ยาฝังคุมกำเนิด (Contraceptive implant)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ยาฝังคุมกำเนิดคืออะไร?

ยาฝังคุมกำเนิด/ยาคุมกำเนิดแบบฝัง (Contraceptive implant หรือ Implantable contraception) คือ วิธีหนึ่งในการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว  โดยการฝังฮอร์โมนเพศหญิงที่ทำเป็นแท่งเล็กๆเข้าใต้ผิวหนังใต้ท้องแขนด้านที่ไม่ถนัด ซึ่งฮอร์โมนนี้จะค่อยๆซึมผ่านออกมาจากแท่งยาเข้าสู่ร่างกาย, และไปทำการยับยั้งการเจริญเติบโตของฟองไข่ของสตรี  ส่งผลทำให้ไม่มีการตกไข่ตามมา, จึงสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้

 ยาฝังคุมกำเนิด เป็นวิธีคุมกำเนิดที่สะดวกสบาย มีใช้มานานนับ 10 ปี ในระยะแรกจะเป็นฮอร์โมนที่บรรจุในแท่งพลาสติกเล็กๆจำนวน 6 แท่ง ขนาดแท่งละ 3.4 x 0.24 เซนติเมตร (ซม.) เช่น ยา Norplant® สามารถใช้ได้คุมกำเนิดได้ 5 ปี,   ปัจจุบันมีการพัฒนาให้สะดวกขึ้นเหลือเพียงชนิดแบบ 1 แท่ง (Implanon®) ขนาดแท่งละ 4.0 x 0.20 ซม. คุมกำเนิดได้ 3 ปี,  และแบบ 2 แท่ง (Jadelle®) ขนาดแท่งละ 4.3 x 0.25 ซม. คุมกำเนิดได้ 5 ปี

ยาฝังคุมกำเนิด-01

 

ยาฝังคุมกำเนิดสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างไร?

ยาฝังคุมกำเนิด ประกอบด้วย ฮอร์โมนเพศหญิงโปรเจสติน (Progestin, ฮอร์โมนเพศหญิงสังเคราะห์) เพียงชนิดเดียว จึงไม่มีผลข้างเคียงของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เหมือนในยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรวม

  • ในยาฝังคุมกำเนิดที่ชื่อ Implanon® จะเป็นฮอร์โมน Etonogestrel 68 มก. (มิลลิกรัม) แล้วค่อยๆปล่อยฮอร์โมนออกมาวันละ 70-60 ไมโครกรัม
  • ส่วน Jadelle® จะเป็นฮอร์โมน Levonorgestrel 75 มก. ปล่อยฮอร์โมนออกมาวันละ 100-40 ไมโครกรัม (ระดับฮอร์โมนจะสูงในช่วงแรก และค่อยๆลดลงจนคงที่ในระยะเวลาต่อมา)

กลไกการป้องกันการคุมกำเนิด คือ ฮอร์โมนที่ปล่อยออกมาจากแท่งยาฝัง จะไปมีผลทำให้ฟองไข่ไม่พัฒนา จึงไม่สามารถโตต่อไปจนตกไข่ได้ ทำให้ไม่มีไข่ที่จะรอผสมกับเชื้ออสุจิ จึงไม่สามารถตั้งครรภ์ได้, นอกจากนี้ ฮอร์โมนนี้ยังทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น ทำให้เชื้ออสุจิว่ายผ่านเข้าไปได้ยาก จึงช่วยลดโอกาสเกิดการผสมกับไข่

ยาฝังคุมกำเนิด มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดดีมาก โอกาสการตั้งครรภ์น้อยกว่า 1 ใน 100 ของสตรีที่ใช้ยาฝังคุมกำเนิด

ข้อดีของยาฝังคุมกำเนิดมีอะไรบ้าง?

ข้อดีของยาคุมกำเนิดแบบฝัง เช่น

  • สะดวกสบายเมื่อไปรับการคุมกำเนิดวิธีนี้ สามารถคุมกำเนิดได้นาน 3-5 ปี แล้วแต่ชนิดของยา
  • ไม่ต้องรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดทุกวัน ลดโอกาสลืมกินยา หรือต้องไปฉีดยาคุม กำเนิดทุก 3 เดือน ลดโอกาสฉีดยาคลาดเคลื่อนไม่ตรงกำหนด
  • ไม่มีผลข้างเคียงของฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น คลื่นไส้อาเจียน เป็นฝ้า
  • เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูงดังกล่าวแล้วในหัวข้อก่อนหัวข้อนี้

ผลข้างเคียงของยาฝังคุมกำเนิดมีอะไรบ้าง?

