แพ้ท้อง อาการแพ้ท้อง (Morning sickness)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

อาการแพ้ท้องคืออะไร?

แพ้ท้อง หรือ อาการแพ้ท้อง (Morning sickness) เป็นความรู้สึกที่ไม่สุขสบายของสตรีที่เริ่มตั้งครรภ์ มักมีอาการ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย คลื่นไส้-อาเจียน ไม่อยากอาหาร มีน้ำลายมากกว่าปกติ แต่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 3 เดือน

ทำไมสตรีตั้งครรภ์จึงแพ้ท้อง?

แพ้ท้อง

สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดอาการแพ้ท้องยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ส่วนมากเชื่อว่า เนื่อง จากมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับฮอร์โมนต่างๆในร่างกายขณะตั้งครรภ์ เช่น มีการเพิ่มของฮอร์โมนเอสโตรเจน, ฮอร์โมน Human chorionic gonadotropin (hCG, ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ที่ช่วยการเจริญเติบโตของตัวอ่อน ผลิตโดยรก/ ฮอร์โมนรก), ฮอร์โมน Thyroxine (ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์), นอกจากนั้น ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ที่ทำให้การเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ช้าลง ทำให้อาหารย่อยช้า ทำให้เพิ่มความรู้สึก ท้องอืด อึดอัด/แน่นท้อง ไม่สบายในท้อง เพิ่มขึ้น

อีกปัจจัยหนึ่ง อาจมาจากสภาพจิตใจ เพราะผู้มีจิตใจเข้มแข็งมักไม่มีอาการแพ้ท้อง หรือมีอาการน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่จิตใจอ่อนไหว ความต้องการเรียกร้องความสนใจ ก็เป็นอีกเหตุให้เกิดอาการแพ้ท้องมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ถ้าสตรีตั้งครรภ์ไม่มีอาการแพ้ท้องถือว่าผิดปกติหรือไม่?

ถ้าตั้งครรภ์แล้วไม่มีอาการแพ้ท้องก็เป็นเรื่องปกติ ถือเป็นความโชคดีอย่างมาก ทั้งนี้ สภาพจิตใจก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้อาการแพ้ท้องรุนแรงขึ้นหรือไม่มีอาการแพ้ท้องได้

การแพ้ท้องมากผิดปกติมีอาการอย่างไร?

อาการแพ้ท้องมากผิดปกติ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Hyperemesis gravidarum คือ การที่สตรีตั้งครรภ์ มีอาการ คลื่นไส้-อาเจียนอย่างมาก ไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้ จนทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ, น้ำหนักตัวลด (มากกว่า 5% ของน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์), หรือมีการเปลี่ยนแปลงระดับเกลือแร่ในเลือด/ในร่างกาย ก่อให้เกิดความผิดปกติของสารต่างๆในร่างกาย

สาเหตุที่ทำให้แพ้ท้องมากผิดปกติมีอะไรบ้าง?

สาเหตุที่ทำให้มีอาการแพ้ท้องมากผิดปกติ ได้แก่

  • การมีระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์(ฮอร์โมนhCG/ฮอร์โมนรก) สูงมากเกินปกติ เช่น ในกรณีการตั้งครรภ์แฝด, การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติโดยไข่ที่ผสมแล้วกลายเป็นถุงน้ำมากมาย)
  • ภาวะทางจิตใจกรณีเป็นการตั้งครรภ์เดี่ยว (ตั้งครรภ์ปกติ) แต่อาจเครียด หรือกังวลมาก แล้วร่างกายแสดงออกมาในรูปที่แพ้ท้องอย่างมาก ซึ่งกลไกที่ทำให้เกิดอาการแพ้ท้องผิดปกติจากสาเหตุนี้จริงๆ ยังไม่สามารถอธิบายได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้แพ้ท้องมากผิดปกติมีอะไรบ้าง?

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีอาการแพ้ท้องมากผิดปกติ ได้แก่

  • เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรก
  • น้ำหนักตัวมารดามาก
  • ตั้งครรภ์แฝด
  • ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก

หากครรภ์ก่อนแพ้ท้องมาก ครรภ์ต่อไปจะเป็นอย่างไร?

