ป่วยจะมีอาการติดเชื้อซ้ำ ท้องเสีย มีโรคผิวหนัง เช่น ผิวหนังอักเสบเกิดขึ้น มักพบในทารกแรกเกิดอายุน้อยกว่า 3 เดือน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม ภาวะนี้อาจเป็นอันตรายถึงตายได้
  • กลุ่มอาการวิสค็อต-อัลดริช (Wiskott Aldrich syndrome; WAS): เป็นกลุ่มอาการที่มีการแสดงออกอย่างหลากหลาย อาทิ เกิดโรคผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema), ผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการนี้จะมีระดับอิมมิวโนโกลบูลินชนิดเอ็ม (Immnoglobulin M; IgM) ต่ำ และมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ  ร่วมด้วย, โรคนี้เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและมักพบโรคในเด็กทารก 

ข. นอกจากนี้ ยังมีการนำยานี้มาใช้เพื่อปรับสมดุลระบบภูมิคุ้มกัน(Immunomodulation) หรือในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดทุติยภูมิ (Secondary Immunodeficiency; SIDs, คือ มีความบกพร่องด้านภูมิคุ้มกันจากการกระตุ้นโดยสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น การติดเชื้อเอชไอวี การรับยาเคมีบำบัด  ภาวะขาดสารอาหารขั้นรุนแรง เป็นต้น)ในข้อบ่งใช้ เช่น

  • ภาวะการเกิดจ้ำเลือด/ห้อเลือดจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Thrombocytopenic Purpura; ITP): เป็นภาวะเลือดออกง่ายจากระดับเกล็ดเลือดต่ำซึ่งทำให้ห้ามเลือดได้ยาก โดยอาจพบจ้ำเลือดที่บริเวณผิวหนัง และมีเลือดออกทางจมูก/เลือดกำเดา, เกิดจากร่างกายมีสารภูมิต้านทานหรือแอนตีบอดีไปทำลายเกล็ดเลือดของตัวเอง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากการกระตุ้นโดยสิ่งเร้า/ตัวกระตุ้นภายนอก เช่น ยา สุรา การติดเชื้อ รวมไปถึงโรคทางภูมิคุ้มกันอื่นๆที่ผู้ป่วยเป็นอยู่, โรคนี้พบได้ในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
  • กลุ่มอาการกวิอาน-บาเร/จีบีเอส (Guillain-Barré syndrome ย่อว่า GBS): เป็นกลุ่มอาการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าทำลายระบบประสาทส่วนปลาย(Peripheral Nervous System; PNS) ซึ่งมีความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงกับการสั่งการจากสมองและไขสันหลัง ทำให้กล้ามเนื้อของผู้ป่วยมีปัญหาในการตอบสนองคำสั่งจากสมอง, ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลีย, หรือปวดแปลบ, หรือรู้สึกซ่าที่แขน-ขาในระยะเริ่มแรก, หากไม่เข้ารับการรักษาอาจก่อให้เกิดอาการอัมพาต และอาจเป็นอันตรายถึงตายได้
  • โรคคาวาซากิ: เป็นโรคภูมิต้านตนเอง พบมากในเด็ก ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด, อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ได้แก่ หลอดเลือด ผิวหนัง เนื้อเยื่อเมือก และต่อมน้ำเหลือง, ผู้ป่วยจะมีอาการมีไข้สูงสาเหตุจากหลอดเลือดแดงอักเสบ ตาแดง ริมฝีปากแห้ง ลิ้นแดง ต่อมน้ำเหลืองที่คอบวม/โต
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกโดยใช้ไขกระดูกจากผู้อื่น (Allogeneic bone marrow transplantation)
  • ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่เป็นมาแต่กำเนิด และที่ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ
    ผู้ป่วยโรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา /มะเร็งเอ็มเอ็ม (MM: Multiple myeloma): ที่ติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ และผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดขาวที่ติดเชื้อซ้ำภายหลังความล้มเหลวจากการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ (Prophylaxis)

ค. นอกจากนี้ ยังมีการใช้ยาอิมมิวโนโกลบูลินในการรักษาโรคอื่นๆที่ยังไม่มีข้อบ่งใช้ชัดเจน(Unlabeled Use):  เช่น

  • โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเล็มส์ (Lambert-Eaton Myasthenic Syndrome; LEMS) และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia Gravis; MG): เป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ต่อต้านการหลั่งสารสื่อประสาท, โดยผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปากแห้ง, ในโรค MG ผู้ป่วยจะมีอาการเปลือกตา/หนังตาอ่อนแรง/หนังตาตก และมองเห็นภาพซ้อนอีกด้วย
  • โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบชนิดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาทั่วไป (Re fractory Dermatomyositis): เป็นโรคทางภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยพบว่าสารภูมิต้านทานทำปฏิกิริยากับผิวหนังและกับกล้ามเนื้อ, ผู้ป่วยจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กลืนลำบาก  เหนื่อยง่าย มีผื่นคล้ำตามผิวหนัง เป็นต้น

อิมมิวโนโกลบูลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาอิมมิวโนโกลบูลิน คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยการไปทดแทนอิมมิวโนโกลบูลินในร่างกายโดยเฉพาะอิมมิวโนโกลบูลินชนิดจี (IgG) ที่ต่อต้าน แบคทีเรีย, ไวรัส, ปรสิต

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ยาอิมมิวโนโกลบูลินมีความสามารถในการจับกับตัวรับ (Receptor) ที่ชื่อ ‘Fc (Fc หรือ Fragment C’ ที่เป็นชื่อของส่วนหนึ่งของสารโปรตีนในอิมมิวโนโกลบูลิน โดยเฉพาะชนิดจี) บนผิวเซลล์ในร่างกายที่ชื่อ ‘เรทิคิวโลเอนโดทีเลียล (Reticuloendothelial Cell)’ ที่ทำหน้าที่ทำลายเซลล์เม็ดเลือดอายุมาก หรือสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย,  เมื่ออิมมิวโนโกลบูลินจับกับตัวรับ Fc แล้ว จะยับยั้งการทำงานของเซลล์เรทิคิวโลเอนโดทีเลียล ทำให้ไม่สามารถทำลายเซลล์เม็ดเลือดต่างๆ (รวมถึงเซลล์ภูมิคุ้มกัน)ได้ตามปกติ ทำให้การกำจัดเซลล์ดังกล่าวของร่างกายลดลง ส่งผลทำให้มีเซลล์ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันของร่างกาย

อิมมิวโนโกลบูลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

เภสัชภัณฑ์ยาอิมมิวโนโกลบูลิน ทั่วไปมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็น’ยาชีววัตถุสารละลายปราศจากเชื้อ’ เพื่อใช้เป็นยาฉีดขนาดความแรง 50 และ 100 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร โดยมีทั้งรูปแบบเภสัชภัณฑ์ชนิดยาฉีด (Injection) โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular, IM), หยดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous Infusion, IV), และหยดใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Infusion)

อิมมิวโนโกลบูลินมีขนาดและวิธีการใช้ยาอย่างไร?

ขนาดการบริหารยาอิมมิวโนโกลบูลินจะกำหนดโดยแพทย์ ซึ่งขึ้นกับข้อบ่งใช้ และตัวผู้ป่วยเอง เช่น ชนิดโรค, ภาวะความรุนแรงของโรค, น้ำหนักตัวของผู้ป่วย, อายุ, โรคประจำตัว, และความสามารถในการทำงานของไต

โดยทั่วไป นิยมให้ยานี้โดยการหยดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous Infusion) หรือหยดเข้าใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Infusion) โดยแพทย์จะเป็นผู้กำหนดขนาดและอัตราเร็วการหยดยา

ส่วนยาชื่อการค้า GamaSTAN เป็นรูปแบบฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular) โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขนส่วนบน

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาอิมมิวโนโกลบูลิน ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัตการใช้ยาต่างๆ ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อรับประทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร และสมุนไพร
  • ประวัติโรคประจำตัวที่เคยเป็นมาในอดีต และโรคประจำตัวในปัจจุบัน โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหาก กำลังตั้งครรภ์  วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างการให้นมบุตร

หากลืมเข้ารับการบริหารยาควรทำอย่างไร?

หากลืมเข้ารับการบริหารยา/เข้ารับยาอิมมิวโนโกลบูลินตามนัดหมาย ให้ติดต่อสถาน      พยาบาลที่ทำการรักษาอยู่โดยเร็วที่สุดเพื่อนัดหมายวันรับการบริหารยา

อิมมิวโนโกลบูลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

เภสัชภัณฑ์ยาอิมมิวโนโกลบูลิน อาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา/ ผลข้างเคียงแก่ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ เช่น  มีไข้ ปวดหัว  หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน ความดันโลหิตแปรปรวน (อาจสูงหรือต่ำ) มีอาการวิตกกังวล   นอนไม่หลับ  ท้องเสีย มีอาการไม่สบายท้อง หรือมีอาการปวดหลัง, *ซึ่งหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นให้รีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/รีบไปโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันนัด หรือไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