ข้อเสียของยาฝังคุมกำเนิด คือ อาจมีผลข้างเคียงจากยาได้ โดยผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น

  • ประจำเดือนกะปริบกะปรอย/เลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงพบมากที่สุด
  • ไม่มีประจำเดือน หรือเกิดภาวะขาดประจำเดือน
  • อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • ปวดแขนบริเวณที่ฝังแท่งยาคุมกำเนิด
  • แผลที่ฝังยาเกิดการอักเสบ หรือมีรอยแผลเป็น
  • อารมณ์แปรปรวน
  • ปวด/เจ็บเต้านม
  • มีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูก (ท้องนอกมดลูก) หากเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น
  • อาจเกิดภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ

หลังใช้ยาฝังคุมกำเนิด เมื่อไรต้องพบแพทย์ก่อนนัด?

เมื่อใช้ยาฝังคุมกำเนิด ควรพบแพทย์ก่อนนัด เมื่อ:

  • อาการปวดแขนที่ฝังยาผิดไปจากเดิม (เช่นปวดมากขึ้น) หรือ อักเสบ (แผลบวม แดง ร้อน) หรือ เป็นหนอง
  • หายใจลำบาก แน่นหน้าอก/หอบเหนื่อย (อาการของการแพ้ยา ที่ต้องรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันที)
  • ปวดหัวมากผิดปกติ
  • แขน ขา อ่อนแรง (อาจเป็นอาการของ ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ หรือโรคสมอง)

ใครคือสตรีที่เหมาะที่จะใช้ยาฝังคุมกำเนิด?

สตรีที่เหมาะที่จะใช้ยาฝังคุมกำเนิด: เช่น  

  • ผู้ที่ลืมรับประทานยาบ่อยๆ รวมทั้งยาเม็ดคุมกำเนิด
  • ต้องการคุมกำเนิดในระยะเวลาประมาณ 3-5 ปี
  • มีข้อห้ามในการใช้การคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น กำลังให้นมบุตร

ใครคือสตรีที่ห้ามใช้ยาฝังคุมกำเนิด?

สตรีที่ห้ามใช้ยาฝังคุมกำเนิด: เช่น

  • มีโรคตับ: เพราะผลข้างเคียงของยาฝังคุมกำเนิด อาจส่งผลให้เกิดอาการ ตับอักเสบเพิ่มขึ้นได้
  • มีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม เพราะยาฝังคุมกำเนิดอาจกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งลุกลามแพร่กระจาย
  • มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ ที่ไม่ทราบสาเหตุ เพราะยาฝังคุมกำเนิดอาจกระตุ้นให้เลือดออกมากขึ้น
  • มีภาวะเลือดออกง่ายและหยุดยาก เพราะยาฝังคุมกำเนิดอาจรบกวนการทำงานของเกล็ดเลือด ซึ่งมีหน้าที่ช่วยให้เลือดแข็งตัวในภาวะเลือดออก

ประโยชน์อย่างอื่นของยาฝังคุมกำเนิดมีอะไรบ้าง?

ประโยชน์อย่างอื่นของยาฝังคุมกำเนิด นอกจากการคุมกำเนิด: เช่น

  • ลดอาการปวดประจำเดือน
  • ป้องกันการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็น มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
  • ลดโอกาสเกิดอาการซีดจากการมีประจำเดือนมามากผิดปกติ ที่เกิดจากมีการหนาตัวมากของเยื่อบุโพรงมดลูก

รับการฝังยาคุมกำเนิดได้ที่ไหน? และการฝังยาต้องนอนโรงพยาบาลหรือไม่?