หากครรภ์แรกมีอาการแพ้ท้องมาก การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปอาจจะแพ้ท้องมาก หรือแพ้ท้องปกติ หรือไม่แพ้ท้องเลย ก็ได้ ขึ้นกับ สภาพร่างกาย, สภาพจิตใจ, สภาพแวดล้อม, และปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวใน ’หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงการแพ้ท้องมากผิดปกติ’

หากประวัติครอบครัวแพ้ท้องมาก จะแพ้ท้องมากด้วยไหม?

อาการแพ้ท้องมาก น่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการมีประวัติครอบครัวที่แพ้ท้องมาก ยกเว้นกรณีการตั้งครรภ์แฝดที่ส่วนมากจะมีประวัติทางกรรมพันธุ์อยู่แล้ว ซึ่งหากตั้งครรภ์แฝดก็จะมีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติได้

การแพ้ท้องมากผิดปกติมีผลกระทบต่อมารดาและทารกอย่างไร?

ในกรณีมีอาการแพ้ท้องไม่มากนัก มักไม่มีปัญหาทำให้ขาดสารอาหารและน้ำที่จะมีผลต่อสุขภาพมารดาและทารกในครรภ์ โดยทั่วไปอาการแพ้ท้องจะเป็นมากในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หลังจากนั้นอาการทั้งหลายจะค่อยๆดีขึ้น สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มได้มากขึ้น

แต่ในกรณีที่มีอาการแพ้ท้องมากผิดปกติ สตรีตั้งครรภ์ไม่สามารถรับประทานอาหารได้เพียงพอ และมีภาวะขาดน้ำด้วย แพทย์ต้องให้ความช่วยเหลือแก้ไขอาการที่แพ้มากเหล่านี้ เพราะหากปล่อยนานไป จะมีผลต่อสุขภาพมารดาและทารกแน่นอน

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีอาการแพ้ท้อง?

ในกรณีมีอาการแพ้ท้องไม่มากนัก ให้สตรีตั้งครรภ์เข้าใจว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติ และคิดแต่ในแง่ดี เพราะมีอีก 1 ชีวิตในครรภ์ที่ต้องดูแล จิตใจจะสดชื่นขึ้น

บางครั้งอาการแพ้ท้องจะดีขึ้นโดยไม่ต้องรับประทานยา หากยังมีอาการ สามารถบรรเทาอาการได้ โดยเริ่มจากการบริโภคอาหารธรรมชาติจำพวกสมุนไพร เช่น ดื่มน้ำขิงอุ่นๆ, รับประทานผักผลไม้มากขึ้น, ควรลดอาหารที่มีไขมัน (เช่น ทอด ผัด), ลดปริมาณอาหารในมื้อหนักๆ แต่เปลี่ยนมารับประทานทีละน้อย แต่รับประทานบ่อยขึ้น การรับประทานทีละน้อย จะทำให้การย่อยอาหารง่ายขึ้น และเร็วขึ้น

นอกจากนี้ พยายามหาเวลาพักผ่อน ฟังเพลง ก็ทำให้อาการแพ้ท้องทุเลาลงได้

และโดยทั่วไป สตรีตั้งครรภ์ส่วนมากก็จะผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ โดยไม่ต้องรับประทานยาแก้แพ้ท้องจากแพทย์ นอกจากนั้นสามีของสตรีตั้งครรภ์จะมีบทบาทมากในช่วงนี้ หากสามีคอยเอาอกเอาใจใส่ คอยดูแลภรรยาเป็นอย่างดี อาการผิดปกติทุกอย่างจะดีขึ้นเป็นลำดับ

ในอาการแพ้ท้อง บางครั้งสตรีตั้งครรภ์อยากรับประทานอาหารแปลกๆ เช่น รับประทานดิน โดยส่วนตัวผู้เขียนมีความเห็นว่า หากต้องการรับประทานสิ่งที่แปลกมากเกินไปกว่าปกติที่คนแพ้ท้องทั่วไปรับประทานกัน หรือสิ่งที่อาจก่ออันตราย ต้องพยายามหักห้ามใจ หลีกเลี่ยงอาหารประเภทนั้นๆ และควรรีบไปปรึกษาสูตินรีแพทย์

อนึ่ง โดยทั่วไปหากอาการแพ้ท้องไม่มาก ก็ไม่ต้องรับประทานยาแก้แพ้ท้อง ควรปฏิบัติตัวตามที่ได้แนะนำมาแล้วข้างต้น อาการจะบรรเทาลงได้