เภสัชภัณฑ์ยาอิมมิวโนโกลบูลิน *อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง เช่น ความดันโลหิตต่ำอย่างรวดเร็ว  ผู้ป่วยอาจมีอาการหน้ามืด เป็นลม หรืออาการปวดเค้นบริเวณหน้าอก/เจ็บหน้าอก หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก มีอาการปวดหรืออักเสบบริเวณขา ชาหรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก พูดไม่คล่อง/พูดตะกุกตะกัก สูญเสียการควบคุมร่างกายในซีกข้างใดข้างหนึ่ง (ซีกซ้ายหรือซีกขวา) การมองเห็นพร่ามัว/ตาพร่า, หรือมีอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคันขึ้นตามตัว ริมฝีปาก คอและเปลือกตา/หนังตาบวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก *หากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น ให้รีบไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่าการที่แพทย์สั่งใช้ยานี้เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษ หรือมากกว่าการได้รับผลข้างเคียงจากยานี้ *ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วนมากมีพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง *ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น *และรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/รีบไปโรงพยาบาลโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด หรือทันที/ฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ หากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

มีข้อควรระวังการใช้อิมมิวโนโกลบูลินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาอิมมิวโนโกลบูลิน: เช่น

  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังใน หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร เพราะยานี้สามารถผ่านรกและขับออกทางน้ำนมได้
  • ยานี้มีส่วนผสมของน้ำตาลชนิดซอร์บิทอล (Sorbitol, น้ำตาลที่ใช้ในตัวยานี้เพื่อให้เกิดความคงตัวของตัวยา) ดังนั้นผู้ป่วยที่มีภาวะไม่ทน/ตอบสนองมากเกินปกติต่อน้ำตาล ฟรุก โตส (Fructose intolerance, เช่นกินผลไม้แล้วท้องเสีย, ซึ่ง Fructose เป็นน้ำตาลโมเลกุลเล็กที่ได้จากกระบวนการสันดาปหรือย่อยน้ำตาลซอร์บิทอล) จึงไม่ควรใช้ยาอิมมิวโนโกลบูลิน เนื่องจากน้ำตาลซอร์บิทอลที่ได้รับจะเปลี่ยนไปเป็นน้ำตาลฟรุกโตส
  • ผู้ป่วยควรได้รับการเฝ้าระวังตลอดระยะเวลาขณะบริหารยาให้แก่ผู้ป่วย หากผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงใดๆระหว่างการให้ยานี้ *ให้หยุดการบริหารยานี้โดยทันที
  • ควรใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังใน ผู้ป่วยโรคอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน และผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน, ผู้ป่วยที่มีประวัติการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด เช่น ผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial Infarction) ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง/อัมพาต (Stroke), รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีภาวะใดๆที่เลือดอาจมีความเหนียวข้นมากกว่าปกติ เช่น ภาวะขาดน้ำ
  • ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะไตวายฉับพลัน (Acute Renal Failure) ผู้ป่วยทีมีประวัติเกี่ยวกับโรคไต  ผู้ป่วยโรคเบาหวาน  น้ำหนักตัวเกิน ภาวะของเหลวในร่างกายต่ำ ผู้ป่วยที่ใช้ยาอื่นๆที่อาจเป็นพิษต่อไต และผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี, ในกรณีการบริหารเข้าหลอดเลือดดำ(Intravenous), ให้บริหารด้วยอัตราการบริหารยา (Rate) ที่ต่ำที่สุด
  • ผู้ป่วยควรได้รับการเฝ้าติดตามระดับอิมมิวโนโกลบูลินชนิดจี (IgG) ในเลือดระหว่างการใช้ยานี้รักษา

อิมมิวโนโกลบูลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาอิมมิวโนโกลบูลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • ยาอิมมิวโนโกลบูลินมีปฏิกิริยาระหว่างยานี้กับ ’วัคซีนเชื้อเป็น (Live vaccine, วัคซีนที่เชื้อยังมีชีวิตแต่ถูกทำให้อ่อนแรงลงจนไม่สามารถก่อโรคได้)’ เนื่องจากยาอิมมิวโนโกลบูลินอาจทำให้ฤทธิ์ของวัคซีนเชื้อเป็นหมดไป ควรเว้นระยะอย่างน้อย 3 เดือนภายหลังการบริหารยา/ใช้ยาอิมมิวโนโกลบูลินก่อนการรับวัคซีนเชื้อเป็น, สำหรับวัคซีนโรคหัด (Measles) ฤทธิ์ของยาอิมมิวโนโกลบูลินที่ทำให้ฤทธิ์ของวัคซีนหมดไป อาจยาวนานถึง 1 ปี, ผู้ป่วยจึงควรตรวจระดับสารภูมิต้านทานโรคหัดก่อนการรับวัคซีน

ควรเก็บรักษาอิมมิวโนโกลบูลินอย่างไร?

ควรเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ยาอิมมิวโนโกลบูลิน: เช่น

  • เก็บในกล่องบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ที่อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius) หรือในตู้เย็น, บางผลิตภัณฑ์อาจเก็บได้ในช่วงอุณหภูมิ 2 - 25 องศาเซลเซียส, ทั้งนี้ห้ามเก็บในช่องแช่แข็ง

ในแต่ละสถานพยาบาล อาจมีวิธีการ หรือนโยบายการเก็บรักษายาชนิดนี้ สำหรับวิธีการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม จึงควรสอบถามจากฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาล หรือเภสัชกรถึงวิธีเก็บยานี้

อิมมิวโนโกลบูลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

เภสัชภัณฑ์ยาอิมมิวโนโกลบูลิน  มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต หรือจัดจำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า

บริษัทผู้ผลิต

บริษัทผู้จัดจำหน่าย

เพนตาโกลบิน (Pentaglobin)

Biotest Pharma, ประเทศเยอรมนี

บริษัท ส.เจริญเภสัชเทรดดิ้ง จำกัด

อ็อตตาแกม (Octagam)

Octapharma Pharmazeutia Produktionsges ประเทศออสเตรีย

บริษัท บี.เอ็ล.ฮั้ว จำกัด

ลิฟ-แกมม่า (Liv-Gamma)

SK Plasma, ประเทศเกาหลีใต้

บริษัท คอสม่า เมดิคอล จำกัด

ฮิวแมนอิมมิวโนโกลบูลิน (พีเอช 4) (PH4)

Harbin Pacific Biopharmacutical ประเทศจีน

บริษัท เอ็ม แอนด์ เอ็ช แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด

อินทราแกมพี (Intragam P)

CSL Limited รัฐวิคตอเรีย เครือรัฐออสเตรเลีย

บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด

รีโซนาทีฟ (Rhesonativ)

OCTAPHARMA AB ประเทศสวีเดน

บริษัท บี.เอ็ล.ฮั้ว จำกัด

ฟลีโบแกมมา (Flebogamma)

INSTITUTO GRIFOLS, S.A. ประเทศสเปน

บริษัท กริโฟลส์ (ประเทศไทย)จำกัด

Kiovig

Baxal, ประเทศเบลเยี่ยม

บริษัทแบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัด

อินทราเท็ก (Intratect)

Biotest Pharma ประเทศเยอรมนี

บริษัท ส.เจริญเภสัชเทรดดิ้ง จำกัด

แกมมาแรส (Gammaraas)

Shanghai Rass Blood Products Co., LTD ประเทศจีน

ไอจี วีน่า (Ig vena)

Kedrion ประเทศอิตาลี

บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด

วิแกรมลิควิด (Vigram Liquid)

Bio Products Laboratory สหราชอาณาจักร

บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน)

 

บรรณานุกรม

  1. พรรณทิพา ฉัตรชาตรี และณัฏฐิยา หิรัญกาญจน. โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง. วงการแพทย์. http://www.wongkarnpat.com/viewpat.php?id=295#.VvNfzfl97IU   [2022,Dec3]
  2. วรวุฒิ เจริญศิริ. ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ.
  3. American Pharmacists Association, Immune Globulin, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;2014:1072-6.
  4. Christopher D. Hillyer. Blood Banking and Transfusion Medicine: Basic Principles & Practice. 2007:293.
  5. Sanders DB. Lambert-eaton myasthenic syndrome: diagnosis and treatment. Ann N Y Acad Sci. 2003;998;500-8.
  6. https://emedicine.medscape.com/article/888072-overview#showall [2022,Dec3]
  7. https://emedicine.medscape.com/article/137015-overview#showall [2022,Dec3]
  8. https://medlineplus.gov/ency/article/000535.htm [2022,Dec3]
  9. https://www.ninds.nih.gov/health-information/disorders/guillain-barre-syndrome [2022,Dec3]
  10. https://emedicine.medscape.com/article/210367-overview#showall [2022,Dec3]
  11. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/22455 [2022,Dec3]
  12. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/30136  [2022,Dec3]