วิธีดูแลผู้ป่วยอัมพาตและโรคหลอดเลือดสมองที่บ้าน

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disease หรือ stroke) เป็นโรคที่พบบ่อยตลอดจนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและพิการที่สำคัญในประเทศไทย กล่าวคือ เป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ในเพศหญิง และอันดับ 2 ในเพศชาย และเป็นโรคที่เมื่อเป็นแล้วก่อให้เกิดความพิการอัมพฤกษ์อัมพาตได้ ซึ่งหากได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีก็สามารถที่จะลดความพิการลงได้ โรคหลอดเลือดสมองนั้น ถือเป็นหนึ่งในโรคสำคัญที่พบได้บ่อย และเป็นปัญหาต่อตัวผู้ป่วยเอง ต่อครอบครัวของผู้ป่วย รวมทั้งต่อสังคมโดยทั่วไปด้วย โรคนี้จะทำให้เกิดอาการอัมพาตเฉียบพลัน ผู้ป่วยอาจสูญเสียความสามารถในการพูดและ/หรือการมอง เห็น

โรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุให้สมองขาดเลือด จากการที่เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ เนื่องจากเกิดการอุดตันของหลอดเลือด ส่งผลให้ออกซิเจนและสารอาหารต่างๆไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ หลังจากนั้นเซลล์สมองก็จะตายในเวลาเพียงสั้นๆ

นอกจากนี้ ภาวะสมองขาดเลือดอาจเกิดจากการมีเลือดออกในสมองเนื่องจากภาวะหลอดเลือดสมองแตก ซึ่งอัตราการเกิดขึ้นของกรณีนี้มีประมาณ 12% ของภาวะสมองขาดเลือดทั้งหมด

ความรุนแรงของภาวะสมองขาดเลือดจะมากหรือน้อยเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเนื้อเยื่อสมองที่ถูกทำลาย โดยธรรมชาติแล้วสมองด้านซ้ายจะควบคุมการทำงานของร่างกาย/อวัยวะซีกขวาและการพูด ส่วนสมองด้านขวาควบคุมการทำงานของร่างกายซีกซ้าย

โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคสมองขาดเลือด หรือที่นิยมเรียกกันว่า Stroke ในทางการ แพทย์มักจะเรียกกันว่า CVD "Cerobrovascular disease" โรคหลอดเลือดสมองทำให้เกิดอัมพฤกษ์อัมพาต (แขนและขาอ่อนแรงครึ่งซีก) มีปัญหาทางด้านความคิด สูญเสียความจำ มีปัญ หาทางด้านการพูด อารมณ์แปรปรวน

การเกิดภาวะสมองขาดเลือดเป็นประสบการณ์ที่ร้ายแรงมาก มีผลทำให้สมองบางส่วนสูญเสียหน้าที่ เช่น พูดไม่ได้ แขน ขา อ่อนแรง ระยะเวลาที่เกิดอาการมักไม่เกิน 24 ชั่ว โมง โดยพบว่าส่วนใหญ่เป็น

  • โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด (Ischemic stroke) ประมาณ 75-80%
  • และโรคหลอดเลือดสมองจากเลือดออกในสมอง (Hemorrhagic stroke) ประมาณ 20-25%)

โรคหลอดเลือดสมองมีอาการอย่างไร?

วิธีดูแลผู้ป่วยอัมพาต

อาการของโรคหลอดเลือดสมอง ที่พบบ่อยคือ แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก มีความรู้สึกตามส่วนต่างๆของร่างกายลดลง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เสียงพูดเปลี่ยนไป พูดไม่ออก หรือไม่คล่องเหมือนเดิม ไม่เข้าใจภาษา เวียนศีรษะ เดินเซ เห็นภาพซ้อน สำลักบ่อย และ/หรือ อาจมีความผิดปรกติในการมองเห็นภาพในแบบต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ อาการเริ่มแรกของโรคหลอดเลือดสมองที่สังเกตได้ง่าย ตามหลักสากลมีดังนี้

  • ใบหน้าบูดเบี้ยว ชาใบหน้าด้านใดด้านหนึ่ง
  • แขน ขา อ่อนแรง ด้าน/ซีกใดซีกหนึ่ง
  • พูดสับสน พูดไม่เป็นภาษา

ดังนั้นหากพบเห็นญาติ หรือบุคคลใกล้ชิด มีอาการดังกล่าว และอาการที่เกิดขึ้นนั้นเกิดภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมง ควรรีบพาไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ทัน ท่วงที เพื่อลดโอกาสเกิดความพิการที่อาจเกิดขึ้น (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง อัมพาต:270 นาทีชีวิต)

มีวิธีดูแลผู้ป่วยอัมพาตและโรคหลอดเลือดสมองที่บ้านอย่างไร?

