โรคมะเร็งของดวงตา มะเร็งตา (Malignant eye tumors)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคมะเร็งของดวงตา หรือมะเร็งตา/มะเร็งของตา หรือ มะเร็งลูกตา (Malignant eye tumors หรือ Eye cancer)คือ โรคที่เกิดจากเยื้อเยื่อตา ณ จุดใดก็ได้เกิดกลายพันธ์ เจริญแบ่งตัวอย่างรวดเร็วเกินปกติ และร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญแบ่งตัวนี้ได้ จึงเกิดเป็นก้อนมะเร็ง/แผลมะเร็งที่รุกราน/ลุกลามทำลายลูกตา อวัยวะใกล้เคียงตา ต่อมน้ำเหลืองใกล้ตา(ต่อมน้ำเหลืองหน้าติ่งหน้ารูหู/Tragus) และในที่สุดแพร่กระจายทางระบบน้ำเหลืองไปยังต่อมน้ำเหลืองไกลตา เช่น ลำคอ และ/หรือแพร่กระจายทางกระแสโลหิตไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย พบบ่อยที่ ปอด รองลงไปคือ กระดูก

มะเร็งตา เป็นโรคที่พบน้อยมากๆ บางการศึกษาระบุว่าพบได้ประมาณ 5 - 6 รายต่อประชากร 1 ล้านคนต่อปี โดยพบได้กระจัดกระจายในทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคได้ใกล้เคียงกัน

โรคมะเร็งของดวงตาพบเกิดได้ทั้งดวงตาเพียงข้างเดียว ซึ่งพบได้บ่อยกว่า แต่พบเกิดทั้งสองข้างพร้อมๆกันหรือตามกันมาได้ ทั้งนี้ด้านซ้ายและด้านขวามีโอกาสเกิดได้เท่าๆกัน

ในสหรัฐอเมริกาช่วงปี พ.ศ. 2557 พบโรคมะเร็งของดวงตาในทุกเพศและทุกวัยได้ 0.29 - 1.23 รายต่อประชากร 1 แสนคน โดยโอกาสพบโรคจะสูงขึ้นตามอายุ ส่วนในประเทศไทยผู้ป่วยช่วง พ.ศ. 2553-2555(รายงานโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขเมื่อ พ.ศ. 2558) พบโรคนี้ในผู้หญิง 0.3 รายต่อประชากรหญิง 1แสนคน และในผู้ชาย 0.4 รายต่อประชากรชาย 1แสนคน

โรคมะเร็งของดวงตามีกี่ชนิด?

มะเร็งของดวงตา

โรคมะเร็งของดวงตามีได้หลากหลายชนิด ทั้งในกลุ่มมะเร็งคาร์ซิโนมา(Carcinoma) และกลุ่มมะเร็งซาร์โคมา(Sarcoma) ขึ้นกับว่าเกิดโรคมะเร็งกับเนื้อเยื่อชนิดใดของดวงตา

ก. โรคมะเร็งที่เกิดกับเนื้อเยื่อรอบๆลูกตาภายในเบ้าตา ซึ่งได้แก่

  • โรคมะเร็งเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Soft tissue sarcoma) ซึ่งมักเกิดกับกล้ามเนื้อใน เบ้าเตา
  • และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งมักเกิดกับเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองของดวงตา

ข. โรคมะเร็งของหนังตา จะเป็นชนิดเดียวกับโรคมะเร็งผิวหนัง โดยชนิดที่พบได้บ่อยกว่าชนิดอื่น คือ ชนิดเบซาลเซลล์ (Basal cell carcinoma) นอกจากนั้นอาจเกิดโรคมะเร็งของต่อมต่างๆในหนังตาได้ ซึ่งมักเป็นมะเร็งชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma)

ค. โรคมะเร็งที่เกิดกับต่อมน้ำตา มักเป็นชนิด อะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma)

ง. โรคมะเร็งที่เกิดกับเยื่อตา มักเป็นชนิดสะความัส (Squamous cell carcinoma) และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (ของเนื้อเยื่อน้ำเหลืองของเยื่อตา)

จ. โรคมะเร็งที่เกิดกับผนังลูกตาชั้นกลาง มักเป็นชนิด เมลาโนมา (Uveal melanoma, เซลล์มะเร็งชนิดหนึ่งจัดอยู่ในมะเร็งผิวหนัง) และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งมักเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน - ฮอดกิน (Non-Hodgkin’s Lymphoma)