หากสตรีท่านใดตัดสินใจที่จะใช้การคุมกำเนิดโดยใช้ยาฝังคุมกำเนิด สามารถไปขอรับบริการได้ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด หรือโรงพยาบาลประจำอำเภอที่มีขนาดใหญ่ หรือสามารถสอบถามตามคลินิกสูตินรีเวช ทั้งนี้การฝังยาฯสามารถทำได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ใช้เวลาเพียงประมาณ 10-20 นาที โดยผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาล

การฝังยาฝังคุมกำเนิดต้องดมยาสลบหรือไม่?

การฝังยาคุมกำเนิดไม่ต้องดมยาสลบ แพทย์จะใช้วิธีฉีดยาชาเข้าที่ใต้ท้องแขนด้านที่ไม่ถนัด จากนั้นจะใช้เข็มนำเปิดแผลขนาดประมาณ 0.3 ซม.ที่ท้องแขนด้านนั้น แล้วสอดใส่แท่งตัวนำหลอดยาที่มียาบรรจุอยู่เข้าไปในเข็มนำนี้, หลังจากใส่หลอดยาเข้าไปในเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง (Subcutaneous injection)เรียบร้อยแล้ว (1 หรือ 2 แท่งตามแต่ชนิดของยา) ก็จะถอนแท่งนำยาและเข็มนำออก, ทำการปิดปากแผลโดยไม่ต้องเย็บแผล, จากนั้นพันแผลด้วยผ้าพันแผล, และพันทับด้วยผ้ายืด/อิลาสติค (Elastic bandage) อีกชั้น, ก็เสร็จเรียบร้อย, โดยพันผลทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง ทั้งนี้เพื่อช่วยหยุดจุดเลือดออกต่างๆ, และแพทย์จะให้ยาแก้ปวดไปรับประทานหากมีอาการปวดแผล, ในวันรุ่งขึ้นอาจพบมีรอยช้ำที่แขนได้เล็กน้อยซึ่งจะค่อยๆหายไปเอง

ค่าใช้จ่ายยาฝังคุมกำเนิดมากน้อยเพียงใด?

ราคาของยาฝังคุมกำเนิดในโรงพยาบาลของรัฐจะอยู่ในหลักพัน,  หากทำในโรงพยาบาลเอกชน หรือ คลินิกก็จะมีค่าบริการเพิ่มเติมขึ้น, ซึ่งควรสอบถามค่าใช้จ่ายกับโรงพยาบาลที่ประสงค์จะเข้ารับการฝังยาฯก่อนเพื่อจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง

หากไม่ต้องการคุมกำเนิดแล้ว จะทำอย่างไร?

หากต้องการมีบุตรหรือฝังยาคุมกำเนิดมาครบตามจำนวนเวลาที่ระบุแล้ว (3 หรือ 5 ปี) สามารถไปถอดยาฝังได้ตามโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งแผลที่เกิดจากการถอดหลอดยา จะใหญ่กว่าตอนใส่เล็กน้อย และอาจได้รับการเย็บแผลซึ่งโดยทั่วไปประมาณ 1เข็มซึ่งก็มีการฉีดยาชาก่อนเสมอ, ทั้งนี้การถอดยาฝังใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที, และทำได้ที่ห้องตรวจผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลเช่นเดียวกับตอนใส่หลอดยาเช่นกัน

โอกาสตั้งครรภ์หลังเอายาฝังคุมกำเนิดออกแล้ว เป็นอย่างไร?

ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ของยาฝังคุมกำเนิดดีมากดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น และเมื่อถอดยาออก  ภาวะเจริญพันธุ์ก็สามารถกลับมาเป็นปกติได้ภายในระยะเวลาประมาณ 1-12 เดือน ขึ้นกับความแข็งแรงและอายุของสตรีท่านนั้น, รวมทั้งระยะเวลาที่ใช้ในการคุมกำเนิดก่อนหน้านี้ด้วย

หากถอดยาฝังคุมกำเนิดออกแล้ว สามารถฝังใหม่ได้อีกหรือไม่?

หากถอดยาฝังคุมกำเนิดออกแล้ว สามารถฝังยาชุดใหม่ได้เลย หากต้องการคุมกำเนิดต่อ

บรรณานุกรม

  1. https://www.medsafe.govt.nz/consumers/cmi/j/jadelle.pdf  [2022,Aug20]
  2. https://www.familyplanning.org.nz/advice/contraception/contraceptive-implant  [2022,Aug20]