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเมื่อเป็นแล้ว หากมารับการรักษาไม่ทันท่วงที ส่วนใหญ่จะมีความพิการหลงเหลือ หรือเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ส่งผลให้มีปัญหาการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการเคลื่อนไหวไม่ได้ในระดับต่างกัน หลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง ต้องการความช่วยเหลือในการพลิกตัวเมื่อนอนอยู่บนเตียง บางรายอาจเคลื่อนไหวร่างกายได้เพียงบางส่วน

ญาติ หรือผู้ดูแล ควรดูแลส่งเสริมกิจกรรมที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย ตามที่ แพทย์ พยา บาล และ/หรือ นักกายภาพบำบัด แนะนำ สอน ให้พยายามฝึก และสอบถามให้เข้าใจ ทำได้ ก่อนออกจากโรงพยาบาล

โดยทั่วไป การส่งเสริมให้ผู้ป่วยให้สามารถเคลื่อนไหว พอช่วยเหลือตนเองได้ ที่สำคัญมี ดังนี้

  • ส่งเสริมการออกกำลังกายบนเตียง ควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก ให้มีการออกกำลังกายบนเตียง ให้มีการฟื้นฟูร่างกายให้มากที่สุด ส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถที่จะเคลื่อนไหวขาข้างที่อ่อนแรง โดยเลื่อนขาข้างที่แข็งแรงไปใต้ขาข้างที่อ่อนแรง เพื่อช่วยยกและเลื่อนขาข้างที่อ่อนแรงไป โดยผู้ป่วยสามารถใช้แขนข้างที่แข็งแรงเคลื่อนแขนและมือข้างที่อ่อนแรง สนับ สนุน และชักชวนให้ผู้ป่วยทำเองบ่อยๆ สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง
    • ส่งเสริมให้ออกกำลังกล้ามเนื้อก้นและกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกในระหว่างวัน เพื่อช่วยในการเตรียมผู้ป่วยสำหรับการเริ่มฝึกเดินในอนาคต โดยเริ่มจากการทำซ้ำ 5 ครั้งและเพิ่มเป็น 20 ครั้ง ซึ่งมีวิธีแนะนำให้ผู้ป่วยทำ ดังนี้
      • ออกกำลังกล้ามเนื้อก้น โดยการให้ขมิบก้น หรือบีบหดรูก้นเข้าหากันนับ 1 ถึง 5 แล้วปล่อย ทำซ้ำไปเรื่อยๆได้ตลอดทั้งวัน
      • ออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขา โดยเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณต้นขาให้รู้สึกตึง ในขณะเดียวกันกระดกส้นเท้าขึ้น และพยายามกดม้วนผ้าเช็ดตัวที่ใช้รองใต้เข่ากับเตียง (ใช้เพื่อช่วยในการออกกำลังต้นขา) ในขณะที่เกร็งอยู่ให้นับ 1 ถึง 5 แล้วปล่อย นับ 1 ถึง 5 แล้วทำซ้ำ ควรทำทั้งสองข้างของต้นขา (ควรทำบ่อยๆ) ญาติควรเริ่มการกระตุ้นการออกกำลังกล้ามเนื้อต้นขาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้เมื่อผู้ป่วยมีสติ เนื่องจากกล้ามเนื้อต้นขาจะช่วยให้ข้อเข่าของผู้ป่วยมีความมั่นคงมีกำลังขณะฝึกเดิน ซึ่งการเริ่มทรงตัว ฝึกเดินได้ จะช่วยเพิ่มกำลังใจให้ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
  • ส่งเสริมช่วยเหลือผู้ป่วยให้ลุกขึ้นนั่ง