ฉ. โรคมะเร็งที่เกิดกับจอตา มักพบในเด็กเล็ก ที่เรียกว่า โรคตาวาว (โรคมะเร็งตาในเด็ก)

อนึ่ง:

  • โรคมะเร็งที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดเป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับเนื้อเยื่อต่างๆของดวงตาเอง (ทั้ง ในเบ้าตาและในลูกตา) ซึ่งเรียกว่า ‘โรคมะเร็งตาชนิดปฐมภูมิ (Primary malignant eye tumor)’
  • แต่โรคมะเร็งของอวัยวะต่างๆก็สามารถแพร่กระจายตามกระแสโลหิตมาสู่ลูกตาได้ ถึงแม้จะพบได้น้อยมากๆ ซึ่งเรียกว่า ‘โรคมะเร็งทุติยภูมิ (Secondary malignant eye tumor หรือ Metastatic eye tumor)’ โดยโรคมะเร็งที่พบมีการแพร่กระจายมายังลูกตาได้สูง คือ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และ มะเร็งของระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่)

โรคมะเร็งของดวงตาเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งตา ได้แก่

  • โรคมะเร็งตาในเด็กเล็ก มักมีปัจจัยเสี่ยงจากพันธุกรรมผิดปกติ
  • แต่โรคมะเร็งของดวงตาในผู้ใหญ่ ยังไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนั้น ยังไม่ทราบปัจจัยเสี่ยงด้วย เพราะดังกล่าวแล้วว่าเป็นโรคที่พบได้ประปรายน้อยมากๆ การศึกษาต่างๆจึงมักมีข้อจำกัด

โรคมะเร็งของดวงตามีอาการอย่างไร?

อาการของโรคมะเร็งของดวงตาที่พบบ่อย คือ

  • มีปัญหาในการมองเห็น สายตามัวลงกว่าเดิม อาจเกิดขึ้นกับตาเพียงด้านเดียว หรือทั้งสองด้าน ขึ้นกับว่าโรคเกิดกับดวงตาด้านไหน
  • มีก้อนเนื้อหรือแผลเรื้อรัง เมื่อเกิดกับเนื้อเยื่อดวงตาส่วนที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น หนังตา
  • ตาโปน เมื่อเกิดกับเนื้อเยื่อในเบ้าตาหรือในลูกตาจากก้อนเนื้อดันออกมาภายนอก
  • เมื่อโรคลุกลามมาก มักตาบอด และ/หรือ คลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่หน้าติ่งหน้าใบหูหรือบริเวณลำคอด้านเดียวกับโรค โต มักไม่เจ็บ

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งของดวงตาได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งของดวงตาได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งต่างๆ และประวัติการเป็นมะเร็งตาในครอบครัว
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจตา
  • การส่องกล้องตรวจภายในลูกตา
  • การถ่ายภาพตาด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ คลื่นแม่เหล็กเอมอาร์ไอ (MRI)
  • แต่การวินิจฉัยโรคที่แน่นอนคือ การตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

นอกจากนั้นคือการตรวจสืบค้นต่างๆเพิ่มเติมเพื่อประเมินระยะโรคและประเมินสุขภาพผู้ป่วยตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น

  • การตรวจเลือด ดูการทำงานของไขกระดูก (การตรวจซีบีซี/CBC), ดูโรคเบาหวาน, ดูการทำงานของตับและไต
  • และการถ่ายภาพเอกซเรย์ปอด ดูโรคของหัวใจ ปอด และดูการแพร่กระจายของโรคสู่ปอด

โรคมะเร็งของดวงตามีกี่ระยะ?

การจัดระยะของโรคมะเร็งของดวงตาขึ้นกับชนิดของมะเร็ง เช่น การจัดระยะในโรคมะเร็งตาในเด็ก แต่โดยทั่วไป มักจัดระยะโดยแบ่งเป็น 4 ระยะหรือ 4 กลุ่ม คือ

  • ระยะที่ตายังมองเห็นดี แพทย์สามารถรักษาเก็บดวงตาไว้ได้ หรือ ระยะ1
  • ระยะที่ตาบอดแล้ว หรือแพทย์ไม่สามารถรักษาเก็บดวงตาไว้ได้ หรือ ระยะ2
  • ระยะโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง หรือ ระยะ3
  • และ ระยะ4 คือระยะที่โรคแพร่กระจายเข้ากระแสโลหิตไปยังอวัยวะต่างๆ ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักเข้าสู่ ปอด กระดูก และตับ หรือลุกลามเข้าสมองและ/หรือน้ำไขสันหลัง