หากมีอาการแพ้ท้องมากจริงๆ ควรไปพบสูตินรีแพทย์ ไม่แนะนำให้ซื้อยารับประทานเอง เพราะอาจจำเป็นต้องได้รับการให้น้ำเกลือ และต้องตรวจหาสาเหตุที่ทำให้แพ้ท้องมากผิดปกติ หากไม่สะดวกไปพบแพทย์ จะซื้อยารับประทานเอง ควรรับประทานวิตามินบี-6 (ยาไพริดอกซีน: Pyridoxine), รับประทานวันละ 3 เวลา หากไม่มีวิตามิน B 6 สามารถใช้วิตามิน B 1- 6-12 (บี หนึ่ง-หก-สิบสอง: นิวโรเบียน/ Neurobion) แทนได้ หากใช้แล้วไม่ดีขึ้น ควรไปพบสูตินรีแพทย์ดีที่สุด

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

โดยทั่วไปหากอาการแพ้ท้องไม่มาก ก็ไม่ต้องรับประทานยาแก้แพ้ท้อง ควรปฏิบัติตัวตามที่แนะนำมาแล้วข้างต้น อาการจะบรรเทาลงได้

แต่หากมีอาการแพ้ท้องมากจริงๆ รับประทานอาหารไม่ได้, อาเจียนตลอด, ควรไปพบสูตินรีแพทย์ก่อนนัดเสมอ ไม่แนะนำให้ซื้อยารับประทานเอง เพราะอาจจำเป็นต้องได้รับการให้น้ำเกลือ และแพทย์ต้องตรวจหาสาเหตุที่ทำให้แพ้ท้องมากผิดปกติด้วย

แพทย์ดูแลรักษาอาการแพ้ท้องอย่างไร?

การดูแลรักษาอาการแพ้ท้องโดยแพทย์ ได้แก่

  • ให้คำแนะนำว่า อาการเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติ ให้คำอธิบาย ให้กำลังใจ
  • ในกรณีแพ้ท้องไม่มาก แพทย์มักไม่ให้ยาแก้แพ้ท้อง และอาการต่างๆจะค่อยๆดีขึ้นเป็นลำดับ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น
  • ในกรณีที่มีอาการแพ้ท้องมากกว่าปกติ แพทย์จะตรวจอัลตราซาวด์ภาพครรภ์ เพื่อค้นหาว่าเป็นการตั้งครรภ์แฝด หรือการตั้งครรภ์ผิดปกติหรือไม่
  • ตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือด, การทำงานของไต, ระดับเกลือแร่ในเลือด
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อประเมินความเข้มข้นของปัสสาวะ เพื่อประเมินภาวะขาดน้ำ
  • ให้นอนพักในโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือเพื่อทดแทนภาวะขาดน้ำในกรณีที่อาเจียนมาก รับประทานอาหารไม่ได้
  • มีการเพิ่ม แร่ธาตุ/เกลือแร่ที่จำเป็น หรือวิตามิน ผสมในน้ำเกลือเพื่อให้ได้แร่ธาตุ และวิตามินที่เพียงพอ
  • ให้รับประทานยาแก้แพ้ท้อง ได้แก่ วิตามิน บี 6 วันละ 3 ครั้ง
  • ปัจจุบันมีการทำขิงเป็นผงและบรรจุอยู่ในรูปแคปซูล สามารถให้รับประทานร่วมด้วยได้วันละ 3-4 ครั้ง
  • นอกจากนั้นแพทย์จะมีการให้รับประทานยาแก้แพ้ท้องอีก 2-3 ขนาน หากใช้ วิตามิน บี 6 แล้วอาการไม่ดีขึ้น
  • หากอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะฉีดยาแก้อาเจียนให้

มีวิธีป้องกันไม่ให้แพ้ท้องได้หรือไม่?

ไม่มีวิธีป้องกันอาการแพ้ท้องเพราะเป็นเรื่องตามธรรมชาติ แต่สิ่งต่อไปนี้จะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้ คือ

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ทำจิตใจให้สงบ ไม่เครียด
  • รับประทานผักและผลไม้มากๆ
  • งด/ลดอาหารไขมัน อาหารทอด อาหารผัด
  • รับประทานอาหารแต่ละชนิดทีละน้อยแต่บ่อยๆ
  • ไม่ดื่มเหล้า หรือ สูบบุหรี่

บรรณานุกรม

  1. https://americanpregnancy.org/pregnancy-concerns/nausea-during-pregnancy/ [2020,June13]
  2. http://emedicine.medscape.com/article/254751-overview#showall [2020,June13]