    • ในกรณีที่ผู้ป่วยนอนพักบนเตียงที่บ้าน ผู้ดูแล/ญาติควรช่วยให้ผู้ป่วยออกจากเตียงให้ได้เร็วที่สุดเมื่ออาการผู้ป่วยคงที่ เมื่อแรกลุกนั่ง ญาติควรประคองผู้ป่วยด้านซีกที่อ่อนแรง โดยประคองหลังและศีรษะอย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะนั่งคนเดียว โดยพิงพนักหัวเตียงก่อน แล้วค่อยนั่งห้อยขาข้างเตียง โดยวางเท้าบนที่รองเท้าที่มั่นคง และช่วยรักษาสมดุลของร่างกาย โดยฝ่ามือของแขนที่อ่อนแรงให้วางราบบนเตียง ญาติ หรือผู้ดูแลต้องอด ทนและให้กำลังใจผู้ป่วย ให้ฝึกทำอย่างสม่ำเสมอ จนในที่สุด ผู้ป่วยสามารถลุกขึ้นเองได้
    • เมื่อผู้ป่วยเริ่มรักษาการทรงตัวได้ ช่วยเหลือและสอนให้ผู้ป่วยลุกนั่งห้อยขาเองได้ โดยให้ผู้ป่วยจับแขนข้างที่อ่อนแรงวางไว้บนหน้าอก ขาข้างปกติสอดใต้เข่าข้างที่อ่อนแรง ซึ่งเป็นข้างลงข้างเตียง ใช้มือข้างปกติยันเตียงไว้ ยกศีรษะ และไหล่ขึ้น พร้อมกับดันตัวลุกนั่ง
  • แนะนำผู้ป่วยเกี่ยวกับการใช้รถเข็น
    • ผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตต้องเรียนรู้การเคลื่อนย้ายตัวเองอย่างปลอดภัยจากเตียงสู่เก้าอี้ หรือรถเข็น ผู้ป่วยสามารถขับเคลื่อนรถเข็นด้วยแขนและขาข้างที่แข็งแรง ผู้ป่วยจะได้รู้สึกว่า ไม่ต้องพึ่งพาใคร มีคุณค่าขึ้น
    • ในกรณีที่ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนย้ายตนเองได้เอง สามารถเคลื่อนย้ายโดยการให้ผู้ป่วยนั่งอยู่ริมเตียง เท้าทั้งสองข้างแตะพื้น ผู้ดู แล/ญาติจัดรถเข็นเข้าด้านปกติของผู้ป่วยโดยทำมุม 30-45 องศากับเตียง ล็อกล้อรถก่อนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทุกครั้ง ปัดที่พักเท้ารถเข็นขึ้นด้านบน ให้ผู้ป่วยโน้มตัวมาข้างหน้า ใช้มือข้างปกติยันขอบเตียง ดันตัวลุกขึ้นยืน ให้น้ำหนักอยู่บนขาข้างปกติ เอื้อมแขนข้างปกติ เอามือมาจับพนักวางแขนของรถเข็นด้านนอก แล้วจึงค่อยๆหย่อนตัวลงนั่งโดยใช้ขาข้างปกติเป็นแกนช่วยหมุนตัว

มีวิธีป้องกันโรคหลอดเลือดสมองและการกลับเป็นซ้ำอย่างไร?

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ โดยการลดปัจจัยเสี่ยงด้วยวิธีดังต่อ ไปนี้

  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • งดสูบบุหรี่
  • งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง
  • ในกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยงอยู่แล้วเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง จำเป็นต้อง รักษาและพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยาหรือปรับยาที่ใช้รักษาเอง

บรรณานุกรม

  1. กองการพยาบาลสาธารณสุข. (2554). การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่บ้านสำหรับบุคลากรสาธารณสุข. สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร.
  2. สถาบันประสาทวิทยา. (2554). แนวทางการพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง สำหรับพยาบาลทั่วไป. ม.ป.ท.
  3. ผ่องศรี ศรีมรกต. (2553). การพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพ เล่ม 3. กรุงเทพฯ: ไอกรุ๊ป เพรส จำกัด.
  4. http://uto.moph.go.th/thapla/Information/pdf/im07.pdf [2019,Sept28]
  5. https://www.stroke.org/ [2019,Sept28]