โรคมะเร็งของดวงตารักษาอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคมะเร็งของดวงตา จะขึ้นอยู่กับ

  • การมองเห็นของผู้ป่วยเป็นสำคัญที่สุด
  • รองลงมาคือ เป็นโรคเกิดกับตาเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองด้าน
  • ชนิดของเซลล์มะเร็ง
  • และการมีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง หรือแพร่กระจายไปอวัยวะอื่นแล้ว

โดยแพทย์มักพิจารณาแนวทางการรักษาผู้ป่วยเป็นรายๆไป ซึ่งวิธีรักษาคือ การรักษาหลักทั้ง 3 วิธี ได้แก่ การผ่าตัด รังสีรักษา และยาเคมีบำบัด หรือ การใช้วิธีดังกล่าวร่วมกัน เช่น การผ่าตัด+ยาเคมีบำบัด + รังสีรักษา

ส่วน ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทางการแพทย์ แต่มีการนำมาศึกษาใช้ทางคลินิกบ้างแล้ว

มีผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งของดวงตาอย่างไร?

ผลข้างเคียงสำคัญจากการรักษาโรคมะเร็งของดวงตา คือ ตาบอด ซึ่งมักเป็นผลข้างเคียง จากการผ่าตัดและจากการฉายรังสีรักษา ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ปฏิเสธการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน จะยอมรักษาต่อเมื่อโรคลุกลามจนตาบอดไปแล้ว

นอกจากนั้น ผลข้างเคียงอื่นๆจะเช่นเดียวกับในการรักษาโรคมะเร็งของอวัยวะอื่นๆด้วยการผ่าตัด รังสีรักษา และยาเคมีบำบัด กล่าวคือ

  • การผ่าตัด: เช่น การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง (การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา)
  • ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง)

โรคมะเร็งของดวงตารุนแรงไหม?

โรคมะเร็งของดวงตามีความรุนแรง(การพยากรณ์โรค)ดีปานกลาง เป็นโรคที่รักษาได้หาย เมื่อเป็นการรักษาโรคในระยะเริ่มแรก แต่เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดกับดวงตาที่เป็นอวัยวะในการมองเห็น โรคมะเร็งดวงตาจึงเป็นโรครุนแรง จากอาจเป็นสาเหตุให้สูญเสียการมองเห็น/ตาบอดได้

และดังกล่าวแล้วว่า โรคมะเร็งของดวงตาเป็นโรคพบได้เพียงประปราย ดังนั้นจึงไม่มีสถิติที่ชัดเจนในอัตรารอดที่ห้าปีภายหลังการรักษา แพทย์จะพูดคุยกับผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยเป็นรายๆไป

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งของดวงตาไหม? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งของดวงตาให้พบโรคตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ เมื่อพบมีความผิดปกติดังกล่าวแล้วใน’หัวข้ออาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/จักษุแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ

ป้องกันโรคมะเร็งของดวงตาอย่างไร?

เนื่องจากเป็นโรคมะเร็งที่ไม่ทราบทั้งสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิด มะเร็งของดวง ตา จึงเป็นโรคที่ยังไม่มีการป้องกัน

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดรวมมะเร็งดวงตา จะคล้ายกัน สามารถปรับใช้ด้วยกันได้ ที่สำคัญคือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น ตามัวมากขึ้น ปวดตามากขึ้น
    • มีไข้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับท้องเสีย
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น แสบเคืองตามากเมื่อหยอดยาหยอดตา วิงเวียนศีรษะมาก ขึ้นผื่นทั้งตัว
    • กังวลในอาการ

นอกจากนั้น แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเรื่อง
  • การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia
  2. Imsamran, W. et al. (2015). Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  3. Perez,C., Brady, L., Halperin, E., and Schmidt-Ullrich, R. (2004). Principles and practice of radiation oncology. (4th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  4. http://cebp.aacrjournals.org/content/23/9/1707 [2019,March9]
  5. https://www.cancer.org/cancer/eye-cancer/about/what-is-eye-cancer.html [2019,March9]
  6. https://www.aao.org/eye-health/diseases/eye-cancer [2019,March9]